×

รวมความเห็น ‘ผู้ประกอบการร้านอาหาร’ ห้ามนั่งในร้าน 14 วัน เดือดร้อนแค่ไหน อยากฝากอะไรถึงรัฐบาล?

01.05.2021
  • LOADING...
รวมความเห็น ‘ผู้ประกอบการร้านอาหาร’ ห้ามนั่งในร้าน 14 วัน เดือดร้อนแค่ไหน อยากฝากอะไรถึงรัฐบาล?

คำสั่ง ‘ห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้าน’ เริ่มมีผลทันทีตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ รวมเป็นระยะเวลา 14 วัน ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำนวนมากประสบปัญหา ต้องปรับตัว ปรับโมเดลการดำเนินธุรกิจมาเน้นฟู้ดเดลิเวอรี-ซื้อกลับ และปรับวิธีการบริหารพนักงานให้คล่องตัวขึ้น จุดนี้เองที่ทำให้พนักงานร้านอาหารทั่วประเทศก็ต้องประสบปัญหา มีรายได้ลดหลั่นลงไปเช่นกัน

 

THE STANDARD WEALTH รวบรวมความเห็นจากผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารทั้ง เชนใหญ่และรายย่อย เพื่อสะท้อนมุมมองผลกระทบที่เขาเผชิญ และแนวทางการเยียวยาที่พวกเขาอยากนำเสนอไปถึงรัฐบาล

 

 

‘ไมเนอร์’ ยอมรับห้ามนั่งกินในร้าน 14 วัน กระทบยอดขายแน่นอน และเดลิเวอรี ไม่สามารถชดเชยได้ทั้งหมด

 

“มาตรการดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่เซอร์ไพรส์เราอยู่เหมือนกัน” ประพัฒน์ เสียงจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH

 

เขาบอกด้วยว่า “แน่นอน สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้ต่อธุรกิจ เพราะเดิมการให้นั่งในร้านถึงแค่ 2 ทุ่ม ก็กระทบความรู้สึกของผู้บริโภคมากพออยู่แล้ว ด้วยเวลาที่ปิดเร็วขึ้น หากลูกค้าต้องการออกจากร้านทุ่มครึ่ง จึงต้องเริ่มกินตั้งแต่ 6 โมงครึ่ง ถือเป็นเวลาที่เร็วเกินไปสำหรับมื้อเย็น ลูกค้าบางส่วนเลยเลือกที่จะไม่เข้าร้าน ยอดขายร้านที่อยู่ในห้างก็หายไปพอสมควร”

 

ยอดขายจาก 6 จังหวัดใหญ่คิดเป็นรายได้กว่า 60% ของเครือไมเนอร์ ฟู้ด ประพัฒน์ประเมินว่า การปิดให้นั่งในร้าน 14 วันจะทำให้ยอดขายในส่วนของการนั่งกินในร้านหายไป 30-50% เมื่อคิดเป็นตัวเลขทั้งประเทศ แม้ตัวเลขล่าสุดยอดขายในร้านจะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 30% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงจากสัดส่วน 60-70% ก่อนจะเกิดโรคระบาด ขณะที่ยอดขายเดลิเวอรีและซื้อกลับบ้านจะขยับขึ้นมาเป็นยอดขายหลัก 70% แล้วก็ตาม

 

“เราต้องอุดช่องว่างการกินในร้านที่หายไปให้เร็วที่สุด โชคดีว่าเรามีเดลิเวอรีเข้ามาช่วย แต่แน่นอนคงไม่สามารถชดเชยรายได้จากการนั่งกินในร้านได้ทั้งหมด”

 

3 เรื่องที่ต้องเร่งทำ

แม่ทัพไมเนอร์ ฟู้ด ระบุ มี 3 เรื่องที่ต้องเร่งทำหลังจากนี้คือ การหาแพ็กเกจจิ้งที่เหมาะสมสำหรับลูกค้าที่ซื้อกลับบ้านสำหรับแบรนด์ Swensen’s และ Sizzler, การออกโปรโมชันที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด โดยต้องทำราคาให้จับต้องได้, ลดต้นทุนเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป และเสริมมาตรการการป้องกันด้านความปลอดภัยสำหรับพนักงานและลูกค้าให้เข้มข้นขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม แม้ในเดือนเมษายนจะต้องเผชิญกับการระบาดระลอก 3 แต่ยอดขายตั้งแต่วันที่ 1-27 เมษายน 2564 ของไมเนอร์ ฟู้ด กลับโตขึ้นถึง 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในช่วงเดือนเมษายน 2563 มีการล็อกดาวน์ตลอดทั้งเดือน แต่หากเทียบวันที่ 1 มกราคม ถึง 27 เมษายน ยอดขายลดลงราว 18% เนื่องจากปีที่แล้วช่วงก่อนระบาดของโรคโควิด-19 มียอดขายค่อนข้างดี

 

“ส่วนตัวมองว่าคำสั่งห้ามนั่งกินในร้าน 14 วันน่าจะจบแล้ว มั่นใจว่าแนวโน้มของผู้ติดเชิ้อมีตัวเลขที่ลดลง” ประพัฒน์กล่าว

 

กระนั้น ประพัฒน์ก็ย้ำว่า สิ่งที่ภาครัฐควรทำอย่างเร่งด่วนที่สุดมีสองเรื่องคือ ความรวดเร็วในการฉีดวัคซีนที่เป็นดั่งแสงสว่างปลายอุโมงค์ของประเทศ ซึ่งวัคซีนนั้นต้องมาพร้อมประสิทธิภาพที่ดีด้วย โดยควรเร่งฉีดให้ได้ 70% ของประชากร เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ถ้าทำได้เร็วธุรกิจก็มีโอกาสฟื้นตัวได้เร็ว และอีกเรื่องคือความชัดเจนในเรื่องของการเปิดรับนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ 

 

 

‘ฟู้ดแพชชั่น’ มองแผนเดลิเวอรี แม้ช่วยพยุงยอดขาย แต่ไม่เซ็กซี่เหมือนเดิม

 

บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการสร้างโอกาสทางการตลาด กลุ่มธุรกิจอาหาร ฟู้ดแพชชั่น กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า คำสั่งห้ามนั่งกินในร้านถือเป็นเรื่องที่ไม่เซอร์ไพรส์ เพราะเราคิดไว้อยู่แล้วจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หลังจากพบผู้ติดเชื้อเข้าสู่หลักพัน

 

บุณย์ญานุช ประเมินจาก 3 ปัจจัยหลักคือ ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่แตะหลักพัน, มองการจัดการสถานการณ์ของต่างประเทศที่แม้จะคุมได้ดี แต่ที่สุดแล้วก็ต้องกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง และสุดท้ายคือการเรียนรู้ของรัฐบาลที่ปล่อยให้ประชาชนเดินทางในช่วงสงกรานต์ ซึ่งเชื่อว่าช่วงหยุดยาวในต้นเดือนพฤษภาคมคงไม่อยากให้เดินทางเยอะอีกแล้ว 

 

“ยอดขายในเดือนเมษายนลดลง 50% รอบนี้มันหนักมาก เพราะผู้บริโภคกลัวกันจริงๆ โดยตัวเลข 6 จังหวัดตามคำสั่งนั้นคิดเป็นยอดขาย 70-80% ของฟู้ดแพชชั่นเลยทีเดียว”

 

แม้สถานการณ์รอบนี้จะดูหนักหนา แต่ในมุมมองบุณย์ญานุชกลับบอกว่า “ชิลขึ้นเยอะมาก” เพราะได้มีการเตรียมกับไว้หมดแล้วโดยการเปิดตัวแคมเปญ ‘มาตรGONเยียวยา’ ได้แก่ GON ช่วยครึ่ง ไทยฌานา หม้อชนะ ก.333 เรารักกัน และ GON ไม่ทิ้งกัน ซึ่งหมดเป็นแคมเปญที่จัดขึ้นมาเพื่อกระตุ้นยอดขายเดลิเวอรี ซึ่งเพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา

 

ปัจจุบันยอดขายเดลิเวอรีของเครือฟู้ดแพชชั่น ซึ่งประกอบไปด้วย แบรนด์บาร์บีคิวพลาซ่า, จุ่มแซบฮัท, ฌานา, โภชา, เรดซัน และหมูทอดกอดคอ 15% คาดว่าแคมเปญดังกล่าวจะช่วยเพิ่มยอดสั่งซื้อเป็น 30% ทว่า ส่วนที่จะหายไปแน่นอนคือการนั่งกินในร้านซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 70%

 

“อย่างหนึ่งที่เราสังเกตได้คือ กำลังซื้อในรอบนี้กับปีที่แล้วแตกต่างกันมากๆ อย่างการซื้อกลับบ้าน แม้ยอดซื้อต่อบิลไม่ได้ลดลง แต่จำนวนลูกค้าที่เดินเข้ามากลับลดลง ขณะที่เดลิเวอรีก็ไม่ได้เซ็กซี่เหมือนเดิมอีกแล้ว”

 

พนักงานคือหัวใจสำคัญ

ขณะเดียวกันในแง่ของหลังบ้านก็ได้มีการเตรียมพร้อมแล้ว ทั้งการจัดการวัตถุดิบ ตลอดจนมีการลงทุนเพิ่มเติมในเรื่องของความสะอาด คือการซื้อระบบฉีดพ่นทำความสะอาดด้วยน้ำยาแบบ Food Grade หลังจากปิดร้าน แม้จะทำให้ต้นทุนเพิ่มหลักล้าน แต่นี่เป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะจะสร้างความมั่นใจให้กับพนักงานและลูกค้า

 

นอกจากนี้ในมุมของพนักงานนั้นได้มีการซื้อประกันโควิด-19 ที่ครอบคลุมพนักงานในร้านทั้ง 2,000 คน รวมไปถึงผ่อนปรนให้พนักงานสามารถปรุงอาหารในร้านได้ เพื่อลดการออกไปสัมผัสความเสี่ยงด้านนอก

 

“หนึ่งในเรื่องที่เราภูมิใจมากที่สุดเกี่ยวกับพนักงานคือ ในปีที่ผ่านมาแม้ยอดขายของเราจะหายไปกว่าครึ่ง แต่เราก็ยังให้โบนัส ขึ้นเงินเดือน ตลอดจนคืนเงินเดือนให้กับพนักงานในช่วงที่ต้อง Leave Without Pay”

 

อย่างไรก็ตาม เดิมนั้นฟู้ดแพชชั่นตั้งเป้ายอดขายในปีนี้ต้องการโต 3-5% แต่ด้วยสถานการณ์ต่างๆ ทำให้หากจบปี 2564 ได้เท่ากับปี 2563 คือมีรายได้ 2,900 ล้านบาท และกำไรหลักร้อยล้าน ก็เป็นสิ่งที่บุณย์ญานุชพอใจที่สุดแล้ว 

 

 

‘Drop by Dough’ ประเมินห้ามนั่งในร้าน 14 วัน รายได้หาย 20% วอนรัฐช่วยเหลือ เยียวยาพนักงาน

 

ณรงค์ฤทธิ์ ศรีตลานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้งคาเฟ่ขายโดนัทชื่อดัง ‘Drop by Dough’ เปิดเผยข้อมูลกับ THE STANDARD ว่า จากผลกระทบการสั่งปิดร้านอาหาร ‘ห้ามนั่งรับประทานในร้าน’ เป็นระยะเวลา 14 วัน ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 พฤษภาคมนี้ ส่งผลกระทบถึงรายได้และผลประกอบการของร้านอย่างเห็นได้ชัด 

 

โดยคาดว่ารายได้ของร้านน่าจะหดหายไปถึงประมาณ 20% จากช่วงปกติที่มียอดออร์เดอร์เฉลี่ยต่อวันที่ 100-150 รายการ ก็น่าจะลดลงเหลือราว 80-100 ออร์เดอร์ต่อวัน (ไม่นับเป็น Basket Size แต่นับรวมรายการสั่งอาหารที่เกิดขึ้น) นอกจากนี้ก็ยังทำให้ร้านต้องปรับรูปแบบการทำงานของพนักงาน และกำลังการผลิตในแต่ละรอบด้วย

 

“หลักๆ ที่แน่นอนเลยก็คือ ลูกค้าจะเดินทางมาที่ร้านน้อยลง ซึ่งเราก็จะต้องทำงานกันหนักมากขึ้นเพื่อโปรโมตให้ลูกค้ายังสั่งขนมอยู่ นอกจากนี้ก็มีประเด็นการบริหารครัวการผลิต เพราะจากเดิมในช่วงสถานการณ์ปกติ เราจะผลิตสองรอบคือเช้าและบ่าย แต่เมื่อต้องปิดหน้าร้านจึงไม่สามารถให้บริการนั่งรับประทานที่ร้านได้ตามปกติ ปัญหาคือเราก็จะต้องสแตนด์บายที่ครัวตลอดเวลา ซอยรอบการผลิตให้ย่อยและถี่มากขึ้นเพื่อให้พร้อมตอบสนองลูกค้า

 

“โดยปกติแล้วช่องทางของรายได้ในช่วงสถานการณ์ปกติจากออฟไลน์ (วอล์กอิน) และออนไลน์ (ฟู้ดเดลิเวอรี) จะอยู่ที่ 50:50 เท่าๆ กัน ซึ่งตอนนี้จะต้องเน้นที่ออนไลน์เป็นหลักไปเลย แต่อีกแง่หนึ่งร้านของเราอาจจะได้รับผลกระทบในลักษณะที่ ‘ไม่หนักมากเท่าไร’ เพราะเราเริ่มต้นธุรกิจช่วงโควิด-19 ระบาดใหม่ๆ ในเดือนธันวาคม 2019 ทำให้ต้องปรับตัว ปรับรูปแบบการดำเนินงานมาตลอด”

 

ณรงค์ฤทธิ์ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า เนื่องจากโปรดักต์ของ Drop by Dough เป็น ‘ขนม’ จึงทำให้สามารถจัดส่งผ่านบริการฟู้ดเดลิเวอรีได้ง่ายกว่าร้านอาหารทั่วๆ ไป ประกอบกับกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนทำงานทั่วๆ ไปและคนรุ่นใหม่ จึงทำให้คุ้นเคยกับแอปพลิเคชันฟู้ดเดลิเวอรีอยู่แล้ว ตรงนี้จึงถือเป็นข้อได้เปรียบที่อาจทำให้ร้านของพวกเขาได้รับผลกระทบน้อยกว่า

 

อย่างไรก็ดีสิ่งที่เขากังวลมากกว่าคือ ‘พนักงานของร้าน’ เนื่องจากส่วนใหญ่ล้วนแล้วแต่ได้รับผลกระทบจากการต้องปรับวัน-เวลาทำงานของร้าน และมองว่า ‘รัฐบาล’ ควรจะเข้ามาสนับสนุนกลุ่มพนักงานร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบทั้งหมด รวมถึงส่งเสริมให้ได้รับการฉีดวัคซีนเป็นกลุ่มต้นๆ ด้วย เนื่องจากมองว่าภาคการบริการและธุรกิจร้านอาหารถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย อีกทั้งบุคลากรยังต้องเผชิญความเสี่ยงในการพบเจอผู้คนจำนวนมากอีกต่างหาก

 

“ผมเครียดเพราะนึกถึงใจพนักงานที่เขาต้องหยุดทำงาน รู้สึกไม่มั่นคง รายได้ลดลง อย่างตอนนี้ที่ร้านของผมก็ต้องจัดรูปแบบการทำงานพนักงานใหม่ เวียนวันและเวลากันเข้ามาทำงาน พยายามลดค่าใช้จ่ายเพื่อให้ร้านยังดำเนินต่อไปได้ 

 

“ผมอยากให้รัฐบาลช่วยเหลือ เยียวยาพนักงานร้านอาหารทุกร้าน ยังแอบคิดเล็กๆ ว่าเราทำงานบริการ ร้านอาหารเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศให้ดำเนินต่อไปได้ ฉะนั้นการได้รับวัคซีนจึงถือเป็นสิ่งสำคัญ พนักงานร้านอาหารควรเป็นหนึ่งในบุคลากรกลุ่มที่ได้รับการฉีดวัคซีนเป็นลำดับแรกๆ เนื่องจากต้องปฏิบัติหน้าที่ พบเจอผู้คนเยอะ”

 

ปัจจุบัน Drop by Dough เปิดให้บริการ 3 สาขา ประกอบด้วย สาขาสุขุมวิท 101/2, สาขาโรงแรม JOSH Hotel อารีย์ และ Kiosk ที่สาขา EmQuartier (ชั้น M) 

 

 

“รัฐควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่ใช่แค่แจกเงิน” เสียงสะท้อน ‘เผ็ดเผ็ด’ ถึงรัฐบาล วอนช่วย SMEs ผู้ประกอบการร้านอาหาร

 

ณัฐพงศ์ แซ่หู ผู้ร่วมก่อตั้งร้านอาหารเผ็ดเผ็ด เปิดเผยกับ THE STANDARD ว่า มาตรการห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้าน 14 วันน่าจะทำให้ร้านของพวกเขามีรายได้ที่หายไปถึงราวๆ 20% โดยชี้ว่าร้านอาหารแต่ละประเภทก็จะได้รับผลกระทบที่แตกต่างกันออกไป 

 

อย่างไรก็ดี เขาเชื่อว่าคำสั่งซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 พฤษภาคม เป็นคำสั่งที่ประกาศออกมา ‘ช้าเกินไป’ ซึ่งรัฐบาลควรจะต้องประกาศใช้มาตรการออกมาให้เร็วกว่านี้ โดยเฉพาะในช่วงที่คลัสเตอร์ทองหล่อระบาดใหม่ๆ ในช่วงเริ่มต้นโควิด-19 ระลอก 3

 

“สำหรับผลกระทบที่มีต่อรายได้ร้านของเราน่าจะอยู่ที่ระดับ 20% เพราะเผ็ดเผ็ดถือว่าปรับตัว รับมือมาพอสมควรตั้งแต่ปีที่แล้วที่รัฐบาลสั่งปิดร้านอาหารไม่ให้นั่งรับประทานในร้านแล้ว โดยที่ปัจจุบันสัดส่วนช่องทางรายได้ในช่วงปกติที่ยังไม่เกิดการระบาดจึงมาจากทั้งสั่งกลับบ้าน (ฟู้ดเดลิเวอรี, โทรสั่งแล้วมารับที่หน้าร้าน) จะอยู่ที่ 40% ส่วนที่รับประทานในร้านจะอยู่ที่ 60% แต่ในช่วงที่เกิดการระบาดใหม่ๆ สัดส่วนดังกล่าวเปลี่ยนมาอยู่ที่ 70% และ 30% ตามลำดับ

 

“ขณะที่ร้านอาหารทั่วๆ ไป ผมเชื่อว่ามาตรการนี้จะกระทบกับรายได้ของร้านที่ระดับ 30-40% โดยเฉลี่ย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเนื่องจากรูปแบบร้านอาหารแต่ละประเภทก็ไม่เหมือนกัน ร้านแนวบุฟเฟต์จึงอาจจะได้รับผลกระทบหนักที่สุดที่ระดับ 80%

 

“ถามผม ผมมองว่ารัฐบาลสั่งช้าและคิดช้าไปด้วยซ้ำ จริงๆ ควรจะต้องสั่งปิด (ห้ามนั่งรับประทานในร้าน) ตั้งแต่ช่วงที่คลัสเตอร์ทองหล่อระบาดใหม่ๆ แล้ว ปิดแค่ 7 วันก็พอ และน่าจะระงับผลกระทบที่เกิดขึ้นได้ดีกว่านี้ แต่กลับกลายเป็นว่าปล่อยให้ปัญหาดำเนินมาถึงจุดเรื้อรัง ยากเกินแก้ไข แล้วถึงมาสั่งปิด”

 

ทั้งนี้ณัฐพงศ์ได้เสนอว่า ภาครัฐควรจะให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs และร้านอาหารให้ทั่วถึง โดยเน้นไปที่ 3 ข้อหลักๆ ประกอบด้วย

 

  1. ผ่อนผันยืดระยะเวลาการจ่ายภาษีออกไป
  2. ลดการจ่ายเงินสมทบประกันสังคมของพนักงาน
  3. ให้ความช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบธุรกิจ SMEs อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการจัดหาแหล่งเงินทุนสำรองในระดับที่ ‘เหมาะสม’ 

 

“อีกส่วนหนึ่งผมมองว่า รัฐควรมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ดีกว่านี้ ไม่ใช่แค่การแจกเงิน โดยเฉพาะฝั่งธุรกิจ SMEs ซึ่งจะต้องดำเนินการจัดหาแหล่งเงินทุนมาให้ SMEs ด้วย เพราะทุกๆ ครั้งที่เกิดการระบาดของโควิด-19 กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ไม่เคยได้รับการช่วยเหลือในส่วนนี้เลย หรืออาจจะเป็นจำนวนเงินที่น้อยมากๆ

 

“ถ้าจะออกคำสั่งให้ร้านอาหารปิดห้ามรับประทานในร้าน 14 วัน ก็ต้องบอก ‘แลนด์ลอร์ด’ ให้หยุดเก็บค่าเช่าที่ บอก ‘แบงก์’ ให้หยุดคิดดอกเบี้ยด้วย รายจ่ายมันยังเดินต่อไปสวนทางกับรายรับ ‘มันไม่ยุติธรรม’”

 

 

‘เฝอหม้อไฟวงเวียนใหญ่’ ปิดให้บริการชั่วคราว 14 วัน หลังแบกต้นทุนไม่ไหว จี้รัฐสั่ง ‘Landlord’ และ ‘ธนาคาร’ หยุดพักชำระหนี้ ค่าเช่า เพื่อความเท่าเทียม

 

แม้จะไม่สามารถให้บริการลูกค้าที่เดินทางมานั่งทานในร้านอาหารได้เป็นระยะเวลา 14 วัน แต่ปัญหาหลักที่สำคัญที่สุดคือ ‘ค่าเช่าที่’ และ ‘ดอกเบี้ย’ จากเงินกู้ต่างๆ ยังคงเป็น ‘ภาระ’ ที่ผู้ประกอบการต้องแบกรับต่อไปสวนทางกับรายได้ 

 

ซ้ำร้ายส่วนแบ่งรายได้หรือ GP ที่พวกเขาจะต้องจ่ายให้กับแพลตฟอร์มฟู้ดเดลิเวอรีเจ้าต่างๆ ที่เริ่มต้นที่ 30% ก็ถือเป็นเงินจำนวนที่สูงพอสมควร ยิ่งเมื่อคำนวณดูแล้ว รายได้ที่พวกเขาจะได้รับเข้ากระเป๋าสตางค์ตัวเองก็เป็นส่วนต่างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

 

ประสิทธิ์ จิตฤทธิไกร เจ้าของร้านอาหารเฝอหม้อไฟ วงเวียนใหญ่ ร้านสุกี้สไตล์เวียดนามชื่อดังให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า ร้านของเขาจำใจต้องปิดให้บริการในช่วงที่มาตรการห้ามให้นั่งทานในร้านประกาศใช้ 14 วัน เนื่องจากไม่สามารถแบกรับต้นทุนต่างๆ ได้ เช่นเดียวกันกันช่องทางเดลิเวอรีที่จะถูกหักส่วนแบ่งรายได้ไปมากถึง 30% ซึ่งเขาประเมินไว้แล้วว่า ‘ได้ไม่คุ้มกับต้นทุนที่ต้องจ่ายออก’

 

“รอบที่แล้ว ผมมีบทเรียนนมาแล้ว เราเปิดทุกวัน (ให้บริการแบบเดลิเวอรีหรือสั่งกลับบ้าน) เจ็บทุกวัน เข้าเนื้อทุกวัน อย่างถ้าคิดแบบโดยเฉลี่ย ร้านอาหารทุกร้านจะมียอดขายแบบ Take Away และเดลิเวอรีประมาณ 10-20% จากยอดขายรวมทั้งหมด ยิ่งโดนหัก GP อีก 30% จากแพลตฟอร์มต่างๆ อีกด้วย กำไรผมแทบไม่มีเลย รายได้ยังไม่พอค่าแรงลูกน้องด้วยซ้ำ

 

“ตอนนี้ที่ผมทำได้จึงต้องเยียวยาลูกน้องของเราให้ดีที่สุด ให้ที่พักฟรี อยู่ฟรี ให้กินฟรี ช่วยได้มากที่สุดเท่านี้ ค่าแรงไม่มีให้เขา เราประชุมกับพนักงานทุกคนแล้ว เขาเข้าใจผมหมด บอกผมว่า “ถ้าลูกพี่ไหว ผมก็ไหว” ซึ่งผมก็บอกเขาไว้ว่า หากผลกระทบรุนแรง เราอาจจะต้องปิดนานกว่าที่ประกาศไว้ที่ 14 วันด้วยซ้ำ

 

“แต่ผมมองแบบนี้ ถ้ารัฐบาลจะออกมาตรการแบบนี้ ก็ต้องสั่งปิดให้หมดทุกสถานที่ อาจจะยกเว้นซูเปอร์มาร์เก็ต เนื่องจากคนยังต้องไปจับจ่ายใช้สอยซื้อสินค้าอุปโภค บริโภค แล้วก็ต้องสั่งกลุ่ม Landlord (ผู้ให้เช่าที่) และธนาคารด้วยว่าให้ผ่อนปรนการเก็บค่าเช่าที่และดอกเบี้ยจากการกู้ยืม ให้มันเกิดความเท่าเทียมกันในทุกฝ่าย

 

“อย่างของผม ค่าเช่าที่ก็ยังต้องจ่ายต่อไป ดอกเบี้ยก็หมุนไปเรื่อยๆ สวนทางกับรายได้ (ปิดกิจการชั่วคราว 14 วัน) หรืออาจจะออกเป็นนโยบายลดค่าเช่าที่ 50% รวม 2 เดือน หรือให้ฟรี 1 เดือนก็ได้ ผมมองว่าพอมาตรการมันออกมาแบบนี้ (คุมแต่ฝั่งร้านอาหาร) มันไม่ยุติธรรมนะ 

 

“เรามีค่ายใช้จ่ายที่ยังเดินต่อไป แต่รายได้ไม่เดินตามไปด้วย มันก็เดือดร้อน ลำบาก พวกผมคนทำร้านอาหาร และผู้ประกอบการ SMEs นี่แหละที่จะตายกันหมด พวกเขาไม่ตายกันหรอก (กลุ่มผู้ให้เช่าที่และผู้ปล่อยสินเชื่อ)”

 

ทั้งนี้ ในมุมมองของประสิทธิ์ เขาเชื่อว่าหากรัฐบาลไม่ออกคำสั่งห้ามนั่งทานในร้าน  14 วัน ผลลัพธ์ก็คงจะไม่ต่างกันหากปล่อยให้นั่งทานในร้านได้ต่อไป เนื่องจากบรรยากาศในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกสามก็ค่อนข้างเงียบเหงา และคนค่อนข้างระมัดระวังตัวอยู่แล้ว ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ขึ้นนั้น ร้านของเขามีสัดส่วนลูกค้าที่เดินทางมานั่งทานในร้านหายไปถึง 60-70% เลยทีเดียว ขณะที่เพื่อนผู้ประกอบการร้านอาหารบางราย มีลูกค้าหายไปมากถึง 90% 

 

 

“รัฐมักจะประกาศโดยไม่คิดถึงผลกระทบ” เสียงสะท้อนจาก ‘ต่อ’ เจ้าของร้าน Penguin Eat Shabu ถึงคำสั่งห้ามกินในร้าน ที่แจ้งล่วงหน้าแค่ 1 วัน 

 

“ครั้งนี้หนักกว่า 2 ครั้งแรก เพราะลูกค้ารู้ว่ายืดเยื้อแน่นอน เงินในกระเป๋าน้อยลง ความสนุกสนานในการจับจ่ายออนไลน์ก็ลง งบของร้านก็ร่อยหรอลงหลังจากใช้ไป 2 ก๊อกแล้ว” ต่อ-ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี เจ้าของร้าน Penguin Eat Shabu กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH หลังจากถูกถามว่า มองผลกระทบอย่างไร หลังจากมีคำสั่งห้ามนั่งกินอาหารในร้านตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง 

 

ธนพงศ์ระบุว่า ประเมินไว้แล้วว่าคำสั่งนี้จะเกิดขึ้น หลังจากรัฐไม่ได้มีคำสั่งห้ามไม่ให้เดินทางในช่วงสงกรานต์ ทั้งรู้อยู่แล้วว่าอยู่ในสถานการณ์เสี่ยง นับเป็นการจัดการของรัฐที่หละหลวมโดยไม่มีนโยบายอะไรมารองรับเลย 

 

“รัฐมักจะประกาศโดยไม่คิดถึงผลกระทบ ทั้งๆ ที่รู้สถานการณ์อยู่แล้ว ควรแจ้งล่วงหน้า 5-7 วัน หรืออย่างน้อย 3-4 วัน เพื่อให้ธุรกิจร้านอาหารได้มีเวลาเตรียมตัวและจัดการวัตถุดิบ จะช่วยให้เราสามารถประหยัดได้เยอะมากๆ แต่ก็อย่างที่เห็น การประกาศล่วงหน้าแค่ 1 วัน ไม่เพียงพอที่จะให้เราได้เตรียมตัว”

 

สิ่งที่ร้าน Penguin Eat Shabu จะต้องปรับตัวคือ การนำวัตถุดิบที่มีอยู่มาขายในช่องทางออนไลน์เท่าที่จะทำได้ รวมไปถึงอาจจะเพิ่มแบรนด์ใหม่สำหรับขายผ่านทางออนไลน์โดยเฉพาะ ซึ่งต้องทำราคาให้เข้าถึงได้ แต่กระนั้นธนพงศ์ก็รู้ดีว่า ยอดขายที่เข้ามาไม่เพียงพอที่จะครอบคลุมต้นทุนได้ทั้งหมด เพราะยอดขายออนไลน์คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 15-20% เท่านั้น

 

นั่นหมายความว่าในช่วงอย่างน้อย 14 วันนับจากนี้ ยอดขายหลักกว่า 80-90% ที่มาจากการนั่งกินในร้านจะหายไปเลย มากสุดธนพงศ์ประเมินว่า ยอดขายออนไลน์จะอยู่ที่สัดส่วน 30-40% ซึ่งก็ยังไม่เพียงพอที่จะครอบคลุมต้นทุนอยู่ดี 

 

ขณะเดียวกันกำลังซื้อก็ลดลงเป็นอย่างมาก ในเดือนมีนาคมยอดขายลดลง 40-50% ส่วนเดือนเมษายนยอดขายลดลงมากกว่านั้น ด้วยลูกค้ามีเงินน้อยลง จึงประหยัดค่าใช้จ่ายกันมากขึ้น อีกส่วนหนึ่งก็ไม่กล้าที่จะเดินมากินที่ร้าน

 

“เราคิดว่า 14 วันไม่พอแน่นอน อาจจะยืดเยื้อเป็นเดือน ซึ่งถ้าถึงเวลานั้นเราอาจจะต้องพิจารณาที่จะปิดร้านถาวร ที่ไม่ใช่แค่การปิดร้านแบบชั่วคราว” ธนพงศ์กล่าวพร้อมกับเสริมว่า ปัจจุบันร้าน Penguin Eat Shabu มีทั้งสิ้น 8 สาขา หากถึงจุดที่แย่ที่สุดอาจจะต้องปิด 2-3 สาขาแบบถาวร เพื่อนำเงินไปประคองธุรกิจในสาขาอื่นๆ เพราะการระบาด 2 ครั้งที่ผ่านมาก็เจ็บมามากพอแล้ว 

 

“ตอนนี้ขออย่างเดียว อยากให้รัฐช่วยเป็นตัวกลางในการคุยกับเจ้าของพื้นที่เช่าให้ช่วยลดตามสัดส่วนยอดขายที่หายไป เพราะตั้งแต่คลายล็อกดาวน์ก็แทบจะไม่มีห้างไหนเลยที่จะช่วยลดค่าเช่า ส่วนใหญ่จ่ายเต็มด้วยซ้ำ ยกเว้นบางร้านที่สามารถเจรจาได้”

 

นอกจากนี้ก็อยากให้ธุรกิจ SMEs สามารถเข้าถึงมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (​Soft Loan) จากธนาคารพาณิชย์ได้บ้าง แม้จะเข้าใจดีว่าธนาคารเองก็คงไม่อยากให้เกิด NPL หรือหนี้เสีย จากการปล่อยกู้ให้กับธุรกิจบริการอย่างร้านอาหาร ซึ่งไม่มีหลักทรัพย์อะไรที่จะเข้าไปค้ำประกัน

 

“เรามองสถานการณ์จะเลวร้ายไปจนถึงสิ้นปี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความไม่ชัดเจนของภาครัฐ โดยเฉพาะการฉีดวัคซีนที่มีอัตราที่ต่ำมาก” ธนพงศ์กล่าว

 

ภาพประกอบ: กริน วสุรัฐกร

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X