วานนี้ (26 กันยายน) มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดของอังกฤษได้เผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยล่าสุด พบว่าผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด ทำให้ประชาชนในหลายประเทศมีอายุคาดเฉลี่ย (Life Expectancy) หรือค่าเฉลี่ยอายุขัย ช่วงปี 2020 ลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2
งานวิจัยดังกล่าวครอบคลุม 29 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศพัฒนาแล้วในยุโรป เช่น สเปน ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรีย อิตาลี เบลเยียม อังกฤษ รวมถึงสหรัฐฯ และชิลี
โดยพบว่ามี 27 ประเทศ ที่อายุคาดเฉลี่ยของประชาชนในปี 2020 ลดลง ซึ่ง 22 ประเทศ มีอายุคาดเฉลี่ยลดลงราว 6 เดือน เมื่อเทียบกับปี 2019
ขณะที่ประชากรชายในกลุ่มประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่มีอายุคาดเฉลี่ยลดลงมากกว่าผู้หญิง โดยชายชาวอเมริกันได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิดหนักที่สุด ทำให้อายุคาดเฉลี่ยลดลงถึง 2.2 ปี ตามด้วยชายชาวลิทัวเนียที่มีอายุคาดเฉลี่ยลดลง 1.7 ปี
นอกจากนี้ พบว่าประชากรชายใน 11 ประเทศ และประชากรหญิงใน 8 ประเทศ มีอายุคาดเฉลี่ยดลดลงมากกว่า 1 ปี ซึ่งทีมวิจัยชี้ว่า การลดลงของอายุคาดเฉลี่ยในประเทศต่างๆ นั้น อาจมีความเชื่อมโยงกับตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโควิด ซึ่งจนถึงตอนนี้ ทั่วโลกมีจำนวนผู้เสียชีวิตจากโควิดสะสมแล้วกว่า 4.7 ล้านคน
ด้าน ดร.โฮเซ มานูเอล อาบูร์โต หนึ่งในทีมวิจัย และผู้เขียนนำในงานวิจัยฉบับนี้ กล่าวถึงผลกระทบจากวิกฤตโควิดที่เกิดขึ้นกับอายุคาดเฉลี่ย โดยชี้ว่าปัจจุบัน ประเทศเหล่านี้ต้องใช้เวลาเฉลี่ยประมาณ 5.6 ปี จึงจะเพิ่มอายุคาดเฉลี่ยของประชากรได้ราว 1 ปี ซึ่งความพยายามทั้งหมดถูกลบล้างไปจากการแพร่ระบาดของโควิดในปีที่ผ่านมา
ภาพ: Photo by John Moore/Getty Images
อ้างอิง: