×

รู้จัก ‘Rhino Bond’ ก้าวแรกของนวัตกรรมทางการเงินเพื่อความหลากหลายทางชีวภาพ

22.11.2022
  • LOADING...
Rhino Bond

ปัจจุบันปัญหาการลักลอบค้าสัตว์ป่ากลายเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ จัดเป็นอันดับที่ 4 ของโลก รองจากการค้าขายอาวุธ ยาเสพติด และการค้ามนุษย์ โดยองค์การสหประชาชาติ (United Nations) ได้ประเมินว่า มูลค่าการลักลอบค้าสัตว์ป่าอยู่ที่ประมาณ 7- 23 พันล้านดอลลาร์ต่อปี ทำให้การค้าสัตว์ป่านับว่าเป็นหนึ่งในธุรกิจตลาดมืดที่ทำกำไรได้มหาศาล ซึ่งมักดำเนินการโดยเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติ 

 

ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา จำนวนประชากรสัตว์ป่าในโลกลดลงเกือบ 70% เป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ที่แตกร้าวระหว่างมนุษย์และระบบนิเวศของโลก เช่นเดียวกับสถานการณ์ประชากรแรด หรือ ​​Rhino ในปัจจุบัน จากรายงานจากมูลนิธิแรดนานาชาติ (International Rhino Foundation)ในปี 2022 พบว่าประชากรแรดทั่วโลกมีน้อยกว่า 27,000 ตัว ลดลงจาก 70,000 ตัวในปี 1970 สาเหตุมาจากการถูกล่าเพื่อนำนอแรดไปขายในรูปแบบของเครื่องประดับต่างๆ หรือนำไปเป็นส่วนผสมของยาตามความเชื่อ การค้าที่ผิดกฎหมายนี้ส่งผลให้แรดเข้าสู่จุดพลิกผัน (Tipping Point) และกำลังตกอยู่ในภาวะเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์

 

บทบาท ‘แรด’ ในระบบนิเวศของโลก

ทั้งนี้ แรดมีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศของโลก และถูกเรียกว่าเป็น ‘Umbrella Species’ ซึ่งหมายความว่า การดำรงอยู่ของแรด เท่ากับการดำรงอยู่ของสัตว์ป่านานาชนิดในผืนป่า ตัวอย่างเช่น แรดจะกินยอดไม้พุ่มและต้นไม้เตี้ย ตัดแต่งกิ่งไม้เหล่านี้และควบคุมการเจริญเติบโตของพืช ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตที่อาศัยพืชเหล่านั้นเพื่อเป็นที่พักพิงและอาหาร นอกจากนี้การควบคุมการเติบโตของพืช ดูแลรักษาทุ่งหญ้าของแรด ยังช่วยลดโอกาสการเกิดไฟไหม้ และทำให้ดินอุดมสมบูรณ์ หากไม่มีแรด ท้ายที่สุดแล้วอาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ของสัตว์ชนิดต่างๆ มากยิ่งขึ้น ดังนั้นการอนุรักษ์แรดจึงเปรียบเสมือนการดูแลและปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) ของพันธุ์พืชและสัตว์ป่าสายพันธุ์อื่นๆ ไปด้วย 

 

World Bank ได้ประกาศเปิดตัว ‘Rhino Bond’

ด้วยเหตุนี้ เมื่อต้นปี 2022 ธนาคารโลก (World Bank) ได้ประกาศเปิดตัว ‘Rhino Bond’ หรือ​​ตราสารหนี้เพื่อการอนุรักษ์สัตว์ป่า (Wildlife Conservation Bond) โดยระดมทุนได้ทั้งสิ้น 150 ล้านดอลลาร์ มีอายุครบกำหนด 5 ปี เงินทุนที่ได้จะนำไปใช้เพิ่มจำนวนประชากรแรดดำที่อาศัยอยู่ใน 2 อุทยานแห่งชาติที่แอฟริกาใต้ ได้แก่ Addo Elephant National Park และ Great Fish River Nature Reserve 

 

Rhino Bond จะไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยระหว่างงวด และเมื่อครบกำหนดอายุ 5 ปี ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด (Worst Case) หากจำนวนประชากรแรดดำคงที่หรือลดลง นักลงทุนจะได้รับเพียงเงินต้นคืนเท่านั้น ในกรณีที่ดีที่สุด (Best Case) หากจำนวนประชากรแรดดำเพิ่มขึ้น นักลงทุนจะได้รับเงินต้นคืน และจะได้รับผลตอบแทนจากความสำเร็จในการอนุรักษ์ (Conservation Success Payment) ตามผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น โดยผลตอบแทนจะอยู่ที่ระหว่าง 3.66-9.17% ซึ่งจ่ายโดยกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility) 

 

Rhino Bond นับว่าเป็นก้าวแรกที่ยิ่งใหญ่ ในการเปิดแหล่งทุนเพื่อการอนุรักษ์และแบ่งปันความเสี่ยงทางการเงินในการฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ อีกทั้งยังเป็นตัวอย่างของการทำงานร่วมกันระหว่างสถาบันต่างๆ หาก Rhino Bond พิสูจน์ได้ว่าเป็นที่นิยมในหมู่นักลงทุน และประสบความสำเร็จในการอนุรักษ์แรดตามเป้าหมายที่วางไว้ เชื่อว่าตราสารหนี้ประเภทนี้อาจเป็นต้นแบบของจัดหาเงินทุนเพื่อการอนุรักษ์ของโลก และสามารถนำไปใช้ในอุทยานแห่งชาติอื่นๆ เพื่อปกป้องประชากรสัตว์ป่าที่มีสถานะถูกคุกคามและใกล้สูญพันธุ์ อันเป็นผลมาจากฝีมือมนุษย์

 

ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ได้เกิดขึ้นกับคนเพียงกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแก้ปัญหา 

 

เหมือนกับที่ สืบ นาคะเสถียร เคยกล่าวเอาไว้ว่า

  

“ผลที่จะเกิดขึ้นจากการอนุรักษ์มิได้เป็นประโยชน์เฉพาะคนที่อยู่ในปัจจุบันเท่านั้น แต่ยังคงสามารถอำนวยประโยชน์ต่อไปชั่วลูกชั่วหลานต่างหาก”


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


อ้างอิง: 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising