×

ผลศึกษาเบื้องต้นศิริราชเผยสูตรวัคซีนฉีดไขว้ SV+AZ ภูมิคุ้มกันสูงกว่าฉีดชนิดเดียวกัน ส่วนสูตร SV+SV+AZ กระตุ้นภูมิคุ้มกันดีกว่า Pfizer 2 เข็ม

โดย THE STANDARD TEAM
20.08.2021
  • LOADING...
Cross vaccination formula

วันนี้ (20 สิงหาคม) ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผลการวิจัยเบื้องต้นของการฉีดวัคซีนไขว้ และการฉีดกระตุ้นสำหรับโควิดสายพันธุ์เดลตา โดยการวิจัยดังกล่าวจัดทำโดยศูนย์วิจัยคลินิก ศิริราชพยาบาล ซึ่งทำการวิจัยใน 2 โครงการ คือ โครงการที่ 1 ฉีดเข็ม 1 และเข็ม 2 ด้วยวัคซีนต่างชนิดกันในผู้ที่แข็งแรงทั่วไป และโครงการที่ 2 ฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 ในผู้ที่ฉีดวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็ม ในบุคลากรทางการแพทย์ โดยใช้วัคซีนที่มีอยู่ในประเทศไทยขณะนี้ คือ Sinovac (SV), AstraZeneca (AZ), Sinopharm (SP) และมีการเปรียบเทียบกับการฉีดวัคซีน Pfizer (PZ) ด้วย 

 

สำหรับผลการตรวจภูมิคุ้มกันต่อตำแหน่งจำเพาะของโปรตีนสไปก์ของเชื้อก่อโควิด วัดโดยวิธี CMIA โดยใช้เครื่องแอบบอต ของการฉีดวัคซีนสลับชนิด ผลปรากฏว่า 

 

  • สำหรับผู้ที่ฉีด SV+AZ พบว่าภูมิคุ้มกันขึ้นจาก 24.36 เป็น 1,354 หรือสูงขึ้นจากเข็มแรก 98.73 เท่า 
  • สำหรับผู้ที่ฉีด AZ+SV พบว่าภูมิคุ้มกันขึ้นจาก 147.50 เป็น 222.47 หรือสูงขึ้นจากเข็มแรก 3.27 เท่า 

 

“เพราะฉะนั้นถ้าเริ่มด้วย SV แล้วตามด้วย AZ จะดีกว่าเริ่มด้วย AZ แล้วตามด้วย SV อย่างมาก ถ้าเปรียบเทียบกับการฉีดวัคซีนชนิดเดิม 2 เข็ม จะเห็นว่าภูมิคุ้มกันจะสูงไม่เท่าการฉีดสลับซึ่งได้ผลดีกว่า แต่อย่างไรก็ตามยังได้ภูมิคุ้มกันที่น้อยกว่าการฉีด Pfizer 2 เข็ม แต่จะได้สูงกว่าผู้ที่หายป่วยจากโควิดช่วงการระบาดปลายปี 2563 ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีสายพันธุ์เดลตา” ศ.พญ.กุลกัญญากล่าว 

 

ขณะที่ผลการวิจัยการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็มที่ 3 ผลจากการตรวจภูมิคุ้มกันในวิธีเดียวกัน ผลปรากฏว่า 

  • สำหรับผู้ที่ฉีด SV+SV และฉีดกระตุ้นด้วย AZ เป็นเข็มที่ 3 พบว่า ภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นจาก 52.20 เป็น 1,558.79 
  • สำหรับผู้ที่ฉีด SV+SV และฉีดกระตุ้นด้วย Sinopharm (SP) พบว่าภูมิคุ้มกันเพิ่มจาก 44.92 เป็น 218.90 

 

“เพราะฉะนั้นการกระตุ้นก็ต้องเลือกว่ากระตุ้นด้วยอะไรดี สรุปแล้ว AZ ในกรณีนี้เป็นตัวกระตุ้นที่ดี เป็นเข็มที่ 2 ก็ดี เป็นเข็มที่ 3 ก็ดี” ศ.พญ.กุลกัญญากล่าวสรุป

 

นอกจากนี้ ศ.พญ.กุลกัญญา ยังเปิดเผยถึงผลการตรวจภูมิต่อต้านไวรัสที่มีชีวิต จำเพาะต่อสายพันธุ์เดลตา วัดโดยวิธี PRNT50 โดยนำไวรัสที่อยู่ในหลอดทดลองมาทดสอบว่าเลือดของผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วยับยั้งไวรัสได้ดีแค่ไหน ซึ่งได้ผลที่สอดคล้องกัน คือ

  • สำหรับผู้ที่ฉีด SV+SV จะได้ภูมิคุ้มกันประมาณ 24 หน่วย ซึ่งจะมีค่าต่ำกว่าการฉีด AZ+AZ ที่จะได้ภูมิคุ้มกันประมาณ 76 หน่วย
  • สำหรับผู้ที่ฉีด SV+AZ จะได้ภูมิคุ้มกันประมาณ 78 หน่วย สูงกว่าการฉีด AZ+AZ เล็กน้อย แต่หากสลับโดยฉีด AZ+SV จะได้ภูมิคุ้มกันเพียง 25 หน่วย หรือต่ำกว่า 3 เท่า
  • สำหรับผู้ที่ฉีด SV+SV+AZ จะได้ภูมิคุ้มกันประมาณ 271 หน่วย ซึ่งใกล้เคียงกับคนที่เพิ่งหายป่วยจากการป่วยด้วยเชื้อสายพันธุ์เดลตา หรืออัลฟา 
  • สำหรับผู้ที่ฉีด PZ+PZ จะได้ภูมิคุ้มกัน 155 หน่วย 

 

“ทำให้เห็นว่าการฉีดวัคซีน SV+SV+AZ ดีมาก ได้ภูมิขึ้นสูง…ถ้าหากมาเทียบกับผู้ที่ฉีด PZ+PZ ถ้าวัดจำเพาะเชื้อเดลตาเลยก็จะได้อยู่ที่ 155 เพราะฉะนั้นฉีด SV+SV+AZ จะได้ภูมิที่สูงกว่า PZ+PZ ด้วยซ้ำ”

 

ทั้งนี้ ศ.พญ.กุลกัญญา กล่าวถึงผลภูมิคุ้มกันโดยสรุปว่า

การฉีดไขว้ SV+AZ

  • ได้ภูมิสูงกว่าฉีด SV+SV 3 เท่า
  • ได้ภูมิสูงกว่าฉีด AZ+SV 3 เท่า
  • ได้ภูมิสูงกว่าฉีด AZ+AZ เล็กน้อย
  • ได้ภูมิต่ำกว่าฉีด PZ+PZ 1 เท่า

 

การฉีด 3 เข็ม คือ SV+SV+AZ

  • ได้ภูมิสูงกว่าฉีดกระตุ้นด้วย SP 4 เท่า 
  • ได้ภูมิสูงกว่าฉีด PZ+PZ 1.7 เท่า
  • ได้ภูมิใกล้เคียงกับผู้ที่หายป่วยด้วยเชื้อเดลตาหรืออัลฟา
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X