วันนี้ (23 ตุลาคม) จิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าคดีดิไอคอนกรุ๊ป โดยระบุว่า เข้าใจว่าปัญหานี้สะสมมาหลายปีแต่เพิ่งมาปะทุกันในช่วงนี้ ทำให้พี่น้องประชาชนตั้งคำถามถึงการทำงานของ สคบ. โดยขอแบ่งเป็น 2 ส่วนใหญ่ คือ มีการร้องเรียนมายัง สคบ. ตั้งแต่ปี 2561 ซึ่ง สคบ. ได้ตรวจสอบย้อนกลับไป ไม่ได้นิ่งนอนใจ และส่งหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
จิราพรกล่าวต่อไปว่า เพราะ สคบ. มีข้อจำกัดในทางกฎหมายของการตรวจสอบ ซึ่งปัจจุบันมีบางหน่วยงานที่ตอบกลับมา ถือเป็นปัญหาอย่างหนึ่งที่จะดูแค่ สคบ. ไม่ได้แล้ว ต้องมีวิธีการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งการบูรณาการแก้ปัญหา รวมถึงการป้องกันในระยะยาว และอีกมิติหนึ่งที่ต้องเรียกความเชื่อมั่นคืนคือเรื่องคลิปเสียงที่ปรากฏในสื่อ
จิราพรกล่าวด้วยว่า อย่างแรกที่อยากให้ประชาชนมั่นใจคือ รัฐบาล ตนเอง และ ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จริงจังในการตรวจสอบเพื่อหาข้อเท็จจริง ซึ่งเป็นที่มาของการตั้งคณะกรรมการคนนอก ไม่ใช่คนใน สคบ. มาตรวจกันเอง มีทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI), คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และสำนักงานอัยการ มาร่วมตรวจสอบ ซึ่งแต่ละหน่วยงานเป็นผู้คร่ำหวอดเรื่องการสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริง และประธานคณะกรรมการก็เป็นผู้ที่มากด้วยประสบการณ์ในการทำคดีใหญ่หลายคดี เป็นคนตรงไปตรงมา
“ในส่วนนี้คิดว่าไม่มีอะไรที่ต้องลำบากใจและไม่มีอะไรที่ต้องกังวลเรื่องความมุ่งมั่นตั้งใจที่อยากทำให้เรื่องนี้คลี่คลาย และหลังจากตรวจสอบข้อเท็จจริง อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องการหาแนวทางป้องกันระยะยาว ซึ่งเราไม่ได้ดูเพียงข้อเท็จจริงเท่านั้น แต่หามาตรการและวิธีการในเชิงนโยบาย โดยแนะนำให้ สคบ. ไปดำเนินการต่อ” จิราพรกล่าว
จิราพรกล่าวด้วยว่า ดังนั้นกฎหมายต่างๆ ที่ สคบ. ถืออยู่ที่ล้าหลังหรือล้าสมัย ไม่ตอบโจทย์ คณะกรรมการนี้จะช่วยแนะนำและแก้ปัญหานี้ด้วย รวมถึงจะต้องรื้อการทำงานครั้งใหญ่เพื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการทำงานมากขึ้น เพื่อให้องค์กรโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ อย่างไรก็ตาม คนที่ตั้งใจทำงานเป็นข้าราชการน้ำดีก็มี แต่ส่วนไหนที่เป็นปัญหาเราต้องแก้ไขและให้ความเชื่อมั่นกับประชาชน
ส่วนคณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นมีการรายงานผลการตรวจสอบเบื้องต้นมาแล้วหรือไม่ จิราพรกล่าวว่า คณะกรรมการชุดใหญ่ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาอีก 2 ชุด โดยชุดหนึ่งจะดูการสอบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งจะนำพยานหลักฐาน พยานวัตถุ และพยานบุคคล มาเชื่อมโยงกัน โดยการประชุมนัดแรกต้องหาข้อมูลองค์ประกอบแวดล้อมทั้งหมดเพื่อรายงานกับคณะกรรมการชุดใหญ่ จะได้กำหนดว่าจะต้องเชิญบุคคลหรือหน่วยงานไหนเข้ามาให้ข้อมูล ส่วนคณะอนุกรรมการอีกชุดหนึ่งจะดูเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ สคบ. ซึ่งเมื่อคณะอนุกรรมการทำงานครบ 1 สัปดาห์ จะรายงานให้คณะกรรมการชุดใหญ่รับทราบ
สำหรับการพิจารณาถอนใบอนุญาตบริษัทดังกล่าว จิราพรกล่าวว่า สั่งการ สคบ. ให้ทำงานให้เร็วที่สุด ซึ่งเคยให้ข้อมูลไปว่าอยู่ระหว่างการเชิญบริษัทมาให้ข้อมูล ทั้งบอสและดารา แต่ในระหว่างการสอบสวนมีการจับกุม และขณะนี้กลายเป็นผู้ต้องหาไปแล้ว ฉะนั้นเป็นขั้นตอนที่ สคบ. ต้องเข้าไปร่วมงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อสอบสวนข้อมูลนำมาประกอบการพิจารณาในการเพิกถอนใบอนุญาตต่อไป
สำหรับการพิจารณาเพิกถอนใบอนุญาตคาดว่าจะใช้เวลาเท่าไร และจะประสานพูดคุยกับบอสที่อยู่ในเรือนจำหรือไม่ ซึ่งทนายระบุว่า หาก สคบ. เพิกถอนระหว่างที่ยังไม่มีการให้ข้อมูลเพิ่มเติมจะทำการฟ้องกลับในมาตรา 157 กับเจ้าหน้าที่ จิราพรกล่าวว่า เราจะทำทุกอย่างตามขั้นตอนของกฎหมายและประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อดูแนวทางว่าจะสามารถหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมมาประกอบอย่างไรบ้าง
อย่างไรก็ตาม จิราพรยอมรับว่าการเพิกถอนใบอนุญาตภายในสัปดาห์นี้อาจจะไม่ทัน เพราะทุกอย่างมีขั้นตอนตามกฎหมายที่ต้องทำอย่างรอบคอบ ซึ่งการดำเนินการครั้งนี้ไม่ได้มีธงที่จะกลั่นแกล้งใคร แต่ต้องการที่จะทำตามข้อมูล ข้อเท็จจริง และหลักฐาน เพื่อให้ความยุติธรรมกับทุกฝ่าย
ส่วนกรณีนักการเมืองที่ถูกระบุในคลิปเสียงมีสิทธิ์ที่จะเรียกมาชี้แจงหรือไม่ จิราพรกล่าวว่า คณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาตรวจสอบมีสิทธิ์เชิญมาชี้แจงได้ทั้งหมด เรื่องนี้ต้องรอดูข้อเท็จจริง เพราะคณะกรรมการชุดนี้ตั้งขึ้นมาเพื่อหาข้อเท็จจริงในส่วนนี้ให้เกิดความกระจ่าง
ขณะที่การดำเนินการล่าช้าเกินไปหรือไม่นั้น เนื่องจากมีคลิปเสียงปรากฏบนสื่อในวันที่ 10 ตุลาคม หลังจากนั้นตั้งคณะกรรมการคนนอกขึ้นมาในวันที่ 16 ตุลาคม ซึ่งดำเนินการไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ การจัดตั้งคณะกรรมการคนนอกต้องมีการหาตัวผู้ที่มีความเหมาะสมแล้วประสานงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ส่วนตัวมองว่านี่ไม่ใช่ระยะเวลาที่ล่าช้าเกินไป เร่งทำอย่างดีที่สุดและรอบคอบ