×

โรฮีนจา 87,000 คน หนีตายเหตุรุนแรงเมียนมา กองทัพ-รัฐบาลปัด ย้ำชนกลุ่มน้อยเผาบ้านเรือนตัวเอง

04.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 mins read
  • นับตั้งแต่ความรุนแรงในเมียนมาเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สหประชาชาติออกมาเปิดเผยว่า มีชาวโรฮีนจาอย่างน้อย 87,000 คน อพยพเข้าบังกลาเทศแล้ว
  • ชาวโรฮีนจาเล่าถึงความโหดร้ายจากการสังหารตามหมู่บ้านและถูกทหารเผาบ้านเรือนทิ้ง ในขณะที่รัฐบาลออกมากล่าวโทษฝ่ายโรฮีนจาว่าเป็นผู้ก่อเหตุดังกล่าว
  • ทางการเมียนมาสั่งปิดกั้นเส้นทางการส่งความช่วยเหลือจากฝ่ายต่างๆ รวมถึงสหประชาชาติ
  • มาลาลา ยูซาฟไซ นักสิทธิมนุษยชนชาวปากีสถาน และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเช่นเดียวกับ ออง ซาน ซูจี ได้เรียกร้องให้เธอออกมาประณามโศกนาฏกรรมอันน่าเศร้าที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน

     นับตั้งแต่ความรุนแรงในเมียนมาเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สหประชาชาติออกมาเปิดเผยว่า มีชาวโรฮีนจาอย่างน้อย 87,000 คน อพยพเข้าบังกลาเทศแล้ว

     ชาวโรฮีนจาที่เข้าถึงประเทศเพื่อนบ้านแห่งนี้เปิดเผยถึงความโหดร้ายจากการสังหารหมู่ตามหมู่บ้านหลายแห่ง และย้ำว่าพวกเขาถูกโจมตีและถูกทหารเผาบ้านเรือนทิ้ง ในขณะที่รัฐบาลออกมากล่าวโทษฝ่ายโรฮีนจาว่าเป็นผู้ก่อเหตุดังกล่าว

     เหตุรุนแรงเมื่อวันที่ 25 สิงหาคมที่ผ่านมา จากการปะทะระหว่างฝ่ายผู้ก่อการโรฮีนจาและตำรวจ จนทำให้กองทัพเมียนมาต้องออกมาตอบโต้ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 400 ราย อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบตัวเลขอย่างชัดเจนไม่สามารถทำได้

 

 

     ปัจจุบันทางการเมียนมาสั่งปิดกั้นเส้นทางการส่งความช่วยเหลือจากฝ่ายต่างๆ รวมถึงสหประชาชาติที่ต้องการส่งสิ่งของยังชีพ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร น้ำ หรือยา ให้ผู้ประสบภัยในรัฐยะไข่

     เจ้าหน้าที่ให้เหตุผลว่า เนื่องมาจากสถานการณ์ความมั่นคงและข้อจำกัดการเข้าพื้นที่จากรัฐบาลเมียนมา ซึ่งองค์กรต่างๆ รวมถึง Oxfam และ Save the Children ได้แสดงความไม่พอใจต่อท่าทีครั้งนี้

     หน่วยงานสหประชาชาติออกมาเปิดเผยว่า พวกเขาไม่สามารถลงสำรวจพื้นที่ได้เป็นเวลานับสัปดาห์แล้ว จนอาจสร้างผลร้ายแรงต่อความพยายามช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ ไม่เพียงแต่ชาวโรฮีนจาเท่านั้น แต่ชาวเมียนมาพุทธในพื้นที่ด้วย

 

 

ซูจีเงียบ ท่ามกลางเสียงเพื่อนสันติภาพโนเบล

     ออง ซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐเมียนมา หรือที่หลายฝ่ายมองในฐานะผู้นำเมียนมาทางพฤตินัย มักปฏิเสธการกล่าวถึงความรุนแรงทางชาติพันธุ์ในประเทศ แต่เมื่อเมษายนที่ผ่านมา เธอให้สัมภาษณ์ผ่านบีบีซีว่า การกล่าวถึงเหตุรุนแรงดังกล่าวในฐานะการกวาดล้างเผ่าพันธ์นั้นรุนแรงเกินไป

     ความเงียบของเธอทำให้มีประชาชนเกือบหมื่นคนร่วมลงชื่อเรียกร้องให้คณะกรรมการโนเบลพิจารณาการถอดถอนรายชื่อหญิงเหล็กรายนี้ออกจากตำแหน่งเพื่อสันติภาพที่เธอถือครอง

     มาลาลา ยูซาฟไซ นักสิทธิมนุษยชนชาวปากีสถาน และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพเช่นเดียวกับซูจี ได้เรียกร้องให้เธอออกมาประณามโศกนาฏกรรมอันน่าเศร้าที่เกิดขึ้นเช่นเดียวกัน

 

 

     เมื่อช่วงมิถุนายนที่ผ่านมา ดาไลลามะ ผู้นำทางจิตวิญญาณชาวทิเบต อีกหนึ่งเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ เคยออกมาเรียกร้องให้ซูจีมีความรับผิดชอบในการบรรเทาปัญหาระหว่างชาวพุทธและชาวมุสลิมโรฮีนจา โดยระบุว่าเธอได้รับรางวัลดังกล่าวแล้ว เช่นนั้นในทางศีลธรรมแล้ว เธอควรจะพยายามลดความตึงเครียดในประเด็นนี้

 

 

ชนกลุ่มน้อยที่ไม่ต้องการ

     ขณะนี้เป็นที่ประมาณการณ์ว่าชาวโรฮีนจานับ 1.1 ล้านคนอาศัยอยู่ในเมียนมา สถานที่ที่พวกเขาไม่ถูกนับเป็นพลเรือน จนทำให้ชนกลุ่มน้อยนี้ถูกเรียกขานในฐานะผู้ถูกกลั่นแกล้งอย่างร้ายแรง

     สาเหตุที่พวกเขากลายเป็นยิ่งกว่าชายขอบของสังคมหนึ่งๆ อย่างการเป็นบุคคลไร้รัฐ สืบเนื่องมาจากยุคการปกครองรัฐบาลทหารเมียนมาที่ไม่รองรับพวกเขาในฐานะพลเรือน

 

 

     ตามข้อมูลของ Human Rights Watch ชาวโรฮีนจาจำนวนมากอพยพเข้าพื้นที่ที่ปัจจุบันกลายเป็นเมียนมาในช่วงอังกฤษปกครอง ด้วยการแต่งตั้งให้พื้นที่แห่งนี้เป็นจังหวัดหนึ่งของอินเดียและบังกลาเทศในปัจจุบัน

     สหประชาชาติระบุอีกว่า นับตั้งแต่ปี 2012 มีชาวโรฮีนจามากกว่า 168,000 คน อพยพออกมาเมียนมาสู่บังกลาเทศ ขณะเดียวกัน สหประชาชาติยังคาดการณ์อีกว่ามีชาวโรฮีนจานับ 420,000 คนที่อพยพไปตามประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีผู้คนพลัดถิ่นในเมียนมาสูงถึง 120,000 คน

 

 

 

Photo: Emrul KAMAL, Jasmin RUMI, R.ASAD/AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising