×

รายงานแห่งชาติเผย ภาวะโลกร้อน-โลกรวน ทำภาคอีสานเสี่ยงน้ำท่วม-ภัยแล้ง-ขาดอาหาร

โดย THE STANDARD TEAM
07.05.2024
  • LOADING...

รายงานแห่งชาติฉบับที่ 4 (Fourth National Communication: NC4) จัดทำโดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ  (UNDP) ซึ่งสนับสนุนโดยกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (GEF) ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะนครราชสีมาเสี่ยงภัยพิบัติหนักทั้งวิกฤตน้ำท่วม ภัยแล้ง และส่งผลให้เกิดภาวะเสี่ยงขาดสารอาหารตามมา เพราะอุณหภูมิที่ร้อนขึ้นและสภาพอากาศที่แปรปรวนมากขึ้น ส่งผลให้ปศุสัตว์เครียดหรือตาย และพืชพันธุ์ต่างๆ ขาดน้ำ ขณะที่กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่เสี่ยงได้รับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด โดยเฉพาะในมิติการตั้งถิ่นฐาน

 

รายงาน NC4 ประเมินความเสี่ยงของไทยต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยนำภัยพิบัติ 3 ประเภทที่จะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ ความร้อน ภัยแล้ง และน้ำท่วม ไปประเมินผลกระทบใน 6 ด้านคือ ภาคการจัดการทรัพยากรน้ำ, ภาคการท่องเที่ยว, ภาคสาธารณสุข, ภาคเกษตรและภาคความมั่นคงทางอาหาร, ภาคทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และภาคการตั้งถิ่นฐานและความปลอดภัยของมนุษย์ โดยประเมินความเสี่ยงระยะยาวจากข้อมูล 4 ช่วงเวลาคือ ปี 1970-2005, 2016-2035, 2046-2065 และ 2081-2099 

 

รายงานฉบับนี้ยังอ้างถึงข้อมูลบัญชีก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยในปี 2018 โดยชี้ว่าภาคพลังงานปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงที่สุด (69.06%), ภาคเกษตรกรรม (15.69%), ภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ (10.77%) และภาคของเสีย (4.88%) โดยด้านเกษตรกรรม โลกร้อนส่งผลกระทบต่อการเพาะปลูกและการเก็บเกี่ยวผลผลิตโดยตรง ทั้งยังคาดการณ์ว่าในช่วงปี 2011-2045 ผลกระทบสะสมต่อภาคเกษตรสามารถสร้างความเสียหายรวมเป็นมูลค่ารวมสูง 17,912-83,826 ล้านบาทต่อปี  

 

รายงาน NC4 ยังระบุว่า หากมองถึงระดับท้องถิ่นจากแผนที่ความเสี่ยงของประเทศไทย ที่ประเมินความเสี่ยงต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากภัยธรรมชาติยังสะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในเชิงภูมิภาค เนื่องจากจังหวัดได้รับการจัดอันดับว่าเสี่ยงภัยความร้อนสูงสุด 7 จังหวัดล้วนอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้งสิ้น ได้แก่ นครราชสีมา, อุบลราชธานี, บุรีรัมย์, ขอนแก่น, ศรีสะเกษ, สุรินทร์ และร้อยเอ็ด

 

นอกจากนี้รายงานยังชี้ว่า ยิ่งเมืองใหญ่ ยิ่งประชากรเยอะ ยิ่งเสี่ยงได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมรอบด้าน โดยคาดการณ์ว่าในปี 2040 ประชากรไทย 74.3% จะอาศัยอยู่ในเมือง และจะเหลือประชากรเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศเสี่ยงส่งผลให้ระบบประปาหยุดชะงัก กระทบที่อยู่อาศัย และบริการสาธารณะซึ่งจะส่งผลต่อคนในเมืองนับล้านคน โดยจังหวัดที่เสี่ยงสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครราชสีมา สมุทรปราการ และขอนแก่น นอกจากนี้ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีคนอยู่อาศัยมากที่สุดในประเทศไทยถึง 5.4 ล้านคน ยังเป็นจังหวัดที่เสี่ยงสูงสุดทั้งภัยความร้อน ภัยแล้ง และน้ำท่วม 

 

แฟ้มภาพ: Witsawat.S / Shutterstock

อ้างอิง: UNDP ประเทศไทย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising