สำนักวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือ วิจัยกรุงศรี เปิดเผยผลการศึกษาความเป็นไปได้ของการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนในประเทศ โดยแบ่งความเป็นไปได้ออกเป็น 3 กรณี ได้แก่
- กรณีฐาน (Base Case) คือ โอมิครอนกลายมาเป็นสายพันธุ์หลักของการระบาดในเดือนมกราคมแทนที่เดลตา อัตราการแพร่เชื้อที่สูงและอาการที่ไม่รุนแรงทำให้การแพร่เชื้อกระจายไปในวงกว้าง อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยสามารถหายเองที่บ้านได้ จึงทำให้อัตราการเข้าโรงพยาบาลต่ำ (50% ของอัตราการเข้าโรงพยาบาลของสายพันธุ์เดลตา) และอัตราการเสียชีวิตไม่สูงมาก ขณะที่วัคซีนเข็มกระตุ้นสามารถป้องกันการระบาดได้ถึง 85%
- กรณีเลวร้าย (Worst Case) คือ โอมิครอนกลายมาเป็นสายพันธุ์หลักของการระบาด อัตราการแพร่เชื้อที่สูงทำให้การแพร่เชื้อกระจายไปในวงกว้าง แม้วัคซีนเข็มกระตุ้นสามารถป้องกันการระบาดได้ (ประมาณ 85%) แต่ผู้ป่วยที่ไม่ได้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นอาจจะมีอาการรุนแรง (25% ของอัตราการเข้าโรงพยาบาลของสายพันธุ์เดลตา) อัตราการเข้าโรงพยาบาลและจำนวนผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มสูงขึ้นกว่าในกรณีฐาน
- กรณีเลวร้ายที่สุด (Worst Case) คือ โอมิครอนกลายมาเป็นสายพันธุ์หลักของการระบาด อัตราการแพร่เชื้อที่สูง ทำให้การแพร่เชื้อกระจายไปในวงกว้าง การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นไม่สามารถป้องกันการระบาดได้ (ประสิทธิภาพเพียง 25%) และพบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงจำนวนมาก (25% ของอัตราการเข้าโรงพยาบาลของสายพันธุ์เดลตา) ทำให้อัตราการเข้าโรงพยาบาลและจำนวนผู้เสียชีวิตมีแนวโน้มสูงขึ้น
วิจัยกรุงศรีได้ใช้แบบจำลอง SIR เพื่อคาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อพบว่า ในกรณีฐาน จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะเพิ่มขึ้นสูงสุดเกือบ 1.1 หมื่นคนในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ก่อนลดลงอย่างช้าๆ จำนวนผู้เสียชีวิตรายวันสูงสุดที่ประมาณ 50 คนในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ โดยคาดว่าในครึ่งปีแรกจะมีผู้ป่วยโควิดรวมทั้งสิ้น 8.8 แสนคน มีผู้เสียชีวิตประมาณ 5 พันคนในช่วงเดียวกัน
ส่วนในกรณีเลวร้าย จำนวนผู้ติดเชื้อรายวันจะเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่เกือบ 1.6 หมื่นคน และมีผู้เสียชีวิตรายวันสูงสุดที่ประมาณ 100 คน ในกรณีนี้คาดว่าในครึ่งปีแรกจะมีผู้ป่วยโควิดรวมทั้งสิ้น 1.4 ล้านคน
ขณะที่ในกรณีเลวร้ายที่สุดที่วัคซีนเข็มกระตุ้นไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ จะทำให้มีผู้ติดเชื้อรายวันสูงสุดประมาณ 3.2 หมื่นคนในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ และมีจำนวนผู้เสียชีวิตสูงถึง 300 คนต่อวัน โดยในครึ่งปีแรกคาดว่าจะมีผู้ป่วยทั้งสิ้น 3.5 ล้านคน และผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 3 หมื่นคน
แบบจำลองของวิจัยกรุงศรียังพบด้วยว่า ความกังวลต่อระบบสาธารณสุขจากการระบาดของโอมิครอนอาจทำให้การผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่างๆ ของภาครัฐมีแนวโน้มช้ากว่าที่คาดการณ์ก่อนมีการระบาดของโอมิครอนเล็กน้อย โดยในกรณีฐานระดับความเข้มงวดของมาตรการ ณ สิ้นไตรมาสที่สองของปี 2022 คาดว่าจะอยู่ที่ 20% เทียบกับ 15% ก่อนจะมีการระบาดของโอมิครอน ส่วนในกรณีเลวร้ายที่สุด มาตรการควบคุมอาจจะต้องถูกนำกลับมาใช้อีกรอบ โดยความเข้มงวดของมาตรการคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 65% ใกล้เคียงระดับความเข้มงวดของมาตรการในปี 2021
โดยความกังวลต่อการระบาดของโควิดที่เพิ่ม และการผ่อนคลายมาตรการที่ช้าลง อาจชะลอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2022 โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยว
ทั้งนี้ แบบจำลองของวิจัยกรุงศรีพบว่า ในกรณีฐาน ภาคท่องเที่ยวในปี 2022 มีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ก่อนการระบาดของโอมิครอนถึง 7.1% ขณะที่กิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศปี 2022 จะลดลงเพียง 0.9% ส่วนในกรณีเลวร้ายและเลวร้ายที่สุด พบว่า ภาคท่องเที่ยวมีแนวโน้มชะลอตัวลง 21.7% และ 36.8% ตามลำดับ ขณะที่กิจกรรมเศรษฐกิจในประเทศจะลดลงเพียง 2.0% และ 3.2% ตามลำดับ
เมื่อรวมผลของทั้งกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคท่องเที่ยว และกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ พบว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมของไทยในทั้งสามกรณีมีแนวโน้มลดลง 0.6%, 1.4% และ 3.0% ตามลำดับ ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มกลับสู่ระดับก่อนการระบาดของโควิดช้ากว่าที่เคยคาดเอาไว้ 1 ไตรมาส จากไตรมาส 4 ปี 2022 อีก 1 ไตรมาสเป็นไตรมาส 1 ปี 2023
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP