×

การแถลงผลสอบเรือหลวงสุโขทัย ที่ยิ่งแถลงยิ่งเต็มไปด้วยข้อสงสัย

14.04.2024
  • LOADING...

เชื่อว่าจากเหตุการณ์เรือหลวงสุโขทัยอับปางลง พร้อมผู้เสียชีวิต 24 นาย และสูญหาย 5 นาย สิ่งที่คนไทยอยากรู้ที่สุดก็คือ เพราะอะไรเรือถึงจม

 

ซึ่งกองทัพเรือใช้เวลากว่า 15 เดือนในการหาคำตอบนั้น และผลสรุปของกองทัพเรือก็คือความผิดพลาดหลายๆ อย่างของการตัดสินใจของผู้บังคับการเรือ ประกอบกับภาวะที่น้ำเข้าเรือมากเกินไปจากประตูเรือด้านซ้ายและฝาแฮตช์หลังป้อมปืน ทำให้ปฏิบัติการควบคุมความเสียหายในการนำน้ำออกจากเรือไม่ประสบความสำเร็จ 

 

ผลปรากฏว่ากองทัพเรือมองว่าผู้บังคับการเรือเป็นผู้ที่ควรรับผิดชอบ แม้ไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับทางราชการเพราะไม่ได้จงใจ แต่ก็สั่ง ‘กัก’ เป็นเวลา 15 วัน รวมถึงรอว่าจะมีการสอบสวนทางอาญาจากสถานีตำรวจภูธรบางสะพานอย่างไร โดยในการนี้ผู้บังคับการเรือได้แสดงเจตจำนงที่จะลาออกจากราชการเพื่อแสดงความรับผิดชอบ

 

การแถลงของกองทัพเรือจริงๆ แล้วถือว่าพอรับได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ว่าเกิดอะไรขึ้นในช่วงที่เรือออกจากท่าที่อำเภอสัตหีบไปจนถึงช่วงที่เรือจม มีการยอมรับอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกแล้วว่าเรือลำนี้มีภารกิจไปร่วมงานของกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ที่จังหวัดชุมพร แต่ในอีกด้านหนึ่ง กองทัพเรือก็ยืนยันว่าจำนวนชูชีพที่นำไปกับเรือนั้นมีเพียงพอโดยนำไปทั้งหมด 120 ตัว เกินกว่าจำนวนของผู้ที่โดยสารไปกับเรือ เพียงแต่การประกาศให้กำลังพลที่โดยสารไปกับเรือมารับชูชีพหลายครั้งไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร ทำให้เมื่อเกิดเหตุหลายๆ คนจึงไม่มีชูชีพใส่

 

กองทัพเรือยังมองว่า ความผิดพลาดที่สุดของผู้บังคับการเรือคือการตัดสินใจที่จะหันหัวเรือกลับอำเภอสัตหีบที่มีระยะทางไกลกว่า 300 กิโลเมตร ในภาวะที่เรือสูญเสียเครื่องจักรใหญ่หรือเครื่องยนต์ไปหนึ่งเครื่องเนื่องจากไม่ทำงาน และเริ่มมีน้ำเข้าเรือ นอกจากนั้นทะเลในช่วงที่มีการเดินทางยังมีความรุนแรงถึง Sea State 7 หรือคลื่น 6-7 เมตร ซึ่งเกินกว่าที่คุณสมบัติของเรือหลวงสุโขทัยจะรองรับได้ และทำให้เรือจมในที่สุด

 

ทั้งนี้ กองทัพเรือย้ำหลายครั้งอย่างน่าสังเกตว่า เรือลำนี้ไม่มีปัญหาการซ่อมบำรุง เนื่องจากเรือเพิ่งเข้ารับการซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ไปเมื่อหลายปีก่อน และสามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างเรียบร้อยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เพียงแต่เรามีข้อสังเกตกลับเช่นกันว่า สาเหตุหลักที่เรือต้องจมลงก็เพราะประตูทางกราบซ้ายของเรือนั้นเปิดออกจากคลื่นที่กระทบเข้ามาเมื่อลูกเรือพยายามไปปิด เมื่อคลื่นกระทบรุนแรงก็เปิดออกอีกครั้งจนมีน้ำเข้ามาในเรือปริมาณมาก ลูกเรือจึงต้องใช้เชือกผูกประตูเอาไว้ไม่ให้เปิด ซึ่งกรณีนี้เป็นกรณีเดียวกับฝาแฮตช์หลังป้อมปืนด้านหน้า นอกจากนั้นยังพบรอยฉีกที่ป้อมปืน 76/62 รวมถึงรอยฉีกบริเวณลำตัว ซึ่งดูแล้วก็น่าจะมีปัญหาในเรื่องความพร้อมของอุปกรณ์และความพร้อมของเรือ ทำให้เราก็ไม่แน่ใจว่าที่บอกว่าไม่มีปัญหาการซ่อมบำรุงนั้น กองทัพเรือกล่าวเพราะเชื่ออย่างนั้นจริงๆ หรือเพราะไม่ต้องการกล่าวถึงสภาพของเรือที่แท้จริงกันแน่

 

ประเด็นการควบคุมความเสียหายก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องพิจารณา เพราะเครื่องสูบน้ำของเรือนั้นไม่สามารถใช้งานได้อย่างเต็มที่ สูบไปแล้วก็เกิดไฟช็อต จนสุดท้ายต้องใช้คนมาช่วยกันวิดน้ำ ซึ่งก็น่าจะแสดงให้เห็นว่าอุปกรณ์ของเรือมีความไม่พร้อม นอกจากนั้นกำลังพลที่บรรจุลงเรือยังมีไม่ครบ รวมถึงกำลังพลที่นำไปในภารกิจนี้มีเพียง 75 นาย จากจำนวนกำลังพลเต็ม 100 นาย เพราะต้องเว้นที่ว่างให้กับกำลังพลนาวิกโยธิน และกำลังพลของหน่วยบัญชาการต่อสู้อากาศยานและรักษาฝั่งที่จะไปร่วมงานกรมหลวงชุมพรโดยสารไปกับเรือด้วย ทำให้เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉินประสิทธิภาพในการควบคุมความเสียหายก็ลดลง

 

แน่นอนว่าผู้บังคับการเรือต้องเป็นผู้รับผิดชอบ และในหลายการตัดสินใจของผู้บังคับการเรือนั้นก็ส่งผลให้เรือลำนี้เข้าไปสู่สภาวะที่กู้คืนไม่ได้และจมลง เช่น การไม่ใส่ใจในการกำกับดูแลให้ลูกเรือและกำลังพลที่ขึ้นมาบนเรือได้รับชูชีพครบทุกคน รวมถึงการตัดสินใจเดินทางต่อไม่ย้อนกลับอำเภอสัตหีบในช่วงแรก การตัดสินใจไม่เข้าเทียบท่าที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ การตัดสินใจที่จะกลับอำเภอสัตหีบในภาวะที่เรือไม่พร้อม และทะเลมีคลื่นสูงจนรับมือไม่ได้ 

 

แต่สิ่งที่หลายฝ่ายสงสัยก็คือ ผู้บังคับการเรือเป็นเพียงคนเดียวหรือที่ควรจะรับผิดชอบ ทั้งที่ในการปฏิบัติการทางเรือต้องประกอบด้วยหลายๆ ฝ่ายและหลายๆ คน จะไม่มีใครที่ผิดพลาดหรือต้องรับผิดชอบหรือ แม้แต่ไม่มีระบบ กระบวนการ หรือกฎระเบียบใดที่ต้องแก้ไขเลยหรือ เป็นผู้บังคับการเรือเพียงคนเดียวเท่านั้นหรือที่ต้องรับผิด ซึ่งฟังดูแล้วมันไม่สมเหตุสมผลเลย

 

เพราะลองคิดง่ายๆ ว่า แม้ผู้การเรือจะมีอำนาจและสิทธิ์ขาดในการตัดสินใจในการปฏิบัติงาน แต่ผู้บังคับการเรือก็ต้องรายงานกลับไปที่ศูนย์ปฏิบัติการของกองทัพเรือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีนี้คือเรือหลวงสุโขทัยขึ้นการบังคับบัญชากับทัพเรือภาคที่ 1 จึงเป็นที่น่าสงสัยว่า เจ้าหน้าที่ในศูนย์ปฏิบัติการของทัพเรือภาคที่ 1 หรือกองบัญชาการกองทัพเรือนั้นไม่มีการตรวจสอบ ให้ข้อมูลผู้บังคับการเรือเพิ่ม หรือทัดทาน หรือสั่งการอะไรเพิ่มเติมเลยหรือ ซึ่งในการแถลงในวันนั้นไม่มีการกล่าวถึงกระบวนการพวกนี้เลย เหมือนเรือหลวงสุโขทัยออกไปปฏิบัติการลำเดียว ตัดสินใจเองคนเดียว ดำเนินการทุกอย่างเองคนเดียว โดยไม่มีใครช่วยเหลือหรือสนับสนุนเลย เหมือนทั้งกองทัพเรือมีแต่เรือหลวงสุโขทัยลำเดียว ซึ่งฟังแล้วก็ไม่สมเหตุสมผลอยู่นั่นแหละ

 

และอีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือ ในการแถลงผลการสอบสวนนั้น กองทัพเรือแถลงถึงสาเหตุที่นำไปสู่การจมของเรือได้ค่อนข้างละเอียด มีหลักฐานและหลักการทางวิทยาศาสตร์รองรับ แต่กองทัพเรือไม่สามารถที่จะแสดงให้เห็นว่ากองทัพเรือวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น และจะแก้ไขอะไรและอย่างไร กระบวนการใดที่ต้องปรับปรุง การฝึกใดที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติมเพื่อป้องกันปัญหานี้ และที่สำคัญที่สุดก็คือ ต้นเหตุที่แท้จริงที่นำไปสู่สาเหตุที่ทำให้เรือจมนั้นคืออะไร สิ่งเหล่านี้ไม่มีอยู่ในการแถลงผลการสอบสวนของกองทัพเรือเลย

 

ซึ่งเทียบการแถลงข่าวของกองทัพเรือในครั้งนี้ง่ายๆ เหมือนเราปลูกต้นมะม่วงแล้วต้นมะม่วงตาย เรารู้แค่ว่าต้นมะม่วงติดเชื้อราจนตาย แต่เราอาจไม่ได้รู้หรือค้นหาไปยังต้นเหตุว่าเชื้อรานั้นมาจากไหน ทำไมต้นมะม่วงไม่มีภูมิต้านทาน มีการฉีดยาหรือใช้สารชีวภาพใดที่จะฆ่าเชื้อราก่อนหรือไม่ และจะทำอย่างไรที่ไม่ให้ต้นมะม่วงต้องติดเชื้อราอีกในอนาคต

 

ซึ่งถ้าการแถลงข่าวในครั้งนี้ของกองทัพเรือเป็นการดำเนินงานทั้งหมดแล้ว เราก็กลัวว่าในอนาคตจะมีต้นมะม่วงที่ต้องติดเชื้อราตายอีก หรือถ้าจะพูดให้ตรงกว่านั้นก็คือ เราก็กลัวว่าในอนาคตจะต้องมีเรือรบของราชนาวีไทยที่จัดหามาจากเงินภาษีของประชาชนต้องจมลงด้วยสาเหตุเดิม เพราะยังไม่มีการปรับปรุงระบบ วัฒนธรรม การฝึก การกำกับดูแล และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือมาตรฐานการปฏิบัติงานของกองทัพเรือ

 

ทำให้โดยรวมเราค่อนข้างผิดหวังกับการแถลงผลในครั้งนี้ เพราะการแถลงเป็นเพียงการตอบคำถามว่าทำไมเรือถึงจม ทำไมคนถึงตาย และลงโทษผู้การเรือซึ่งยืนยันแล้วยืนยันอีกว่าเขาผิดคนเดียว ไม่มีใครโดยเฉพาะผู้บังคับบัญชาผิดอีก และเขาขอยอมรับผิดคนเดียว แต่ไม่มีแนวทางหรือการแสดงให้ประชาชนเห็นว่ากองทัพเรือจะนำบทเรียนในครั้งนี้ไปปรับปรุงและพัฒนาการปฏิบัติงานของกองทัพเรืออย่างไร เพื่อปกป้องไม่ให้เรือของกองทัพเรือที่ใช้งานอยู่ในตอนนี้ประสบชะตากรรมเดียวกับเรือหลวงสุโขทัยอีก

 

แต่เราก็หวังว่า กองทัพเรือจะนำข้อมูลจากการสอบสวนไปวิเคราะห์หาจุดเปลี่ยนในการปฏิบัติงานของกองทัพเรือ และออกคำแนะนำในการปรับปรุงทั้งกระบวนการ การฝึกกำลังพล การปฏิบัติงาน การกำกับดูแลการปฏิบัติงาน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรฐานการปฏิบัติงานให้ดี

 

เพราะเราบอกได้ว่า ถ้ากองทัพเรือทำแค่ที่แถลงมาในผลการสอบสวนนี้ เรามั่นใจว่าไม่เพียงพอ และกองทัพเรือจะแทบไม่ได้เรียนรู้อะไรจากโศกนาฏกรรมในครั้งนี้เลย เหมือนพอวัวหายแล้ว คอกก็ล้อมได้ไม่ครบ 4 ด้าน ดังนั้นก็รอเพียงเวลาที่วัวตัวต่อไปจะหายอีก และโชคร้ายที่สุดก็คือ วัวตัวนั้นเป็นวัวที่จัดหามาจากเงินภาษีของประชาชน และอาจมีคนตายไปพร้อมกับวัวที่จะหายในอนาคตต่อไปอีกด้วย

 

เราจะเอาแบบนี้จริงๆ หรือ?

 

ภาพ: Wikipedia

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising