ทำงานหนักขึ้นแต่ไม่คุ้มกับค่าจ้าง เป็นเหตุให้พนักงานค้าปลีก-ร้านสะดวกซื้อ ในอเมริกาเริ่มเครียดแถมเบื่อหน่าย พร้อมยื่นจดหมายลาออก โดยคิดเป็นตัวเลขการลาออกที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์
Bloomberg รายงานว่า ในปี 2023 พนักงานค้าปลีกในอเมริกาต้องเผชิญกับความกังวลรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นการรับภาระของตำแหน่งงานที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่เงินค่าจ้างยังเท่าเดิม ซึ่งไม่สอดคล้องกับค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น สร้างความเครียดและความเบื่อหน่ายให้กับชาวอเมริกันเกือบ 8 ล้านคน ที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรมค้าปลีก ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากจะทำงานแล้ว ยังต้องรับมือกับการโจรกรรมและการขโมยสินค้าภายในร้านอีก
สอดคล้องกับรายงานของสหพันธ์การค้าปลีกแห่งชาติ กล่าวว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พนักงานส่วนใหญ่กังวลเกี่ยวกับการขโมยสินค้าตามร้านเพิ่มขึ้นมากกว่า 50% แม้บริษัทหลายแห่งจะใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยป้องกันก็ตาม
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- 1 ใน 3 ของชาวมิลเลนเนียลและ Gen Z พร้อม ‘ใช้เงินเพื่อการท่องเที่ยว’ เฉลี่ย 70,000 บาท/ครั้ง แม้มากกว่าเงินเดือนถึง 2 เท่าก็ยอมเปย์
- งานวิจัยเผย เป็นเศรษฐีเงิน 1 ล้านดอลลาร์ หรือ 35 ล้านบาท เมื่ออายุ 65 ปี ไม่ใช่เรื่องยาก เพียงเริ่มเก็บเงินตั้งแต่อายุ 25 ปี สัปดาห์ละ 3,500 บาท ก็ได้แล้ว!
- ศิลปะแห่งการสัมภาษณ์งาน: ตอบคำถามอย่างไรไม่ให้เป็น ‘น้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง’ แต่เผย ‘กึ๋น’ ที่มีมากกว่าทักษะและประสบการณ์
จากการศึกษาของ McKinsey ในปี 2022 พบว่าพนักงานร้านค้าปลีกมีการลาออกสูงกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ มากกว่า 70% โดยเฉพาะในช่วงโควิด มีการหมุนเวียนของพนักงานค้าปลีก Part-time รายใหม่ๆ อยู่ที่ประมาณ 75% ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่ได้ขยับขึ้น ส่งผลให้ศูนย์การค้าหรือร้านสะดวกซื้อบางแห่งมีพนักงานไม่เพียงพอ
“เราสมัครงานเข้ามาในตำแหน่งแคชเชียร์ แต่เมื่อเข้ามาทำงานจริง ได้ทำทั้งการดูแลสินค้า ทั้งสต๊อกสินค้า และดูแลความปลอดภัยในร้านด้วย เรียกว่าไม่ปลอดภัยอย่างมาก โดยเฉพาะปัจจุบันมีการปล้นและขโมยสินค้าในร้านค้ามากขึ้น จึงเริ่มมองว่าการแบกรับที่มากขึ้นไม่คุ้มค่ากับค่าแรงขั้นต่ำ เราจึงตัดสินใจลาออกจากงาน” Demitrius พนักงานร้านค้าปลีก อายุ17 ปีรายหนึ่งกล่าว
ด้าน Kris Lathan โฆษกของ Walgreens Boots Alliance กล่าวว่า บริษัทควรคำนึงถึงสภาพจิตใจและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน เพื่อแก้ปัญหาและลดอัตราการลาออก
แต่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมค้าปลีกได้ลดต้นทุนองค์กร ด้วยการลดจำนวนพนักงานบริการลง เพราะหลายๆ แบรนด์เริ่มเจอปัญหาทราฟฟิกการเข้ามาซื้อของที่ร้านลดลง พร้อมหันไปให้ความสำคัญกับการขายออนไลน์ และบางแห่งนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยภายในร้าน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันอัตราค่าจ้างเฉลี่ยของพนักงานในภาคค้าปลีกเพิ่มขึ้น 55% ถือว่าเพิ่มขึ้นเร็วกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ เล็กน้อย แต่พนักงานยังคงได้รับค่าจ้างน้อยกว่าค่าเฉลี่ย ซึ่งทำให้ไม่เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น
อ้างอิง: