×

วิจัยเผย ปัญหามลพิษในอินเดียคร่าชีวิตประชาชนกว่า 2.3 ล้านรายในปี 2019

19.05.2022
  • LOADING...
มลพิษในอินเดีย

ผลการวิจัยจากวารสารการแพทย์ The Lancet เปิดเผยว่า มีประชาชนชาวอินเดียกว่า 2.3 ล้านคนที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากปัญหามลพิษในประเทศเมื่อปี 2019

 

รายงานล่าสุดจาก Lancet Commission ระบุว่า เฉพาะผู้ที่เสียชีวิตจากปัญหามลพิษในอากาศมีสูงถึงเกือบ 1.6 ล้านคน และมากกว่า 500,000 คนเสียชีวิตจากมลพิษทางน้ำ โดยหากมองตัวเลขในภาพรวมทั่วโลกแล้ว จำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากปัญหามลภาวะอยู่ที่ราว 9 ล้านคน ซึ่งอินเดียถือว่าเป็นชาติที่มีอัตราการเสียชีวิตจากปัญหาดังกล่าวสูงสุด โดยในแต่ละปีจะมีผู้เสียชีวิตจากปัญหาฝุ่นพิษในอากาศมากกว่า 1 ล้านคนเลยทีเดียว

 

แม้ว่าปัจจุบันยอดผู้เสียชีวิตจากปัญหามลพิษที่เป็นกลุ่มคนยากจนขั้นรุนแรงจะลดน้อยลง แต่ผลการวิจัยพบว่า อัตราการเสียชีวิตจากมลพิษทางอุตสาหกรรม มลพิษทางอากาศภายนอก และมลพิษทางเคมีกลับมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น

 

รายงานระบุว่า ปัญหามลพิษในอากาศ (ซึ่งนับรวมทั้งปัญหามลภาวะภายในครัวเรือนและจากบรรยากาศด้านนอก) ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตมากถึง 6.7 ล้านคนทั่วโลกในปี 2019 ส่วนผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางน้ำอยู่ที่ 1.4 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตจากภาวะเป็นพิษจากสารตะกั่วที่ราว 900,000 คน

 

ผลการศึกษาพบว่า มากกว่า 90% ของยอดผู้เสียชีวิตจากปัญหามลภาวะล้วนมาจากประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง โดยอินเดียครองอันดับสูงสุดที่ 2.36 ล้านคน ตามมาด้วยจีน ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 2.1 ล้านคน

 

หากย้อนกลับไปในปี 2000 ความสูญเสียอันเนื่องมาจากปัญหามลภาวะแบบดั้งเดิมคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 3.2% ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของอินเดีย แต่ภายหลังจากนั้นอัตราการเสียชีวิตจากปัญหาดังกล่าวก็ได้ปรับตัวลดลงเรื่อยๆ ซึ่งช่วยลดความเสียหายทางเศรษฐกิจได้อย่างมาก แต่ถึงเช่นนั้นตัวเลขความเสียหายก็ยังคงแกว่งตัวอยู่ที่เส้น 1% ของ GDP

 

ในระหว่างปี 2000-2019 ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่เกิดจากปัญหามลพิษรูปแบบใหม่ เช่น ฝุ่นพิษในบรรยากาศ สารเคมี และพิษจากตะกั่ว ได้ดีดตัวสูงขึ้น ซึ่งผู้เชี่ยวชาญประมาณการว่าอาจสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจอินเดียมากถึง 1% ของ GDP

 

ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าว รัฐบาลอินเดียได้พยายามที่จะควบคุมปัญหามลพิษทางอากาศผ่านโครงการ Pradhan Mantri Ujjwala Yojana ซึ่งเป็นแผนแม่บทที่ริเริ่มโดย นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย เมื่อปี 2016 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือสตรียากจนให้มีก๊าซหุงต้มใช้งานในครัวเรือน แต่ถึงเช่นนั้นก็มิอาจแก้ปัญหาได้ทั้งหมด

 

“อินเดียพยายามพัฒนาเครื่องมือและชุดอำนาจในการกำกับดูแล เพื่อบรรเทาปัญหาแหล่งที่มาของมลพิษ แต่ยังขาดระบบศูนย์กลางที่จะใช้ขับเคลื่อนความพยายามให้บรรลุผลสำเร็จอย่างถาวร” รายงานระบุ

 

ทั้งนี้ ผลการศึกษายังระบุด้วยว่า พื้นที่ 93% ของอินเดียยังมีปริมาณมลพิษอยู่สูงกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก (WHO) โดยรายงานเมื่อปีที่ผ่านมาเปิดเผยว่า ประชากรมากกว่า 480 ล้านคนในตอนเหนือของอินเดียต้องเผชิญกับมลพิษทางอากาศในระดับที่รุนแรงที่สุดในโลก

 

ในเดือนกันยายนปีที่แล้ว ข้อมูลจากสถาบันนโยบายพลังงานแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโกชี้ว่า หากมลพิษทางอากาศในเขตเมืองหลวงลดลงมาอยู่ในระดับมาตรฐานของ WHO ที่ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ประชาชนในนครเดลีจะมีอายุยืนมากขึ้นถึง 10 ปี

 

อนึ่ง ในปี 2019 ความเข้มข้นของฝุ่นละอองในอากาศเฉลี่ยของอินเดียอยู่ที่ 70.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งสูงที่สุดในโลก

 

ภาพ: Raj K Raj / Hindustan Times via Getty Images

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising