วันนี้ (25 ตุลาคม) นิกร จำนง กรรมการและโฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เปิดเผยว่า วันเดียวกันมีการประชุมคณะอนุกรรมการ 2 ชุด คือคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฯ และคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติฯ ที่มีตนเป็นประธาน
โดยในส่วนที่ประชุมคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติฯ ยังหาข้อยุติไม่ได้ว่าจะต้องทำประชามติกี่ครั้ง เนื่องจากมีความเห็นเป็น 2 ทาง ฝ่ายหนึ่งเห็นว่าให้ทำ 2 ครั้ง อีกฝ่ายเห็นว่าให้ทำ 3 ครั้ง ไม่เช่นนั้นจะอันตราย เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยไว้อย่างนั้น ดังนั้นจึงต้องมีการประชุมคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติฯ ในครั้งหน้า โดยจะรอฟังความเห็นจากคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติฯ ก่อนที่จะต้องไปรับฟังความเห็นจากสมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชนจากทั้ง 2 สภา
นิกรกล่าวว่า ในที่ประชุมคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติฯ ยังได้พิจารณาในเรื่องหมวด 1 และ 2 ว่าการเว้นหมวด 1 และหมวด 2 จะถือเป็นการไม่แก้ทั้งฉบับหรือไม่ เพราะถ้าแก้ทั้งฉบับจะต้องรวมหมวด 1 และ 2 ด้วย แต่อีกส่วนหนึ่งเห็นว่าการไม่แก้หมวด 1 และ 2 แต่ไปแก้เยอะ จะทำให้เหมือนว่าเราไปแก้หลักการ ซึ่งถ้าแก้หลักการและไม่แก้หมวด 1 และ 2 มาตรามันก็จะเคลื่อน ก็ถือเป็นการแก้ทั้งฉบับ ดังนั้นคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติฯ จึงมีมติว่าจะมีการประชุมอีกครั้งในวันที่ 8 พฤศจิกายน เวลา 09.30 น.
นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาในเรื่องของค่าใช้จ่ายว่าจะต้องใช้เท่าไร ซึ่งจะมีการเชิญคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มาชี้แจงว่าจะใช้เวลาเท่าไร ใช้งบประมาณเท่าไร รวมถึงจะรับฟังความเห็นที่ได้ไปฟังมาจากทั้ง 2 สภามาด้วยว่ามีความเห็นอย่างไร
นิกรกล่าวว่า ขณะที่คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติฯ จะไปรับฟังความเห็นจาก กมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภา ที่มี เสรี สุวรรณภานนท์ สว. เป็นประธาน ในวันที่ 30 ตุลาคม เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา
จากนั้นวันที่ 2 พฤศจิกายน จะไปรับฟังความเห็น กมธ.การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ที่มี พริษฐ์ วัชรสินธุ เป็นประธาน เวลา 13.30 น. ที่รัฐสภา โดยจะไปหารือเพื่อให้ช่วยคิดคำถาม ขณะที่วันที่ 10 พฤศจิกายน จะไปรับฟังความเห็นของนักเรียน นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยรามคำแหง และมหาวิทยาลัยมหิดล สภาเด็กและเยาวชน ฝ่ายความมั่นคงทั้งทหารและตำรวจ กลุ่มคนพิการ สื่อมวลชน ผู้แทนสลัม 4 ภาค สหภาพแรงงาน กลุ่ม iLaw และสมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย
จากนั้นวันที่ 14 พฤศจิกายน เวลา 10.00 น. จะไปรับฟังความเห็นหัวหน้าพรรคและผู้แทนพรรคก้าวไกลที่พรรคก้าวไกล นอกจากนี้จะมีการออกไปฟังทั้ง 4 ภูมิภาคด้วย โดยจะตั้งคณะทำงานขึ้นมา รวมถึงยังมีช่องทางการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทางออนไลน์ผ่านทางอีเมลของสำนักกฎหมายและระเบียบกลาง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดยจะกำหนดเป็นอีเมลเฉพาะ, ช่องทาง OPM e-Form ของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี, ระบบกลางทางกฎหมาย และทางศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล 1111 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
นิกรกล่าวว่า สำหรับกรอบการทำงานของคณะอนุกรรมการ 2 ชุด จะพยายามทำงานให้เสร็จภายในสัปดาห์ที่ 2 หรืออย่างช้าสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนธันวาคม เพื่อจะสรุปความเห็น จากนั้นต้นปี 2567 จะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่ง ครม. จะเป็นผู้พิจารณาและตัดสินใจ หาก ครม. เห็นด้วย ก็จะนำไปสู่การออกเป็นคำถาม และเมื่อเป็นคำถามแล้วจะต้องทำประชามติให้เสร็จไม่น้อยกว่า 90 วัน และไม่เกิน 120 วัน
เมื่อถามว่าจะได้เข้าคูหาไปออกเสียงประชามติช่วงไหน นิกรกล่าวว่าที่ ภูมิธรรม เวชยชัย ประธานคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติฯ กำหนดไว้คือไตรมาสแรกของปี 2567