*บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหา
“And the Oscar goes to…Renée Zellweger for Judy” อาจจะเป็นประโยคที่เราได้ยินในงานออสการ์ ครั้งที่ 92 ที่จะเกิดขึ้นในเช้าวันจันทร์ที่ 10 กุมภาพันธ์ปีหน้า พร้อมกับการก้าวขึ้นไปกล่าวสปีชครั้งใหม่บนเวทีในฐานะ ‘นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม’
เพราะการแสดงของ เรเน่ เซลเวเกอร์ ในภาพยนตร์เรื่อง Judy ที่ถือได้ว่าเหนือชั้น และเป็นการกลับมาตอกย้ำถึงความสำคัญของนักแสดงสาวคนนี้ หลังห่างหายจากวงการไปนาน 6 ปี
Judy เป็นภาพยนตร์ของผู้กำกับ รูเพิร์ต กูลด์ ที่ดัดแปลงมาจากละครเวทีเรื่อง End of the Rainbow ซึ่งเล่าถึงชีวิตช่วงท้ายของ จูดี้ การ์แลนด์ (รับบทโดย เรเน่ เซลเวเกอร์) หนึ่งในศิลปินที่ทรงอิทธิพลที่สุดในประวัติศาสตร์วงการบันเทิง ในช่วงที่เธอติดยาอย่างหนักและมีปัญหาด้านทรัพย์สิน เธอจึงตัดสินใจจัดคอนเสิร์ตแบบ Residency ที่โรงละครกึ่งคลับชื่อ Talk of The Town ในลอนดอนเมื่อปี 1968 เพื่อหวังจะให้ชีวิตกลับมาราบรื่นและสามารถหาเงินเพียงพอที่จะกลับไปเลี้ยงลูกที่อเมริกา
ขณะเดียวกันเธอก็กำลังสู้คดีสิทธิการเลี้ยงดูลูกกับสามีคนที่ 3 ซิดนี ลัฟต์ (รับบทโดย รูฟัส ซีเวลล์) แต่การจะแสดงในแต่ละคืนก็มาพร้อมความลำบากทั้งเรื่องสภาพจิตใจ การพึ่งพาทั้งยาและแอลกอฮอล์ การตัดสินใจพลาดที่แต่งงานอีกครั้งกับสามีคนที่ 5 มิกกี้ ดีนส์ (รับบทโดย ฟินน์ วิตต์ร็อก) ซึ่ง 6 เดือนต่อมาหลังคอนเสิร์ตจบ เธอก็เสียชีวิตเพราะกินยานอนหลับเกินขนาด
การเล่าเรื่องและองค์ประกอบศิลป์ของ Judy ถือว่าไม่ได้หวือหวาอะไรมากนัก และเดินตามสูตรหนังชีวประวัติศิลปินระดับตำนานที่เราเคยเห็นมาหลายครั้ง นอกเหนือจากการแทรกฉากของจูดี้ในวัยเด็ก ช่วงที่เธอแสดงเป็นโดโรธีในภาพยนตร์ The Wizard of Oz ของค่ายยักษ์ใหญ่ MGM Studios ซึ่งสะท้อนปมปัญหาต่างๆ ที่ส่งผลถึงนาทีสุดท้ายของชีวิตในวัย 47 ปี หลังแสดงภาพยนตร์ 34 เรื่อง และแสดงคอนเสิร์ตมาเกินพันรอบ
แต่สิ่งที่ทำให้ภาพยนตร์มีคุณค่าและเป็นอีกหนึ่งงานที่น่าจดจำก็คือการแสดงของเรเน่ ที่ในทุกเฟรมเธอสามารถหลุดหายเข้าไปสวมวิญญาณของจูดี้ได้อย่างลงตัว และเมื่อหนังจบ เราจึงค่อยๆ กลับมานึกขึ้นได้ว่านี่คือผู้หญิงคนเดียวกับที่เคยแสดงเรื่อง Bridget Jones’s Diary, Chicago, Nurse Betty และ Jerry Maguire ซึ่งการที่เรเน่สามารถเก็บกิริยาท่าทางทุกกระเบียดนิ้วของจูดี้ และทำให้เห็นมิติของความเปราะบาง ซับซ้อน ตลก และเจ็บปวดในเวลาเดียวกันของมนุษย์หนึ่งคน เราจึงไม่แปลกใจว่าทำไมเธอได้รับการ Standing Ovation จากผู้ชมและนักวิจารณ์นาน 2 นาทีที่เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติโทรอนโตในปีนี้
หลายคนอาจเห็นโปสเตอร์และตัวอย่างของ Judy แล้วคิดว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ไกลตัวเกินไป เพราะเกิดไม่ทัน เพลงไม่คุ้นหู และต้องให้รุ่นปู่ย่าตายายไปดูถึงจะอิน แต่ตลอด 2 ชั่วโมงของหนังเรื่องนี้ เรากลับคิดว่ามันสะท้อนหลายอย่างของบริบทสังคมทุกวันนี้เกี่ยวกับความคลั่งไคล้และเชิดชูศิลปินคนโปรดของเรา
โดยเฉพาะศิลปินหญิงอย่าง จูดี้ การ์แลนด์, เซเลนา โกเมซ, บริตนีย์ สเปียร์ส, เอมี ไวน์เฮาส์, วิตนีย์ ฮุสตัน หรือนักร้องเกาหลีอย่าง ซอลลี่ ที่พวกเธอต้องแบกสภาวะกดดันอยู่ตลอดเวลา และดูเหมือนมันจะยิ่งทวีคูณขึ้นไปอีกในยุคโซเชียลมีเดีย ที่แม้คนจะพร้อมให้กำลังใจกับการใส่อีโมติคอนหัวใจ 3 อันในช่องคอมเมนต์ แต่หากทำอะไรผิดขึ้นมา ก็เตรียมรับคอมเมนต์ที่เหมือนพิมพ์เอามันหรือสะใจไว้ก่อน
สิ่งที่เราอาจจะต้องบอกตัวเองคือ จะบ้าดาราได้ จะช่วยปั่นยอดวิวมิวสิกวิดีโอได้ จะนำเงินทุกบาททุกสตางค์ไปซื้อบัตรคอนเสิร์ตได้ แต่จำไว้ว่าเราต้องมองพวกเขาเป็นมนุษย์เหมือนเราที่ข้างหลังม่านไม่ได้เพอร์เฟกต์ และพวกเขาไม่ใช่แค่แค่วัตถุอะไรสักอย่างที่จะโยนไปมา และมีวันหมดอายุ เพราะเราไม่รู้หรอกว่าวันหนึ่งสิ่งที่เราทำกับคนพวกนี้อาจส่งผลให้เขาหรือเธอต้องเจอจุดจบ และกลายไปอยู่ที่ใดสักแห่งหนึ่งแบบ Somewhere over the rainbow
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์