×

เมาแล้วขับ เกิดอุบัติเหตุ ต้องตรวจแอลกอฮอล์ด้วยวิธีไหน ไม่ยอมตรวจเป็นความผิดหรือไม่

17.03.2021
  • LOADING...
เมาแล้วขับ เกิดอุบัติเหตุ

HIGHLIGHTS

  • ตามแนวทางการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของกรมควบคุมโรค กำหนดให้คดีอุบัติเหตุจราจรที่มีคู่กรณี หรือเป็นเหตุทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ/เสียชีวิต/ทรัพย์สินเสียหาย ผู้ขับขี่จะต้องถูกตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ โดยถ้าตรวจทางลมหายใจไม่ได้ก็ต้องตรวจเลือด 
  • แต่แพทย์ก็ต้องขอ ‘ความยินยอม’ จากผู้ป่วยหรือญาติ (ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว) เพราะเป็นสิทธิ์ของผู้ป่วย หากผู้ป่วยไม่ยินยอม แพทย์ก็จะไม่สามารถเจาะเลือดได้ และบันทึกไว้ในเวชระเบียนว่าผู้ป่วยได้ทราบข้อกฎหมายแล้ว แต่ยังปฏิเสธการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดแทน
  • การแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. จราจรทางบก (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2557 ให้ ‘สันนิษฐาน’ ว่าผู้ขับขี่ที่ปฏิเสธการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์โดยไม่มีเหตุอันสมควร ‘เมาสุรา’ ขณะขับขี่

‘เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์’ เป็นระดับของแอลกอฮอล์ในเลือดที่ถือว่า ‘เมาสุรา’ ตามกฎหมาย ซึ่งตราไว้นานมากแล้วเป็นกฎกระทรวง ฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2537) ออกตามความใน พ.ร.บ. จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ในสมัยที่ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

 

แต่ถ้าแปลงตัวเลขมิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์เป็นความรู้สึก

 

  • 20 = เริ่มผ่อนคลาย 
  • 30 = สนุกสนาน ร่าเริง 
  • 50 = สนุกเต็มที่ 
  • 60 = เริ่มเสียการเคลื่อนไหว
  • 100 = เดินเซ
  • เกินกว่านี้ไม่ควรดื่มต่อ เพราะความสามารถในการขับรถจะแย่ลงอย่างรวดเร็ว และมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุเป็น 6 เท่าเทียบกับผู้ที่ไม่ดื่ม

 

ส่วนถ้าอยากแปลงเป็นปริมาณที่ดื่มก็ได้ แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อระดับแอลกอฮอล์ในเลือด เช่น ผู้หญิงมีไขมันเป็นสัดส่วนมากกว่าผู้ชาย น้ำในร่างกายน้อยกว่า และแอลกอฮอล์ละลายในน้ำได้ดีกว่าไขมัน ถ้าดื่มในปริมาณเท่ากัน ผู้หญิงจะมีความเข้มข้นในเลือดมากกว่า

 

ถ้าท้องว่างจะดูดซึมได้เร็วกว่า ความเข้มข้นก็จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือถ้าค่อยๆ ดื่ม ร่างกายก็จะค่อยๆ เผาผลาญแอลกอฮอล์ไปด้วย ความเข้มข้นในเลือดค่อยๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งปกติระดับแอลกอฮอล์ในเลือดจะลดลง 10-20 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ใน 1 ชั่วโมง 

 

50 = ปริมาณ 2 ดื่มมาตรฐาน (Standard drink) ในผู้ชาย หรือ 1 ดื่มมาตรฐานในผู้หญิง 

 

โดย 1 ดื่มมาตรฐานเท่ากับเครื่องดื่มที่ปริมาณแอลกอฮอล์ 10 กรัม เช่น เบียร์ 1 กระป๋องหรือขวดเล็ก, วิสกี้ 3 ฝา, ไวน์ 1 แก้ว ขึ้นกับปริมาณดีกรีในเครื่องดื่ม ดังนั้นถ้าใครจะต้องขับรถใน 1 ชั่วโมงก็ไม่ควรดื่มเกินกว่านี้ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจราจรที่อาจเกิดขึ้น

 

การตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด

เกริ่นมาหลายบรรทัดเป็นการวัดปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดโดยใช้ความรู้สึกหรือทฤษฎีไว้สำหรับให้ผู้ที่ดื่มประเมินตนเองเบื้องต้น แต่ในทางกฎหมายจะต้องมีการตรวจโดยใช้เครื่องมือวัดออกมาเป็นตัวเลข ซึ่งกฎกระทรวงได้กำหนดให้เจ้าหน้าที่ตรวจได้ 3 วิธี ‘ตามลำดับ’ ได้แก่

 

  • ตรวจวัดลมหายใจ
  • ตรวจปัสสาวะ
  • ตรวจเลือด 

 

สองวิธีหลังจะใช้ในกรณีที่ไม่สามารถตรวจวัดด้วยวิธีแรกเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพราะว่าการเจาะเลือดต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์ และตามหลักการแล้วการเจาะเลือดเป็นการละเมิดสิทธิในร่างกายของบุคคล ซึ่งจะกระทำได้เมื่อมีกฎหมายให้อำนาจไว้ อย่างในกรณีนี้ก็คือ พ.ร.บ. จราจรทางบก

 

ตามแนวทางการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดของกรมควบคุมโรค กำหนดให้คดีอุบัติเหตุจราจรที่มีคู่กรณี หรือเป็นเหตุทำให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บ/เสียชีวิต/ทรัพย์สินเสียหาย ผู้ขับขี่จะต้องถูกตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ โดยถ้าตรวจทางลมหายใจไม่ได้ก็ต้องตรวจเลือด 

 

แต่แพทย์ก็ต้องขอ ‘ความยินยอม’ จากผู้ป่วยหรือญาติ (ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว) เพราะเป็นสิทธิ์ของผู้ป่วย หากผู้ป่วยไม่ยินยอม แพทย์ก็จะไม่สามารถเจาะเลือดได้ และบันทึกไว้ในเวชระเบียนว่าผู้ป่วยได้ทราบข้อกฎหมายแล้ว แต่ยังปฏิเสธการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดแทน

 

ซึ่งเจ้าหน้าที่จะต้องหาพยานหลักฐานอื่นมาพิสูจน์ความผิดนี้ แต่ปัจจุบันได้มีการแก้ไขปัญหานี้ด้วยการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. จราจรทางบก (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2557 ให้ ‘สันนิษฐาน’ ว่าผู้ขับขี่ที่ปฏิเสธการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์โดยไม่มีเหตุอันสมควร ‘เมาสุรา’ ขณะขับขี่

 

ที่สำคัญนอกจากฝั่ง ‘ผู้ป่วย’ แล้ว แพทย์ต้องได้รับใบนำส่งผู้บาดเจ็บหรือศพให้แพทย์ตรวจชันสูตรจากเจ้าหน้าที่ ‘ตำรวจ’ ด้วย เพราะถือเป็นคำสั่งจากพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา นั่นหมายความว่าถ้าตำรวจไม่ประสานมา แพทย์ก็จะส่งตรวจเองไม่ได้

 

กรณีนักธุรกิจ ผู้บริหารโรงแรม จังหวัดภูเก็ต

“ในเบื้องต้นได้ตรวจแอลกอฮอล์บ้างไหมครับ” ผู้สื่อข่าวถาม พ.ต.อ. ประเทือง ผลมานะ ผู้กำกับการ สภ.วิชิต ถึงกรณีนักธุรกิจ ผู้บริหารโรงแรม จังหวัดภูเก็ต ประสบอุบัติเหตุรถยนต์ชนเสาไฟฟ้าเมื่อช่วงค่ำของวันที่ 14 มีนาคม 2564 ขณะลงพื้นที่ตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุ

 

“เรากังวลเรื่องความปลอดภัยเป็นหลักก่อน เพราะว่าที่ผมมาถึงเมื่อคืนคุณปลาวาฬไม่มีสติเลย แล้วก็ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาล ประสานกับคุณหมอเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก เรื่องอื่นๆ ไว้เป็นเรื่องทีหลัง” จนทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของเจ้าหน้าที่ในสังคมออนไลน์ 

 

แต่ถ้ายึดตามกฎหมายและแนวทางที่กล่าวมาแล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถประสานแพทย์ให้ตรวจหาระดับแอลกอฮอล์ในเลือดในระหว่างที่ช่วยเหลือผู้ป่วยได้ และควรรีบทำภายใน 4 ชั่วโมง จากนั้นโรงพยาบาลจะมีเวลาอีก 2 ชั่วโมงในการเจาะเลือด 

 

เพราะถ้าหากเกิน 6 ชั่วโมงไปแล้วระดับแอลกอฮอล์ในเลือดอาจลดลงต่ำกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์

 

ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 มีนาคม สำนักข่าวไทยรัฐออนไลน์ได้รายงานว่า ขณะนี้อาการของนักธุรกิจคนดังกล่าวดีขึ้น ไม่มีอาการแทรกซ้อน แพทย์อยู่ระหว่างการพิจารณาวางแผนเรื่องการถอดท่อช่วยหายใจ ส่วนผลตรวจเลือดเพื่อหาระดับแอลกอฮอล์ขณะนี้ ‘ยังไม่มีออกมา’

 

ผลการตรวจระดับแอลกอฮอล์ในช่วงที่ผ่านมา

เมาแล้วขับ เกิดอุบัติเหตุ

 

สำหรับการตรวจระดับแอลกอฮอล์ในเลือดระหว่างเดือนตุลาคม-ธันวาคม 2563 เว็บไซต์กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์รายงานผลการตรวจทั้งหมด 4,778 ตัวอย่าง พบปริมาณเกินกฎหมายกำหนด 2,525 ตัวอย่าง (คิดเป็น 52.8%) ส่วนใหญ่อุบัติเหตุรถจักรยานยนต์และรถปิกอัพ

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising