×

ราคาข้าวพุ่งทำสถิติสูงสุดในรอบเกือบ 15 ปี ผู้เชี่ยวชาญหวั่นกระทบค่าครองชีพครัวเรือนรายได้ต่ำหลายพันล้านคนในเอเชียและแอฟริกา

10.08.2023
  • LOADING...

ราคาข้าวในตลาดโลกพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดในรอบเกือบ 15 ปี จากความกังวลเกี่ยวกับปรากฏการณ์เอลนีโญและภัยแล้งที่ทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งมีแนวโน้มจะส่งให้ผลให้ผลผลิตข้าวในประเทศผู้ส่งออกหลัก เช่น อินเดีย ไทย และเวียดนาม ปรับตัวลดลง โดยล่าสุดราคาข้าวสาร 5% ของไทย ซึ่งเป็นราคาอ้างอิงในภูมิภาคเอเชียได้ทะยานขึ้นไปแตะระดับ 648 ดอลลาร์ต่อตันแล้ว จากที่ในช่วงปลายเดือนที่ผ่านมาราคายังอยู่ที่ 572 ดอลลาร์ต่อตัน

 

ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายออกมาแสดงความกังวลว่าราคาข้าวที่ปรับสูงขึ้นอย่างรวดเร็วอาจส่งผลกระทบกับประชากรโลกหลายพันล้านคน โดยเฉพาะกลุ่มคนยากจนในภูมิภาคเอเชียและแอฟริกาที่บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก และข้าวมีสัดส่วนสูงถึง 60-70% ของพลังงานจากอาหารที่คนเหล่านี้บริโภคต่อวัน

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

นอกจากภัยแล้งจากปรากฏการณ์เอลนีโญแล้ว ราคาข้าวในปัจจุบันยังได้รับแรงกดดันจากปัญหาความขัดแย้งในยูเครน หลังรัสเซียยกเลิกข้อตกลงที่อนุญาตให้ยูเครนขนส่งธัญพืชผ่านทะเลดำ, การที่อินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลกออกมาตรการห้ามส่งออกข้าวที่ไม่ใช่ข้าวบาสมาติ และไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 2 แจ้งเตือนให้เกษตรกรในประเทศลดการเพาะปลูกในปีนี้ลงอีกด้วย

 

“ราคาข้าวที่สูงขึ้นจะส่งผลต่อเงินเฟ้อในหมวดอาหาร ซึ่งจะสร้างความเดือดร้อนโดยตรงให้กับครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำในภูมิภาคเอเชียที่บริโภคข้าวเป็นอาหารหลัก เรายังต้องจับตาดูด้วยว่าหลังจากอินเดียแบนการส่งออกข้าวแล้ว จะมีประเทศอื่นๆ เดินรอยตามหรือไม่” Joseph Glauber นักวิชาการอาวุโสของ International Food Policy กล่าว

 

Peter Timmer ศาสตราจารย์กิตติคุณของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางอาหาร ระบุว่าปรากฏการณ์เอลนีโญจะส่งผลให้ปริมาณน้ำฝนลดลง ซึ่งภาวะดังกล่าวจะทำให้ผลผลิตข้าวลดต่ำลงตามไปด้วย และเมื่อการผลิตข้าวซึ่งเป็นอาหารหลักของหลายประเทศตกต่ำลง รัฐบาลของประเทศเหล่านี้จะเริ่มให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางอาหาร เนื่องจากไม่ต้องการให้เงินเฟ้อในประเทศพุ่งสูงขึ้น

 

“ราคาข้าวในตลาดโลกกำลังเผชิญกับความผันผวนมากขึ้นจากปัญหาภัยแล้งและความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน โดยมีความเป็นไปได้ที่ราคาข้าวจะปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 100 ดอลลาร์ต่อตันภายใน 6-12 เดือนข้างหน้า แต่คำถามคือการปรับขึ้นจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนทะลุระดับ 1,000 ดอลลาร์ต่อตันเหมือนที่เคยเกิดขึ้นในช่วงปี 2008 ที่ทั้งอินเดียและเวียดนามแบนการส่งออกพร้อมกัน” Timmer กล่าว

 

Chua Hak Bin นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ Maybank Investment Banking Group ในสิงคโปร์ เชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศซึ่งจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตการเกษตร จะทำให้หลายประเทศหันมาใช้นโยบายปกป้องทางการค้า (Protectionism) มากขึ้น ซึ่งรวมถึงการห้ามส่งออกสินค้าที่อาจส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารของประเทศ

 

“เศรษฐกิจของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่จะมีความอ่อนไหวต่อช็อกของราคาอาหารมากกว่า เพราะอาหารเป็นหมวดที่มีน้ำหนักในตะกร้าเงินเฟ้อของประเทศเหล่านี้มาก อย่างไรก็ดี เราเชื่อว่ารัฐบาลในหลายประเทศอาจเลือกใช้นโยบายอุดหนุนราคาบางส่วน เพื่อควบคุมไม่ให้ราคาอาหารสูงขึ้นเร็วเกินไป” Chua ระบุ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising