วันนี้ (2 กุมภาพันธ์) พล.อ. ธิติชัย เทียนทอง เสนาธิการทหาร เป็นประธานร่วมฝ่ายไทย และ โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค (Robert F.Godec) เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย เป็นประธานร่วมฝ่ายสหรัฐฯ พร้อมด้วย พล.ร.อ. ชาติชาย ทองสะอาด ผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ ผู้แทนจากกองทัพเรือ โดยไฮไลต์ของการฝึกคอบร้าโกลด์ปีนี้จะมีการเปิดปฏิบัติการกู้เรือหลวงสุโขทัยแบบจำกัด ระหว่างกองทัพสหรัฐฯ กับกองทัพเรือไทย
ภารกิจค้นหา 5 ผู้สูญหาย-หาหลักฐาน
เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ระบุว่า การฝึกคอบร้าโกลด์มีส่วนสนับสนุนความร่วมมือ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางทหารระหว่างไทยและสหรัฐฯ หลายด้าน นำไปใช้กับภารกิจจริง เช่น ภารกิจของกองทัพอากาศไทยในการอพยพคนไทยจากซูดานเมื่อเดือนเมษายน 2566 และในปีนี้กองทัพเรือสหรัฐฯ จะร่วมกับกองทัพเรือไทยปฏิบัติการกู้เรือหลวงสุโขทัยแบบจำกัด จะดำเนินการภายใต้การฝึกคอบร้าโกลด์ 2024 โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ภารกิจนี้จะนำมาซึ่งกำลังใจและข้อสรุปให้แก่ครอบครัวของทหารเรือและนาวิกโยธินผู้กล้าหาญทั้งหมดที่สูญหายไป โดยมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติภารกิจนี้ร่วมกันอย่างปลอดภัยและละเอียดถี่ถ้วน
ขณะที่ พล.ร.อ. ชาติชายระบุว่า การกู้เรือหลวงสุโขทัยแบบจำกัดตามที่เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ระบุนั้น คือการกู้เรือแบบ Light Savage ที่สหรัฐฯ ยื่นมือเข้ามาช่วย เช่น
- การค้นหาผู้สูญหายจำนวน 5 คน
- การลงไปสำรวจหลักฐานใต้น้ำเพื่อนำมาประกอบการสอบสวนข้อเท็จจริง
- กองทัพเรือจะนำอุปกรณ์และยุทโธปกรณ์บางอย่างขึ้นมา
พล.ร.อ. ชาติชายยังระบุว่า สาเหตุที่ไม่ให้สหรัฐฯ เข้ามาช่วยเหลือในการกู้เรือหลวงสุโขทัยตั้งแต่แรก เนื่องจากกองทัพเรือของบประมาณในการกู้เรือจากรัฐบาลไปแล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 และกองทัพเรือมั่นใจว่าจะสามารถดำเนินการกู้เรือขึ้นมาได้ทั้งลำ ซึ่งแนวทางที่จะดำเนินการในขณะนั้นถือเป็นวิธีการที่ดีที่สุด
ยืนยันไม่มีบริษัทสัญชาติใดได้รับเลือกให้กู้เรือ
พล.ร.อ. ชาติชายยังระบุว่า ก่อนหน้านี้กองทัพเรือเปิดโอกาสให้บริษัทต่างๆ ที่มีคุณสมบัติในการกู้เรือเข้ามาเสนอราคา โดยเปิดโอกาส 2 ครั้งด้วยกัน แต่ยังไม่มีบริษัทใดผ่านการพิจารณาของกองทัพเรือ ทำให้กองทัพเรือมองว่าการจ้างบริษัทมากู้เรือเป็นเรื่องยาก ประกอบกับงบประมาณประจำปี 2566 มีกรอบระยะเวลาในการใช้และระยะเวลาในการเบิกจ่าย ซึ่งต้องดำเนินการก่อนเดือนกันยายน 2567
โดยสหรัฐฯ ยื่นข้อเสนอมาพอดี และสิ่งที่กองทัพเรือได้พูดคุยกับสหรัฐฯ สอดคล้องกัน ถือเป็นสิ่งที่บรรลุวัตถุประสงค์ของเรา และเชื่อมั่นว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด โดยยืนยันว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเทศใดประเทศหนึ่ง ตามที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีบริษัทจากประเทศจีนได้รับเลือกเข้ามากู้เรือหลวงสุโขทัยก่อนหน้านี้ ซึ่งในความเป็นจริงยังไม่มีบริษัทใดได้รับการคัดเลือก
เตรียมกู้เรือหลวงสุโขทัย วันที่ 19 กุมภาพันธ์ – 4 มีนาคม
สำหรับปฏิบัติการกู้เรือหลวงสุโขทัยแบบจำกัดในช่วงการฝึกคอบร้าโกลด์จะอยู่ระหว่างวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ถึง 4 มีนาคม 2567 โดยกำลังที่เข้าร่วมปฏิบัติการในครั้งนี้ในส่วนของกองทัพเรือประกอบด้วย เรือหลวงรัตนโกสินทร์ เรือต่อต้านทุ่นระเบิด จำนวน 2 ลำ เรือตรวจการณ์ จำนวน 2 ลำ เรือระบายพลขนาดกลาง 18 ลำ พร้อมเจ้าหน้าที่ EOD 40 นาย ในขณะที่กองทัพเรือสหรัฐฯ ส่งเรือ Ocean Valor พร้อมเจ้าหน้าที่ EOD 20 นาย สนับสนุนปฏิบัติการในครั้งนี้
สำหรับการฝึกคอบร้าโกลด์ นับเป็นการฝึกร่วมผสมทางทหารขนาดใหญ่ และมีประวัติยาวนานที่สุดการฝึกหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งกองทัพไทย และกองกำลังสหรัฐอเมริกาภาคพื้นอินโด-แปซิฟิกร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกในประเทศไทยเป็นประจำทุกปี