×

‘Revlon’ ยักษ์ใหญ่เครื่องสำอางยื่นขอล้มละลาย เหตุหนี้ท่วมเกินแบกรับ แถมโดนวิกฤตห่วงโซ่อุปทานซ้ำเติม

17.06.2022
  • LOADING...
Revlon

Revlon บริษัทผู้ผลิตเครื่องสำอางยักษ์ใหญ่ชั้นนำของสหรัฐอเมริกา ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอการพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตราที่ 11 ของกฎหมายล้มละลาย เมื่อช่วงหัวค่ำของวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา (ตามเวลาท้องถิ่นในสหรัฐฯ) โดยมีสาเหตุหลักมาจากปัญหาหนี้มหาศาลเกินแบกรับกับวิกฤตห่วงโซ่อุปทานในช่วงการระบาดของไวรัสโควิดที่ผ่านมา

 

บริษัท Revlon คาดว่าการดำเนินการในครั้งนี้จะทำให้บริษัทได้รับเงินราว 575 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในฐานะลูกหนี้ระหว่างการพิทักษ์ทรัพย์ (Debtor-in-Possession Financing: DIP) จากฐานผู้ให้กู้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการดำเนินงานของบริษัทในแต่ละวัน

 

เดบราห์ เพอเรลแมน ประธานกรรมการบริหารของ Revlon กล่าวว่า การยื่นขอล้มละลายในครั้งนี้จะเปิดทางให้ Revlon สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์อันเป็นสัญลักษณ์สำคัญของบริษัทที่ได้ส่งมอบสู่ตลาดมานานหลายทศวรรษต่อไปได้ ขณะเดียวกันก็เป็นการช่วยกำหนดเส้นทางที่ชัดเจนสำหรับการเติบโตในอนาคตของบริษัท

 

นอกจากนี้เพอเรลแมนยังเสริมว่า โครงสร้างเงินของบริษัทขณะนี้เป็นความท้าทายที่จำกัดความสามารถของ Revlon ในการจัดการประเด็นด้านเศรษฐกิจมหภาคที่จะตอบสนองต่อความต้องการนี้

 

ในเอกสารยื่นขอล้มละลายของทาง Revlon ระบุว่า บริษัทในขณะนี้ไม่สามารถเติมเต็มเกือบ 1 ใน 3 ของความต้องการผลิตภัณฑ์ของลูกค้าที่มีอยู่ในขณะนี้ได้ เนื่องจากบริษัทไม่สามารถจัดหาวัตถุดิบที่เพียงพอและสม่ำเสมอ อีกทั้งขนส่งส่วนประกอบจากจีนไปยังสหรัฐฯ ยังใช้เวลา 8-12 สัปดาห์ และมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่าของราคาเดิมของ Revlon เมื่อเทียบกับปี 2019

 

รายงานระบุว่า บริษัทเครื่องสำอางอายุมากกว่า 90 ปีรายนี้ นับเป็นธุรกิจรายใหญ่ชั้นนำรายแรกในสหรัฐฯ ที่ยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์จากการล้มละลาย โดยในปี 2020 มีบริษัทค้าปลีกสหรัฐฯ มากกว่า 36 แห่งยื่นฟ้องขอล้มละลาย นับเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบ 11 ปี ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุว่ามาจากการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่หลังเผชิญกับวิกฤตการระบาดหนักของไวรัสโควิด ที่ทำให้ภาคธุรกิจค้าปลีกต้องหยุดชะงัก

 

จากข้อมูลของ S&P Global Market Intelligence จนถึง ณ วันที่ 31 พฤษภาคม พบว่า ปีนี้มีบริษัทล้มลายแล้ว 143 แห่ง ครอบคลุมในทุกอุตสาหกรรม ซึ่งรายงานระบุว่า นับเป็นอัตราการยื่นขอล้มลายที่โตช้าที่สุดแล้ว อย่างน้อยก็นับตั้งแต่ปี 2010 และดัชนี S&P พบเพียงบริษัทค้าปลีก 3 รายเท่านั้นที่ยื่นฟ้องล้มละลายในปีนี้ นับเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดในรอบ 12 ปี

 

อย่างไรก็ตาม ด้วยอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่ขยับพุ่งสูงขึ้น เหล่าผู้บริโภคเริ่มที่จะลดการใช้จ่ายสำหรับสินค้าที่ฟุ่มเฟือยบางอย่างลง โดยผู้เชี่ยวชาญคาดการณ์ว่าบริษัทค้าปลีกจำนวนมากขึ้นจะถูกกดดันให้ปรับโครงสร้างใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อธุรกิจเหล่านี้จำนวนมากต้องต่อสู้กับความท้าทายในห่วงโซ่อุปทานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้มีสินค้าคงคลังไม่แน่นอน

 

รายงานอ้างอิงเอกสารที่ทาง Revlon ยื่นต่อศาลล้มละลายในนครนิวยอร์ก ซึ่งระบุว่า Revlon บริษัทที่โด่งดังจากยาทาเล็บและลิปสติกภายใต้การบริหารโดย MacAndrews & Forbes ของมหาเศรษฐี รอน เพอเรลแมน มีสินทรัพย์และหนี้สินอยู่ในองค์กรระหว่าง 1,000-10,000 ล้านดอลลาร์

 

ทั้งนี้ Revlon มีหนี้สินระยะยาวอยู่ที่ 3,310 ล้านดอลลาร์ ณ วันที่ 31 มีนาคม ส่วนมูลค่าตลาดของบริษัทอยู่ที่เกือบ 123 ล้านดอลลาร์ ณ วันที่ปิดการซื้อขายในวันพุธที่ผ่านมา (15 มิถุนายน) และมีคำสั่งระงับการซื้อขายหุ้น Revlon ในช่วงพรีมาร์เก็ตของวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (16 มิถุนายน)

 

ก่อนหน้านี้ในช่วงปลายปี 2020 เนื่องจากผู้บริโภคที่ติดอยู่แต่บ้านลดการใช้จ่ายเพื่อความงามลงอย่างมาก อย่างไรก็ตาม Revlon ในช่วงเวลานั้นรอดวิกฤตล้มละลายได้อย่างหวุดหวิด เนื่องจากมีผู้ถือตราสารหนี้เข้าร่วมในโครงการปรับโครงสร้างหนี้มากพอ กระนั้นบริษัทได้เตือนเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนของปีนั้นว่าอาจถูกบังคับให้ยื่นขอความคุ้มครองตามบทที่ 11

 

ในปี 2020 ยอดขายของบริษัทอยู่ที่ประมาณ 1,900 ล้านดอลลาร์ ลดลง 21% จากปี 2019 แม้ว่าธุรกิจจะฟื้นตัวในปี 2021 แต่รายได้ของ Revlon ก็ยังต่ำกว่าระดับก่อนเกิดไวรัสโควิดระบาด

 

นอกจากปัญหาหนี้สั่งสมและการจัดหาวัตถุดิบแล้ว Revlon ยังเผชิญหน้ากับการแข่งขันอย่างดุเดือดในอุตสาหกรรมตลาดเครื่องสำอาง โดยสูญเสียฐานลูกค้าให้กับแบรนด์เครื่องสำอางของเหล่าคนดังอย่าง ไคลี เจนเนอร์ ในแบรนด์ Kylie Cosmetic หรือ ริฮานนา ศิลปินหญิงที่ผันตัวมาทำธุรกิจเครื่องสำอางภายใต้แบรนด์ Fenty Beauty รวมถึงการที่ Revlon ไม่สามารถแข่งขันกับแบรนด์คู่แข่งอย่าง CoverGirl ของบริษัท โคตี้ อิงค์ ที่ขับเคี่ยวและชิงส่วนแบ่งการตลาดจาก Revlon ด้วยการทุ่มลงทุนมหาศาลในด้านวิจัยและพัฒนาสินค้า

 

ด้าน เดวิด ซิลเวอร์แมน ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายค้าปลีกของ Fitch Ratings กล่าวว่า Revlon สามารถใช้เวลาในระหว่างการดำเนินคดีล้มละลายเพื่อตัดทอนพอร์ตโฟลิโอของตนได้ เนื่องจากบริษัทเป็นเจ้าของแบรนด์ต่างๆ มากมาย ซึ่งบางแบรนด์ก็มีประสิทธิภาพดีกว่าแบรนด์อื่นๆ โดยซิลเวอร์แมนกล่าวว่า หากดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ Revlon อาจหลุดพ้นจากการล้มละลายด้วยงบดุลที่สะอาดกว่าและสถานะการดำเนินงานที่ดีขึ้น ปรับปรุงโอกาสทางธุรกิจในระยะยาว

 

ทั้งนี้ MacAndrews & Forbes ของเพอเรลแมน ได้ซื้อ Revlon ด้วยเงินประมาณ 1,800 ล้านดอลลาร์ ในปี 1985 ก่อนจดทะเบียนเข้าสู่ตลาดในอีก 11 ปีต่อมา โดยตลอดหลายปีที่ผ่านมา ธุรกิจเติบโตขึ้นจากการเข้าซื้อกิจการ ซึ่งรวมถึงธุรกิจ Cutex ของ Coty และ Elizabeth Arden นอกจากแบนเนอร์เครื่องสำอางที่มีชื่อเดียวกันแล้ว แบรนด์ในเครือของบริษัทยังรวมถึง Almay, American Crew และ Britney Spears Fragrances

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising