ตลอดช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ภาพรวมของราคาอาหารโลกได้ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างคาดการณ์ว่า ‘ราคาข้าว’ ซึ่งเป็นอาหารหลักของหลายประเทศในเอเชีย อาจดีดตัวสูงขึ้นในอนาคต
ข้อมูลจากดัชนีราคาอาหารขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) เผยให้เห็นว่า ราคาข้าวในตลาดโลกเมื่อเดือนพฤษภาคมปรับตัวขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 5 โดยเฉพาะราคาข้าวจาปอนิกา (Japonica Rice) และข้าวหอม (Aromatic Rice) ซึ่งปรับตัวขึ้นถึง 14.0% และ 20.3% ตามลำดับนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2021
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
โซนัล วาร์มา หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่ง Nomura เปิดเผยว่า “เราต้องจับตาความเคลื่อนไหวของราคาข้าวต่อไป เนื่องจากราคาข้าวสาลีที่ปรับตัวขึ้นอาจทำให้มีการหันมาบริโภคข้าวชนิดอื่นๆ ทดแทน ซึ่งจะทำให้ดีมานด์ในตลาดเพิ่มขึ้น ขณะที่สต๊อกข้าวที่มีอยู่ตอนนี้จะปรับตัวลง”
ในช่วงที่ผ่านมานั้นราคาอาหารหลายชนิด เช่น ข้าวสาลี ธัญพืช ไปจนถึงเนื้อสัตว์และน้ำมัน ได้พุ่งสูงขึ้นจากปัจจัยหลายอย่างด้วยกัน เช่น ราคาปุ๋ยและพลังงานที่เพิ่มขึ้นในปีที่ผ่านมา ตลอดจนสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่กินเวลายืดเยื้อจนถึงบัดนี้ รวมถึงยังมีปัญหาจากการที่บางชาติใช้มาตรการห้ามการส่งออกสินค้าเพื่อตุนสต๊อกสำหรับใช้งานในประเทศ เช่น อินเดียที่ระงับการส่งออกข้าวสาลี และอินโดนีเซียที่เคยมีคำสั่งห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มก่อนหน้านี้
สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนได้หนุนให้ราคาข้าวสาลีทะยานขึ้นกว่า 50% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เพราะทั้งสองประเทศต่างเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก โดยข้อมูลของวันที่ 6 มิถุนายนเพียงวันเดียวนั้น ราคาข้าวสาลีดีดตัวขึ้นถึง 4% หลังมีรายงานว่ากองทัพรัสเซียเข้าทำลายท่าเรือที่ใช้สำหรับส่งออกธัญพืชที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของยูเครน
อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญมองว่า การขึ้นราคาข้าวนั้นยังดีกว่าการออกคำสั่งห้ามส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพราะการปรับขึ้นราคาข้าวมีข้อดีในการช่วยชดเชยต้นทุนที่สูงขึ้น อีกทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร แตกต่างจากคำสั่งห้ามส่งออก ที่จะดันให้ราคาข้าวในตลาดโลกปรับตัวขึ้น และทำให้ราคาข้าวในประเทศถูกลง
วาร์มามองว่าความเสี่ยงที่มีต่อข้าวนั้นยังคงอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากสต๊อกข้าวในคลังทั่วโลกยังคงมีเพียงพอ และคาดว่าการเก็บเกี่ยวข้าวในอินเดียจะไปได้สวยในฤดูร้อนนี้ แต่ถึงเช่นนั้นราคาข้าวสาลีที่ปรับตัวขึ้น และต้นทุนการทำการเกษตรที่เพิ่มขึ้นในภาพรวม ก็อาจดันให้ราคาข้าวปรับตัวขึ้นด้วย ซึ่งจะต้องจับตาดูกันต่อไปอย่างใกล้ชิด
อนึ่งดัชนีราคาอาหารของ UN เผยให้เห็นว่า ปัจจุบันราคาอาหารพุ่งสูงขึ้นถึง 75% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิดระบาด ขณะปัญหาขาดแคลนแรงงาน และสงครามในยูเครน ยังทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง เนื่องจากทำให้ซัพพลายอาหารลดลง และดันให้ราคาพลังงานปรับตัวขึ้น
แฟ้มภาพ: Yawar Nazir / Getty Images
อ้างอิง: