เชื่อได้ว่า ประชาชนจำนวนมากกำลังเฝ้ารอกันอย่างจดจ่อ เพื่อชมขบวนแห่เรือพระราชพิธี ซึ่งส่วนหนึ่งของพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเบื้องปลาย เป็นนาฏกรรมหนึ่งของรัฐจารีตที่ตกทอดมาสู่ยุคปัจจุบัน แม้จะข้ามยุคสมัย แต่ก็มีเป้าหมายที่เป็นจุดร่วมคล้ายกันคือ ต้องการให้สร้างระเบียบของความสัมพันธ์เชิงอำนาจให้เกิดขึ้นระหว่างสถาบันกษัตริย์กับราษฎร
อย่างไรก็ดี คำถามสำคัญที่เราน่าลองมาตั้งกันในแง่มุมทางโบราณคดีก็คือ ทำไมเรือพระราชพิธีจึงเป็นเรือศักดิ์สิทธิ์ เรือพวกนี้สะท้อนรากเหง้าของความเชื่อดั้งเดิมของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างไร ทำไมต้องเป็นเรือที่มีโขนเรือเป็นรูปสัตว์ และคำถามอื่นๆ อีกมาก เช่นเดียวกับที่อาจพาเรามองไปได้ว่า เรือศักดิ์สิทธิ์พวกนี้คือภาพสะท้อนของพัฒนาการของรัฐนาฏกรรมได้อย่างไร
เรือส่งวิญญาณในวัฒนธรรมดองซอน
ความเชื่อเรื่องเรือศักดิ์สิทธิ์นั้นสามารถสืบย้อนไปได้ไม่ต่ำกว่า 2,500 ปีมาแล้ว ดังเห็นได้จากภาพสลักเป็นลายเส้นรูปเรือที่อยู่บนกลองมโหระทึก หรือบางที่เรียกว่า ‘กลองกบ’ ซึ่งกลองแบบนี้พบกระจายไปทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทั้งภาคพื้นแผ่นดินใหญ่และหมู่เกาะ พบไปไกลสุดถึงเกาะปาปัวนิวกินี
ภาพของเรือที่ปรากฏบนกลองมโหระทึกนั้นเป็นเรือยาว มีหัวเรือเป็นรูปสัตว์บางชนิด อาจเรียกเป็นสัตว์ในตำนาน เพราะหน้าตาของนักรบและฝีพายบนเรือก็มีลักษณะไม่เหมือนจริง ท้ายเรือยกสูง มีทั้งที่หางคล้ายกับหางของงูและหางแบบนก บางคนจึงคาดว่า เรือนี้เป็นตัวแทนของงูบ้าง เป็นนกบ้าง ยากจะคาดเดา
ข้อมูลด้านชนเผ่าในแถบหมู่เกาะมีความเชื่อว่า งูเป็นพาหนะที่สามารถนำผู้ตายไปสู่ดินแดนแห่งความตาย (สมัยหลังเรียกโลกบาดาล) ด้วยตัวงูที่มีเกล็ดไปสายรุ้ง จึงมีบางกลุ่มชนเชื่อว่า งูคือสายรุ้ง ความเชื่อนี้สืบทอดให้เห็นในวัฒนธรรมเขมรที่เชื่อว่า นาค (คืองู) เป็นสะพานสายรุ้ง ใช้เดินทางขึ้นไปสวรรค์ได้
ในขณะที่นกนั้นถือเป็นพาหนะเดินทางไปสู่ดินแดนบนฟ้า (สมัยหลังเรียกสวรรค์) ซึ่งถือเป็นดินแดนแห่งความตายเช่นกัน ส่วนเป็นนกอะไรนั้น เป็นที่ถกเถียงกันมากในหมู่ของนักโบราณคดีจีนกับเวียดนาม ฝ่ายหนึ่งบอกเป็นนกกระเรียน อีกฝ่ายบอกเป็นนกพื้นเมืองของเวียดนามคล้ายนกกระยาง ในขณะที่คนในเขตหมู่เกาะกลับมีความเชื่อสืบมาถึงปัจจุบันว่า นกเงือกคือนกส่งวิญญาณ นกจึงเป็นสัตว์สำคัญทำให้ปรากฏอยู่ใกล้กับภาพเรือส่งวิญญาณ
ภาพเรือส่งวิญญาณที่ปรากฏบนกลองมโหระทึก (Hà Thúc Cân 1989:107)
ความตายของคนในอุษาคเนย์นั้นถือเป็นเรื่องน่ายินดี เพราะผู้ตายกำลังเดินทางไปสู่ภพใหม่ ทำให้บนหน้ากลองมีรูปคนเล่นเครื่องดนตรี เป่าแคน ตีกลองมโหระทึก ประโคมขับกล่อมให้กับผู้ตาย
เรือคือโลง สัญลักษณ์ร่วมของภูมิภาค
ข้อมูลทางวัฒนธรรมของกลุ่มชนในปัจจุบันของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบว่า ‘เรือ’ เป็นสัญลักษณ์ร่วมของคนในภูมิภาคนี้ จนทำให้อนาคตเราคงต้องกลับมาคิดทบทวนหลักฐานทางโบราณคดีหลายอย่างกัน และมองอย่างเชื่อมโยงไม่ตัดขาดคนปัจจุบันออกจากของในสมัยโบราณ
ในบางสังคม เช่น ชาวเล (มอร์แกน อุรักลาโวยจฺ) เรือเป็นทั้งพาหนะ บ้าน หมู่บ้าน หรือในระดับนามธรรมหน่อยคือ เป็นสัญลักษณ์แทนความเป็นชุมชน ทำให้ในบางสังคมถือกันว่า ‘บ้าน’ ก็คือ เรือแบบหนึ่ง กรณีนี้จะเห็นได้จากในวัฒนธรรมของชาวโทราจาที่สร้างบ้านเลียนแบบรูปเรือ ซึ่งชนชั้นสูงของโทราจาเวลาที่เสียชีวิตแล้ว โลงศพของผู้ตายจะสลักเป็นรูปเรือเช่นกัน
หมู่บ้านของชาวโทราจาบนเกาะสุลาเวสี สังเกตได้ว่าหลังคาบ้านทำเป็นรูปเรือคว่ำ
(Photo: goo.gl/x28VXc)
ชาวเมรีนาบนเกาะมาดากัสการ์เรียกโลงศพว่า บ้านนก (Tranovorona) คำว่า Trano ในภาษาของชนกลุ่มนี้แปลว่า บ้าน ที่เก็บกระดูกหรืออัฐิ ซึ่งมักสร้างขึ้นเพื่อให้ชนชั้นสูง (Waterson 1993: 209) เช่นเดียวกับชาวโตบาที่ทำบ้านผี (ศาลผี) โดยมีหลังคาบ้านเป็นรูปเรือที่มีนกเกาะอยู่ด้านบน
บ้านผีในภาษาท้องถิ่นของชาวโตบาเรียกว่า โจโร สังเกตได้ว่าหลังคาบ้านมีการประดับนกอยู่ 2 ตัว โดยตั้งอยู่บนเรือส่งวิญญาณ (Waterson 1993: 212)
ในเกาะสุมาตราทางใต้ เรือมีบทบาทสำคัญนับตั้งแต่ชีวิตแรกเกิด แต่งงาน จนถึงตาย ชาวพื้นเมืองในเขตจังหวัดลัมพุงมีประเพณีการทำผ้าปักเป็นลายรูปเรือ โดยใช้สำหรับเป็นผ้าคลุมที่ด้ามจับของโลงศพ นอกจากนี้ในงานแต่งงานยังใช้เป็นของแลกเปลี่ยนกันระหว่างครอบครัวเจ้าบ่าวและเจ้าสาว นักมานุษยวิทยาบางคนจึงตีความว่า เรือบนผ้านี้เป็นสัญลักษณ์ของการเปลี่ยนผ่านของช่วงชีวิตอันสำคัญในแต่ละช่วง
ผ้าทอลายรูปเรือ หรือ Ship Cloth บนเกาะสุมาตรา ความยาวของผ้าผืนนี้คือ 2.56 เมตร
(Photo: Chris Hazzard/wikipedia)
ด้วยการเป็นสัญญะของการเปลี่ยนผ่านนี้เอง หมอผีในบางเผ่าในเขตสุมาตราจึงใช้เรือเพื่อประโยชน์ 3 อย่าง อย่างแรก ใช้เรือในการขับไล่ความเจ็บป่วยหรือผีสิง อย่างที่สอง ใช้สำหรับเป็นพาหนะของหมอผีที่เดินทางไปตามหาวิญญาณกลับมา สุดท้าย ใช้เรือเดินทางไปส่งวิญญาณไปสู่ดินแดนแห่งความตาย
นักโบราณคดีกลุ่มหนึ่งนำโดย ดร.คริส บัลลาร์ด พบว่า ผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นำเรือไปเป็นโลงศพหลายรูปแบบด้วยกัน ทั้งเป็นโลงศพไม้ โลงศพหิน หรือวาดภาพเขียนสีบนผนังเพิงผาหรือถ้ำ โดยวาดเป็นรูปเรือ ซึ่งเป็นสื่อของเรือส่งวิญญาณ เขายังกล่าวด้วยว่า ในกลุ่มของผู้พูดภาษาออสโตรนีเชียน (คือกลุ่มภาษามลายู) การเชื่อมต่อกันระหว่างเรือกับความตายนั้นแนบแน่นมาก คำศัพท์ที่หมายถึงเรือกับโลงศพเป็นคำที่สามารถแทนที่กันได้
แนวคิดเรื่องเรือเป็นสัญลักษณ์ที่จะพาดวงวิญญาณ หรือถ้าเป็นความเชื่อของคนในอุษาคเนย์ก็คือ ‘ขวัญ’ ไปสู่ความตายนั้น ดูจะเป็นความเชื่อสากลทีเดียว ดังที่ ดร.คริส บัลลาร์ด ได้พบว่า คนในแถบสแกนดิเนเวียในกลุ่ม ‘วัฒนธรรมนอร์ดิก (Nordic Culture)’ สมัยโบราณ แถบประเทศเดนมาร์ก ตอนเหนือของประเทศเยอรมนี แถบเมืองฮัมบูร์ก และทางใต้ของประเทศสวีเดน แถบเมืองเทรลเลบอร์ก มักวาดเรือส่งวิญญาณไว้ตามหน้าผาใกล้กับชายฝั่งทะเล ช่องแคบในทะเล และแหล่งน้ำ
ที่ถ้ำนีอาห์ ประเทศมาเลเซีย มีภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ วาดเป็นรูปเรือ มีผู้คนแห่แหน และในสมัยก่อนยังพบโลงไม้รูปเรือวางอยู่ใกล้ๆ ด้วย
เรือจึงเป็นสัญลักษณ์ของความตาย เมื่อเป็นเช่นนั้นจะเห็นได้ว่า ในเขตตะวันตกของปาปัวนิวกินี เมื่อมีคนตายจะนำศพลงไปใส่ในเรือแคนูขนาดเล็ก และถามหาถึงสาเหตุการตาย จากนั้นจะนำเรือไปกระแทกหิน การนำไปกระแทกหินนี้ก็เพื่อเป็นสัญลักษณ์รอยต่อระหว่างแผ่นดินคือ โลกคนเป็นกับการแบ่งแยกออกจากผืนน้ำคือ โลกความตาย
บนรัฐซาบาห์ เกาะบอร์เนียว ก็พบประเพณีการนำศพใส่โลงไม้แล้วล่องเรือไปเก็บไว้ยังถ้ำที่เป็นสุสาน เพราะถือว่าถ้ำคือประตูสู่ความตายและการกำเนิด
ที่จังหวัดกาญจนบุรีและแม่ฮ่องสอนเองก็พบโลงศพที่เรียกว่า โลงผีแมน ซึ่งโลงศพพวกนี้ทำเป็นรูปคล้ายกับเรือ บางโลงสลักหัวโลงคล้ายกับงู มีการวาดรูปสีแดงคล้ายกับเกล็ดงูอีกด้วย อยู่ในถ้ำที่เพิ่งค้นพบเมื่อไม่นานนี้ชื่อว่า ถ้ำโลงลงรัก
จากข้อมูลที่กล่าวมา สรุปสั้นๆ ได้ว่า เรือในความเชื่อร่วมกันของคนในอุษาคเนย์นั้นคือ เรือศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถเดินทางติดต่อกับโลกอีกโลกหนึ่งได้ โดยเป็นเรือเฉพาะสำหรับชนชั้นสูง ไม่ใช่สามัญชนทั่วไป
เรือพระราชพิธีสืบเนื่องแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์
เมื่อไม่กี่วันก่อน มีน้องคนหนึ่งส่งคลิปอันหนึ่งมาให้ คลิปนี้เป็นภาพของพัฒนาการของเรือศักดิ์สิทธิ์ หรือเรือพระราชพิธี นับตั้งแต่ก่อนประวัติศาสตร์มาจนถึงปัจจุบัน โดยเมื่อพลิกหน้ากระดาษเร็วๆ ก็จะเกิดภาพติดตาเป็นภาพเคลื่อนไหว นับจากเรือรุ่นแรกมาเป็นเรือสุพรรณหงษ์ อยากให้ไปดูกัน ทำดีทีเดียว (ไม่รู้นิทรรศการเขาเลิกไปหรือยัง)
เรือพระราชพิธีที่คนไทยเห็นกันทุกวันนี้ถึงจะดูเป็นอินเดีย ด้วยมีการใช้หัวโขนเป็นสัตว์หิมพานต์ เทพอินเดีย หรือตัวละครจากรามเกียรติ์ เช่น เรือสุพรรณหงษ์ เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เรือนารายณ์ทรงสุบรรณ เรือครุฑเหินเห็จ ฯลฯ แต่เรือพวกนี้ไม่มีในอินเดีย มีเฉพาะในภูมิภาคนี้
เป็นเรื่องยากที่จะไปอธิบายเรื่องเส้นทางวิวัฒนาการว่าใครรับใครมา ดังที่เล่ามา เรือยาวแบบมีหัวเป็นรูปสัตว์หรือมีหัวโขนนี้มีมาไม่ต่ำกว่า 2,500 ปี ดังนั้น กลุ่มชนในภูมิภาคนี้ที่ติดต่อกับกลุ่มคนในวัฒนธรรมดองซอน คงจะรับแนวคิดเรื่องเรือศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นเรือส่งวิญญาณไป
เอาเป็นว่าหลักฐานในช่วงประวัติศาสตร์ที่เก่าที่สุดของเรือพระราชพิธีนี้สัมพันธ์กับวัฒนธรรมเขมร โดยปรากฏอยู่ที่ปราสาทหินพิมาย มีอายุราวครึ่งหลังพุทธศตวรรษที่ 17 ต่อมาพบสืบเนื่องเห็นได้ที่ภาพสลักที่มุมระเบียงคดของปราสาทนครวัด และพบที่ระเบียงคดของปราสาทบายน ซึ่งเป็นภาพกองทัพของเขมรที่ทำยุทธนาวีกับพวกจาม แต่เราก็ไม่รู้ว่า วัฒนธรรมเขมรนั้นมีความเชื่อดั้งเดิมอย่างไรเกี่ยวกับเรือพวกนี้ แต่อยุธยาได้สืบมรดกการสร้างเรือแบบนี้จากเขมร ดังเห็นได้จากความคล้ายคลึงของหัวเรือพระที่นั่งศรีประภัศรไชย
ภาพเปรียบเทียบเรือรบบนภาพสลักปราสาทบายน ประเทศกัมพูชา กับเรือพระที่นั่งศรีประภัศรไชยของไทย
(Photo: รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล 2558:111)
แต่มีบันทึกหนึ่งของชาวต่างชาติที่เข้ามาในสมัยอยุธยาคือ บันทึกของ ปินโต ชาวโปรตุเกส ที่ได้กล่าวถึงเรือในพระบรมสมเด็จพระไชยราชาว่า มีหัวโขนเรือเป็น ‘งูถ้ำแห่งหลุมลึก’ งูถ้ำที่ว่านี้คงจะเป็นพญานาคนั่นเอง แต่ก็จะเห็นได้ว่า ในสายตาของต่างชาตินั้น นาคก็คืองู และความจริงในความคิดของคนในภูมิภาคนี้เองก็มองว่า นาคก็คืองูใหญ่ ดังนั้น เรือพระราชพิธีจริงๆ แล้วก็เปรียบได้กับงูเช่นกัน
ถ้าอาศัยแนวเปรียบเทียบที่ว่ามานี้แล้ว เรือสุพรรณหงษ์และเรือนารายณ์ทรงสุบรรณก็เปรียบได้กับนกที่นำทางสู่สวรรค์ ส่วนเรืออนันตนาคราชก็เปรียบได้กับงู เช่นเดียวกับเรือครุฑเหินเห็จที่ทั้งนกและงูรวมอยู่ด้วยกัน
ในกระบวนเรือพระราชพิธีย่อมมีฝีพายซึ่งเป็นทหาร (นักรบ) มีดนตรีบรรเลงขับกล่อม มีการแห่เรือ และอื่นๆ ทั้งหมดนี้ย่อมสะท้อนรากความเชื่อที่ย้อนกลับไปในวัฒนธรรมดองซอน และที่ตกค้างตามกลุ่มชนต่างๆ ที่มองเรือในฐานะที่เป็นเรือศักดิ์สิทธิ์ที่สามารถเดินทางไปสู่โลกสวรรค์และบาดาลได้
เรือในฐานะนาฏกรรมของรัฐจึงยังคงทำหน้าที่ของมันสืบมา ผ่านองค์ประกอบต่างๆ และเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของนาฏกรรมนี้เช่นกัน ไม่รูปแบบใดก็แบบหนึ่ง
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- Chris Ballard, Richard Bradley, Lise Nordenborg Myhre and Meredith Wilson. 2003. “The Ship as Symbol in the Prehistory of Scandinavia and Southeast Asia,” World Archaeology, Vol. 35, No. 3, (Dec.), pp. 385-403.
- Hà Thúc Cân. 1989. The Bronze Dong Son Drums. S.l. : s.n. Waterson, Roxana. 1993. The Living House: An Anthropology of Architecture in South-East Asia. New York: Oxford University Press.
- รุ่งโรจน์ ภิรมย์อนุกูล. 2558. “เรือส่งวิญญาณ เรือพระราชพิธี จากอดีตถึงปัจจุบัน,” ใน ลอยกระทง เรือพระราชพิธี วัฒนธรรมน้ำร่วมราก. กรุงเทพฯ: สพฐ.