×

เปิดความท้าทายในสมรภูมิเศรษฐกิจของ ริชิ ซูนัค นายกฯ อังกฤษคนใหม่

25.10.2022
  • LOADING...

ริชิ ซูนัค อดีตรัฐมนตรีคลังของสหราชอาณาจักร เตรียมขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ หลังคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมเมื่อวานนี้ (24 ตุลาคม) ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อสูงสุดในรอบหลายปี อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 14 ปี ภาวะเศรษฐกิจถดถอย รวมไปถึงหายนะในตลาดการเงิน หลังจากการดำรงตำแหน่ง 7 สัปดาห์ของอดีตนายกรัฐมนตรี ลิซ ทรัสส์

 

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (23 ตุลาคม) ริชิ ซูนัค ได้เตือนว่า สหราชอาณาจักรกำลังเผชิญกับ “ความท้าทายทางเศรษฐกิจที่หยั่งรากลึก” ก่อนก้าวขึ้นมาดำรงตำแหน่งผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมของซูนัค ซึ่งนับเป็นความพลิกผันที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก เนื่องจากซูนัคเพิ่งพ่ายแพ้ในการชิงตำแหน่งดังกล่าวต่อลิซ ทรัสส์ เมื่อไม่กี่เดือนก่อน 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


อย่างไรก็ตาม คำเตือนซ้ำแล้วซ้ำเล่าของซูนัคที่ว่า แผนการของทรัสส์จะทำให้เกิดความวุ่นวายทางเศรษฐกิจ ก็พิสูจน์แล้วว่า ‘เป็นเรื่องที่ถูกต้อง’ และทำให้ซูนัคเป็นผู้คว้าตำแหน่งนายกฯ มาครองได้ในที่สุด

 

ก่อนหน้านี้ ซูนัคเคยวิจารณ์นโยบายลดภาษีของทรัสส์ โดยแนะว่าการลดภาษีควรทำก็ต่อเมื่อสามารถควบคุมภาวะเงินเฟ้อได้แล้ว นอกจากนี้ ซูนัคยังสนับสนุนความเป็นอิสระของธนาคารแห่งประเทศอังกฤษ และเน้นย้ำว่ารัฐบาลต้องออกนโยบายให้สอดคล้องกับธนาคารกลางเพื่อคุมภาวะเงินเฟ้อ ไม่ใช่ทำให้ภาวะดังกล่าวย่ำแย่ลง ท่ามกลางความท้าทายทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่รุมเร้า ไม่ว่าจะเป็นอัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ภาวะเศรษฐกิจถดถอย และวิกฤตความเชื่อมั่นในตลาด

 

และนี่คือความท้าทายในสมรภูมิเศรษฐกิจที่ ริชิ ซูนัค อยู่ 

 

1. อัตราเงินเฟ้อสูงสุดรอบ 40 ปี

ดัชนีผู้บริโภคของสหราชอาณาจักรในเดือนกันยายนอยู่ที่ 10.1% กลับไปทำสถิติสูงสุดในรอบ 40 ปีอีกครั้ง เพิ่มขึ้นจากระดับ 9.9% ในเดือนสิงหาคม และกลับไปเท่ากับระดับเงินเฟ้อในเดือนกรกฎาคมที่ 10.1% ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 10% 

 

2. อัตราดอกเบี้ยสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นสูงสุดรอบ 14 ปี

อัตราสินเชื่อที่อยู่อาศัยในสหราชอาณาจักรยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แตะระดับสูงสุดในรอบ 14 ปี โดยอัตราคงที่เฉลี่ย 2 ปีและ 5 ปีเพิ่มขึ้นเป็น 6.65% และ 6.51% ตามลำดับ เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมของสหราชอาณาจักรยังคงสูงขึ้น ขณะที่ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) คาดว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีกครั้งในเดือนพฤศจิกายน เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ

 

3. ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจ่อลึกขึ้น

โดยก่อนหน้านี้ธนาคารกลางอังกฤษได้ออกมาเตือนว่า เศรษฐกิจอังกฤษจะเผชิญภาวะถดถอยยาวนานกว่า 1 ปี โดยจะเข้าสู่ภาวะถดถอยตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปี 2022 จนถึงสิ้นปี 2023

 

Thomas Pugh นักเศรษฐศาสตร์จาก RSM บริษัทที่ปรึกษาและตรวจสอบบัญชี กล่าวว่า คำมั่นสัญญาของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ในเรื่องความรับผิดชอบทางการคลัง ชี้ให้เห็นว่าอังกฤษอาจเผชิญกับภาวะความเข้มงวดทางการคลังเพิ่มขึ้น โดยเมื่อรวมกับวิกฤตค่าครองชีพและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น อาจทำให้ภาวะถดถอยลึกกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้

 

อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายทางการคลังที่ลดลง มีแนวโน้มที่จะช่วยรักษาอัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางไว้ได้ ซึ่งหมายความว่าธนาคารกลางอังกฤษไม่จำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยรุนแรง

 

4. วิกฤตความเชื่อมั่นของตลาด

ตลาดการเงินของสหราชอาณาจักรดิ่งลงสู่ความโกลาหลเมื่อวันที่ 23 กันยายน หลังจากที่ Kwasi Kwarteng อดีตรัฐมนตรีคลัง เปิดเผยงบประมาณแผ่นดินฉบับย่อ (Mini Budget) มูลค่า 4.5 หมื่นล้านปอนด์ ทำให้ธนาคารกลางอังกฤษถูกบังคับให้ซื้อพันธบัตรฉุกเฉินเพื่อขัดขวางการเทขายอย่างรวดเร็ว

 

โดยหลังจากซูนัคสามารถคว้าตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมมาครองได้ ตลาดเงินและตลาดหุ้นก็ปรับตัวดีขึ้นต้อนรับข่าวดังกล่าว โดยค่าเงินปอนด์ขยับขึ้นเล็กน้อย ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอังกฤษอายุ 10 ปีก็ลดลงสู่ระดับต่ำสุด นับตั้งแต่ Kwarteng เปิดเผยงบประมาณแผ่นดินฉบับย่อ และดัชนี FTSE 250 ของบริษัทขนาดกลางในสหราชอาณาจักรก็เพิ่มขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม Paul Johnson ผู้อำนวยการสถาบันการคลังศึกษา (Institute for Fiscal Studies) ยังมองว่า ตลาดยังต้องการเห็นการดำเนินการที่ชัดเจนและเด็ดขาด 

 

ขณะที่ Dave Ramsden รองผู้ว่าการธนาคารกลางอังกฤษ กล่าวว่า ความน่าเชื่อถือกำลังหวนคืนสู่การกำหนดนโยบายเศรษฐกิจของอังกฤษ โดยพิจารณาจากการฟื้นตัวของตลาดพันธบัตรรัฐบาล

 

นอกเหนือจากความท้าทายทางเศรษฐกิจแล้ว อีกโจทย์สำคัญของซูนัคก็คือการสร้างความสมานฉันท์ภายในพรรค ซึ่งภายหลังประกาศชัยชนะ ซูนัคได้ขึ้นกล่าวต่อรัฐสภาโดยเน้นย้ำว่า ประเทศอังกฤษในเวลานี้กำลังเผชิญกับภาวะวิกฤตขั้นสุด ที่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายเพื่อฝ่าฟันความท้าทายครั้งนี้ และกล่าวว่าอังกฤษจำเป็นต้องมีทั้งเสถียรภาพและเอกภาพ 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X