×

การลดคุ้มครองเงินฝากกับความแข็งแกร่งของสถาบันการเงินไทย

13.08.2021
  • LOADING...
เงินฝาก

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นเรื่องการปรับลดการคุ้มครองเงินฝากถือเป็นประเด็นใหญ่ที่มีผู้คนให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก โดยเกิดขึ้นจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) มีการประกาศเปลี่ยนแปลงนโยบายการคุ้มครองเงินฝากตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป โดยปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากจากเดิม 5 ล้านบาทต่อราย ปรับลดลงเหลือ 1 ล้านบาทต่อราย

 

ซึ่งหากดูจำนวนตัวเลขความคุ้มครองที่ลดลง การเปลี่ยนแปลงนโยบายในครั้งนี้อาจทำให้เกิดความกังวลและสงสัยว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นการส่งสัญญาณอันตรายของระบบการเงินไทยหรือไม่ ในบทความนี้จึงอยากพูดถึงความเป็นมาของการคุ้มครองเงินฝากและความแข็งแกร่งของระบบธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้ทุกท่านเข้าใจมากขึ้นว่าการเปลี่ยนแปลงนโยบายในครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องน่ากังวล

 

ก่อนอื่น เรามาทำความเข้าใจถึงที่มาในการก่อตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากกันก่อน ในอดีตช่วงก่อนวิกฤตการเงินต้มยำกุ้งในปี พ.ศ. 2540 ประเทศไทยเราไม่มีระบบคุ้มครองเงินฝากที่ชัดเจน โดยการดูแลผู้ฝากเงินขึ้นอยู่กับนโยบายของภาครัฐในแต่ละสถานการณ์ เมื่อถึงปี พ.ศ. 2540 อันเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยเผชิญวิกฤตต้มยำกุ้ง สถาบันการเงินหลายแห่งได้รับผลกระทบและจำเป็นต้องปิดตัวลง ภาระการรับรองความเสียหายจึงตกเป็นของภาครัฐเป็นหลัก ในขณะนั้นคณะรัฐมนตรีได้ประกาศให้ความคุ้มครองแก่ผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้เต็มจำนวน โดยอาศัยเงินภาษีอากรมาสนับสนุนผ่านการออกพันธบัตรชดเชยความเสียหาย ซึ่งถือเป็นภาระใหญ่ที่ภาครัฐต้องรับภาระในขณะนั้น

 

เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาขึ้นอีกในอนาคต ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงได้เสนอให้มีการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากขึ้น เพื่อทำหน้าที่ให้ความดูแลคุ้มครองเงินฝาก ซึ่งในที่สุด ร่างพระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝากได้ผ่านการพิจารณาและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2551 เป็นต้นมา โดยสถาบันคุ้มครองเงินฝากมีเป้าหมายสำคัญในการให้ความคุ้มครองผู้ฝากเงินให้ได้รับเงินคืนโดยเร็ว พร้อมทั้งคุ้มครองเงินฝากตามยอดเงินคุ้มครองที่กำหนดไว้อย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้ฝากเงินมีความไว้วางใจในระบบสถาบันการเงินเพิ่มมากขึ้น

 

การเพิ่มความไว้วางใจต่อสถาบันการเงินถือเป็นสิ่งสำคัญต่อการรักษาเสถียรภาพการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินอื่นๆ เป็นอย่างมาก เพราะรูปแบบการดำเนินธุรกิจของธนาคารที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ฝากเงินและผู้กู้เงิน ความเสี่ยงเรื่องสภาพคล่อง (Liquidity Risk) ถือเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่สำคัญต่อการดำเนินงาน ซึ่งโดยปกติสถาบันการเงินควรมีการวางแผนจัดการสภาพคล่องที่ดี สามารถดำเนินหน้าที่ได้ตามปกติในช่วงสภาวะทั่วไป แต่อย่างไรก็ตาม หากประชาชนจำนวนมากเกิดความไม่มั่นใจในระบบสถาบันการเงินจนเลือกถอนเงินฝากออกไปในเวลาเดียวกัน อันเป็นสภาวะที่เรียกกันว่า Bank Run ก็จะทำให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้างทั่วทั้งระบบสถาบันการเงินไทย

 

ดังนั้นในช่วงเวลาที่ระบบสถาบันการเงินยังมีความเสี่ยงสูง การคุ้มครองเงินฝากในวงเงินปริมาณมากจึงมีความจำเป็นอย่างมาก เพื่อเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้ฝากเงินในระบบสถาบันการเงินให้ยังคงฝากเงินอยู่ต่อไป และเมื่อสถาบันการเงินมีความพร้อมรองรับความเสี่ยงเรื่องสภาพคล่องที่ดีขึ้นจากการสะสมเงินทุนสำรองที่เพิ่มมากขึ้น จนสามารถรองรับความเสี่ยงต่อการดำเนินธุรกรรมได้มากขึ้น วงเงินการคุ้มครองเงินฝากของสถาบันคุ้มครองเงินฝากก็สามารถที่จะปรับลดลงได้ตามความเหมาะสม ซึ่งนี่เองคือสาเหตุหลักของการประกาศปรับลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากในครั้งนี้

 

ภายหลังจากที่ผ่านวิกฤตการเงินมาหลายปี ธนาคารพาณิชย์ได้ยกมาตรฐานในการบริหารความเสี่ยงของตนเองและได้รับการกำกับดูแลที่เข้มงวดจากธนาคารแห่งประเทศไทย จนทำให้ธนาคารมีความแข็งแกร่งด้านการเงินเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก สถาบันคุ้มครองเงินฝากจึงได้มีการวางแผนปรับลดวงเงินการคุ้มครองเงินฝากอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2551 โดยปรับวงเงินลดลงจากระดับ 10 ล้านบาท ในปี 2561 มาที่ 5 ล้านบาท ในปี 2562 และควรมีการปรับวงเงินลดลงเหลือ 1 ล้านบาท ในปี 2563 แต่เนื่องด้วยผลกระทบของการระบาดของโควิด เป็นเหตุให้ต้องเลื่อนการลดวงเงินคุ้มครองมายังปี 2564 นี้

 

จึงสรุปได้ว่าการลดการคุ้มครองเงินฝากลงเหลือ 1 ล้านบาทต่อบัญชี ตั้งแต่วันที่ 11 สิงหาคม 2564 เป็นการลดวงเงินการคุ้มครองที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับประเด็นด้านเศรษฐกิจ แต่เป็นประเด็นความแข็งแกร่งของธนาคารพาณิชย์อันเป็นกลุ่มสถาบันการเงินหลักที่ สคฝ. ให้ความคุ้มครอง โดยในปัจจุบัน สถานะทางการเงินของระบบธนาคารพาณิชย์รวมทั้งไทยและต่างประเทศ พบว่า มีเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงรวมสูงถึง 20% ซึ่งถือว่าสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ที่ประมาณ 11-12%

 

โดยข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2564 ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมียอดสินทรัพย์สภาพคล่องที่สำรองไว้ (High Quality Liquid Assets) สูงกว่า 5.23 ล้านล้านบาท ซึ่งเมื่อนำมาคำนวณแล้วพบว่า ปัจจุบันการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่อง (Liquidity Coverage Ratio: LCR) ของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีอัตราส่วนสภาพคล่องในระดับสูงที่ 186% ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ปัจจุบันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งไว้ที่ 100% เป็นอย่างมาก ซึ่งตัวเลข LCR นี้แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของการดูแลเงินฝากได้เป็นอย่างดี เปรียบเสมือนเมื่อยามที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินขึ้นจนทำให้มีการไหลออกของเงินฝากรวม 100 บาท ธนาคารได้มีการเตรียมสำรองสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับการถอนเงินไว้กว่า 186 บาท ซึ่งเพียงพอที่จะรองรับต่อสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงสูงได้

 

ทั้งนี้ วงเงินคุ้มครองเงินฝากที่ 1 ล้านบาทต่อบัญชี จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ครอบคลุมผู้ฝากเต็มจำนวน 82.07 ล้านราย คิดเป็น 98.03% ของผู้ฝากทั้งระบบ ซึ่งถือเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ จึงอยากให้ทุกท่านวางใจได้ว่าธนาคารพาณิชย์ไทยมีความแข็งแกร่งต่อความเสี่ยงสูงและสามารถคุ้มครองเงินฝากของทุกท่านได้เป็นอย่างดี

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X