Romeo + Juliet, 1996
เพราะความหลงใหลในแฟชั่น ทำให้เมื่อมีการประกาศรางวัลจากเวที Academy Awards (Oscars) มีหนึ่งในสาขารางวัลที่ผมเฝ้าลุ้นทุกปีคือ ‘Best Costume Design’ หรือการออกแบบเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม ถือเป็นอีกหนึ่งรางวัลที่มอบให้เป็นกำลังใจแก่คนทำงานเบื้องหลัง อันเป็นตำแหน่งที่ส่งผลโดยตรงต่อเบื้องหน้าและภาพรวมของภาพยนตร์
แต่ไม่ว่าผู้เข้าชิงจะได้รับรางวัลหรือไม่ นั่นไม่สำคัญเท่ากับเครื่องแต่งกายสำหรับการแสดง (Costume) ที่รังสรรค์ออกมาดูเหมาะสมกับที่บทของภาพยนตร์วางไว้ และสร้างความประทับใจให้กับผู้คนเป็นวงกว้าง ซึ่งในอดีตที่ผ่านมามีคอสตูมจากภาพยนตร์หลายเรื่องที่ถูกกล่าวขวัญแต่ไม่ได้รับรางวัลใหญ่ระดับออสการ์ ไม่ว่าจะเป็นความสวยงามของชุดแนวพีเรียดที่สวยติดตาตรึงใจอย่างเช่นเรื่อง Orlando จากปี ค.ศ. 1992 ผลงานของ แซนดี้ โพเวลล์ หรืออย่างภาพยนตร์แนวไซไฟเรื่อง The Fifth Element จากปี ค.ศ. 1997 ผลงานของ ฌอง ปอล โกลติเยร์ ที่จุดประเด็นเชื้อเชิญให้คนรักแฟชั่นสนุกไปกับการตีความหมายจากการแต่งกายของตัวละครนั้นๆ
จากที่ผมเกริ่นนำไว้ตอนต้นแล้วว่า หนึ่งในความสนุกจากการได้ชมภาพยนตร์คือการตีความหมายแฝงเชิงสัญลักษณ์ (Symbolic) ซึ่งหากคุณผู้อ่านไม่ทราบก็ไม่เป็นไร เพราะไม่มีผลต่อเนื้อหาโดยรวมหรือทำให้อรรถรสการรับชมลดน้อยลงไป แต่ถ้าหากเข้าใจในนัยแฝงเชิงสัญลักษณ์ ก็จะยิ่งช่วยให้การชมภาพยนตร์มีอรรถรสมากยิ่งขึ้น
สำหรับคนที่รักเรื่องราวของแฟชั่น ผมขอแนะนำภาพยนตร์เรื่องดังที่มักถูกยกไปเป็นตัวอย่างการถอดความหมายแฝงจากการแต่งกายของตัวละคร นั่นคือภาพยนตร์ไอคอนิกแห่งทศวรรษ 90s เรื่อง Romeo + Juliet หนึ่งในภาพยนตร์ชุด Red Curtain Trilogy* ผลงานสุดโด่งดังของเขาที่ผมเชื่อว่าหลายๆ คนคงจะเคยรับชมกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (ถ้าหากยังไม่เคยชม ผมขอแนะนำให้ไปหามาชมกันก่อนที่จะอ่านบทความในย่อหน้าถัดไป เพื่ออรรถรสในการอ่านที่ดีมากยิ่งขึ้น)
ความน่าสนใจของภาพยนตร์เรื่องนี้เริ่มตั้งแต่การนำนักแสดงวัยรุ่นแห่งยุคอย่าง แคลร์ เดนส์ และ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ มาเข้าคู่รับบทพระนางด้วยกันเป็นครั้งแรก และการนำบทประพันธ์สุดอมตะของ วิลเลียม เชกสเปียร์ ที่แต่งเอาไว้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1595 หรือมีอายุราว 400 กว่าปีมาปรับให้เข้ากับยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะในด้านบทภาพยนตร์ องค์ประกอบศิลป์ รวมไปถึงเสื้อผ้าของตัวละคร (แต่ยังคงสำนวนของวิลเลียม เชกสเปียร์) ซึ่งในส่วนของเครื่องแต่งกายแม้จะดูร่วมสมัย แต่เต็มไปด้วยนัยแฝงเชิงสัญลักษณ์ตลอดทั้งเรื่อง
*ภาพยนตร์ชุด Red Curtain Trilogy ประกอบด้วยภาพยนตร์เรื่อง Strictly Ballroom (1992), Romeo + Juliet (1996) และ Moulin Rouge! (2001) ของผู้กำกับคนดังชาวออสเตรเลีย บาซ เลอห์มานน์
ตัวละคร ติบอลท์ คาปูเล็ต สวมชุดที่ออกแบบโดยแบรนด์ D&G ในฉากเปิดเรื่อง
ตัวละครโรมิโอสวมชุดที่ออกแบบโดยแบรนด์ Prada ในฉากพิธีแต่งงาน
คอสตูมชุดเด่นที่เป็นผลงานการออกแบบของสองแบรนด์ดัง ซึ่งถูกกล่าวขวัญในโลกแฟชั่นอยู่ในสองฉากสำคัญ นั่นคือฉากเปิดเรื่องสุดเร้าใจ เป็นการดวลปืนระหว่างสองตระกูลผู้ยิ่งใหญ่ที่เป็นคู่อริ คาปูเล็ต (ตระกูลของจูเลียต) และ มอนตาคิว (ตระกูลของโรมิโอ) ในปั๊มน้ำมันของเมืองเวโรนา ภาพของตัวละคร ติบอลท์ คาปูเล็ต กำลังแหวกเสื้อเบลเซอร์ตัวนอกเพื่อโชว์ปืนพกประทับตราประจำตระกูลที่ซ่อนอยู่ นอกจากเป็นฉากที่ข่มขวัญศัตรูแล้ว ยังเป็นการเผยให้เห็นเสื้อกั๊กซิปหน้าสีแดงลายพระเยซู ผลงานการออกแบบและตัดเย็บโดยห้องเสื้อ D&G (ไลน์รองของ Dolce & Gabbana ที่ปิดตัวไปในปี ค.ศ. 2012)
และอีกหนึ่งชุดที่น่าสนใจอยู่ในฉากพิธีสมรสของ ‘โรมิโอ’ และ ‘จูเลียต’ นอกจากผู้ชมจะรู้สึกตื้นตันกับบรรยากาศสุดแสนโรแมนติกเคล้าคลอด้วยบทเพลงไพเราะอย่าง Everybody’s Free แล้ว พระเอกของเรื่องยังดูเท่ด้วยชุดสูทกระดุม 3 เม็ดปกลาเบลสีกรมท่า สวมเข้าคู่กับเสื้อเชิ้ตสีขาวและเนกไทผ้าไหมลายดอก ผลงานการออกแบบและตัดเย็บโดยดีไซเนอร์ชาวอิตาลีคนดัง มิวเซีย ปราด้า จากแบรนด์ Prada ซึ่งเธอเองก็เพิ่งเปิดไลน์เสื้อผ้าสำหรับผู้ชายไปก่อนหน้าได้ไม่นานนัก ดังนั้นคงไม่ผิดอะไรถ้าจะบอกว่า ‘โรมิโอ’ คนนี้มีผลในการช่วยส่งภาพลักษณ์เสื้อผ้าชายของแบรนด์อยู่ไม่น้อยเลยทีเดียว
แมนชันของ จานนี เวอร์ซาเช่ ในไมอามี สถานที่ที่ บาซ เลอห์มานน์ ใช้เวลาในการขัดเกลาบทภาพยนตร์
คอลเล็กชันของ จานนี เวอร์ซาเช่ และไลน์รอง Versus ในช่วงยุค 90s ที่ออกแบบผลงานทิศทางเดียวกับเสื้อผ้าสำหรับวัยรุ่นในเขตร้อนที่เห็นในภาพยนตร์
นอกจากนี้ยังมีอีกหลายชุดในภาพยนตร์ที่ บาซ เลอห์มานน์ ผู้กำกับของเรื่อง (บาซยังรับหน้าที่ร่วมเป็นผู้อำนวยการสร้างและเขียนบทภาพยนตร์) ได้รับคำแนะนำจากดีไซเนอร์ชาวอิตาลีผู้ล่วงลับ จานนี เวอร์ซาเช่ ผู้ก่อตั้งห้องเสื้อ Versace ในช่วงที่บาซเดินทางไปยังไมอามี สถานที่ที่เขาใช้เวลาสำหรับการขัดเกลาบทภาพยนตร์ในแมนชันส่วนตัวของจานนี
คำแนะนำเหล่านี้ส่งผลต่อภาพรวมของฉากในภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็น ถนนแห้งแล้งกึ่งเขตร้อนของเมือง ‘Fair Verona’ เสื้อเชิ้ตพิมพ์ลายสีสันสดใสอันเป็นที่นิยมของวัยรุ่นในโซนร้อน หรือที่เรียกกันติดปากว่า ‘เสื้อฮาวาย’ แต่สิ่งที่ทำให้คอสตูมในภาพยนตร์เรื่องนี้น่าชื่นชมคงต้องยกความดีความชอบให้กับ ‘คิม บาร์เร็ตต์’ ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกายสำหรับตัวละครที่สามารถตีโจทย์ความต้องการของผู้กำกับที่อยากจะสื่อถึงเรื่องราวของ ‘รักไม่สมหวัง’ ออกมาได้อย่างลึกซึ้ง แยบยล เกินที่หลายคนจะนึกถึง
ตัวละครโรมิโอในชุดอัศวิน และจูเลียตในชุดนางฟ้า
บาซต้องการนำเสนอแกนหลักที่ต้องสื่อถึงเรื่องราว ‘ความรักที่ไม่สมหวัง’ ของสองตัวละครจากตระกูลของคู่อริ ทำให้ฉากที่มักถูกหยิบยกไปพูดถึงมากที่สุดคือ ‘ฉากงานเลี้ยงแฟนซีในคฤหาสน์ตระกูลคาปูเล็ต’ โดยความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่ คิม บาร์เร็ตต์ คอสตูมดีไซเนอร์ของเรื่องนี้แฝงไว้ในตัวละครหลักล้วนแล้วแต่มีความน่าสนใจ
เมื่อคู่พระนางของเรื่อง จูเลียต คาปูเล็ต สวมใส่ชุด ‘นางฟ้า’ มาร่วมงานปาร์ตี้ และโรมิโอ มอนตาคิว เลือกใส่ชุดเกราะของ ‘อัศวิน’ ซึ่งตามตำนานและในนิทานเรื่องเล่าของชาวตะวันตกตั้งแต่ครั้งอดีตกาล อัศวินมักมีนางฟ้าเป็นผู้นำทาง เปรียบดั่งแสงสว่างที่อยู่กลางดวงใจ ซึ่งตรงกับเรื่องราวที่จูเลียตเป็นผู้ทำให้โรมิโอกลับมาพบและศรัทธาในความรักอีกครั้ง
แต่หากคุณผู้อ่านลองพิจารณาให้ดีแล้วจะพบว่า ถึงอย่างไรเสียตัวละครจาก ‘โลกนิทาน’ สองตัวนี้ก็ไม่อาจอยู่ร่วมกันได้ นั่นเพราะนางฟ้าอาศัยอยู่บนสวรรค์ ในขณะที่อัศวินใช้ชีวิตสู้รบและปกป้องรักษาสิ่งที่รักอยู่บนผืนแผ่นดิน แม้จะเป็นตัวละครจากนิทานเช่นเดียวกัน แต่ด้วยความแตกต่างของสถานที่ ทั้งคู่จึงไม่มีวันที่จะมาใช้ชีวิตร่วมกันได้
ตัวละคร เดฟ ปารีส ผู้เป็นคู่หมั้นในชุดนักบินอวกาศ
คิมยังต่อยอดแนวความคิดของความแตกต่างระหว่างคนบนฟ้าและคนเดินดินไปยังตัวละครสำคัญอีกหนึ่งนั่นคือ ‘เดฟ ปารีส’ คู่หมั้นที่ผู้เป็นพ่อและแม่สรรหามาให้ เธอได้ออกแบบเครื่องแต่งกายสำหรับ เดฟ ปารีส เป็น ‘นักบินอวกาศ’ ซึ่งดูแตกต่างจากตัวละครทั้งหมดในฉากที่แต่งตัวแฟนตาซีเหนือจริง หรือไม่ก็ชุดแนวพีเรียดย้อนยุค นั่นเพราะคิมใช้ชุดนี้สื่อให้เห็นว่า ‘นักบินอวกาศ’ และ ‘นางฟ้า’ สามารถล่องลอยอยู่บนท้องฟ้าได้เฉกเช่นเดียวกัน แต่ถึงอย่างไรนั้นก็ไม่สามารถใช้ชีวิตร่วมกันได้ เพราะนักบินอวกาศอยู่ใน ‘โลกของความเป็นจริง’ ในขณะที่นางฟ้าคือตัวละครสมมติอยู่ใน ‘โลกของนิทาน’ ทั้งหมดนี้คือสัญลักษณ์ที่แฝงภายใต้เครื่องแต่งกายของตัวละครหลักทั้งสาม ที่สื่อความหมายถึงรักที่ไม่สมหวังและไม่สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน
กลอเรีย คาปูเล็ต หรือที่ในบทประพันธ์เรียกว่า เลดี้คาปูเล็ต ในชุดพระนางคลีโอพัตราที่ 7 ฟิโลปาตอร์ ผู้โด่งดัง
และไม่ใช่มีเพียงแต่ตัวละครหลักสามตัวของภาพยนตร์ แต่ยังมีอีกสองตัวละครสำคัญซึ่งเป็นต้นเหตุความร้าวฉานระหว่างสองตระกูล นั่นคือ ฟุลเฮนซิโอ คาปูเล็ต และ กลอเรีย คาปูเล็ต ผู้เป็นพ่อและแม่ของจูเลียต
คิมเลือกออกแบบชุดอิงเรื่องราวของประวัติศาสตร์อียิปต์อันโด่งดัง สำหรับผู้เป็นแม่ สวมเครื่องแต่งกายเป็น ‘คลีโอพัตราที่ 7 ฟิโลปาตอร์’ สตรีผู้ปกครองอียิปต์โบราณที่มีชื่อเสียงมากที่สุด และเป็นเชื้อพระวงศ์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ทอเลมีแห่งมาเซโด ผู้ขึ้นชื่อว่า ‘สามารถสยบบุรุษผู้ยิ่งใหญ่และครอบครองหัวใจด้วยความงามและเสน่ห์’ ตามประวัติแล้วพระนางเป็นผู้มองสถานการณ์ด้านการเมืองได้อย่างเฉียบขาด เธอจึงพยายามผูกสัมพันธ์กับ ‘มาร์ก แอนโทนี’ แม่ทัพของสาธารณรัฐโรมัน จนทั้งคู่ได้เข้าพิธีแต่งงานด้วยกัน
นั่นจึงเป็นเหตุให้ผู้เป็นพ่อของจูเลียตแต่งกายเป็น มาร์ก แอนโทนี เพราะทั้งคู่ต้องการให้ลูกสาวสืบทอดอำนาจต่อจากตน (โดยการคลุมถุงชนให้แต่งงานกับ เดฟ ปารีส ลูกชายของผู้ทรงอิทธิพล) แต่ท้ายที่สุดทั้งคู่กลับ ‘ตายทั้งเป็น’ จากการสูญเสียลูกสาวเพราะความหลงผิด คิดถึงแต่เรื่องความเป็นใหญ่และสงครามระหว่างสองตระกูล มีแต่ความเกลียดชังในจิตใจโดยไม่สนใจความรู้สึกของลูกสาวตน
ฮู้ดดี้ของ Dolce & Gabbana ที่ตั้งชื่อว่า Romeo+Juliet เพื่อรำลึกถึงภาพยนตร์เรื่องนี้
เรื่องราวที่กล่าวมาทำให้ภาพยนตร์เรื่อง Romeo + Juliet เวอร์ชันปี 1996 กลายเป็นหนึ่งในภาพยนตร์ระดับตำนานทำรายได้ถล่มทลาย ทั้งหมดเกิดจากการตกผลึกทางความคิดของทีมงานทุกฝ่าย ที่พยายามสร้างสรรค์ผลงานให้ออกมาสมบูรณ์แบบและเข้าถึงผู้คนทุกเพศทุกวัย ซึ่งในกรณีนี้ได้แสดงให้เห็นว่า ศาสตร์ของการออกแบบเครื่องแต่งกายสำหรับโลกภาพยนตร์นั้นมีเสน่ห์ น่าสนใจ ชวนให้คิด ทำให้หลงใหล คนเบื้องหลังที่ตั้งใจสร้างสรรค์ผลงานดีๆ เช่นนี้ควรค่าได้รับการยกย่องและชื่นชม แม้จะมีรางวัลจากเวทีใหญ่ๆ มาการันตีหรือไม่ก็ตาม
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า