×

โบรกจ่อหั่นเป้า ‘กำไร บจ.’ หลังรัฐปรับสูตรอุดหนุนราคาดีเซล กดดันเงินเฟ้อพุ่ง ฉุดกำลังซื้อในประเทศ

03.05.2022
  • LOADING...
กำไร บจ.

นักวิเคราะห์เตรียมหั่นเป้ากำไร บจ. ปีนี้ หลังรัฐบาลปรับสูตรอุดหนุนราคาดีเซลเป็นแบบขั้นบันได ระบุในอนาคตหากลอยตัวน้ำมันจริงจะกดดันเงินเฟ้อพุ่งสูงและกระทบกำลังซื้อในประเทศในที่สุด แนะลงทุนธุรกิจที่รับมือต้นทุนน้ำมันได้รวดเร็วและธุรกิจที่มีสินค้าและบริการที่จำเป็น 

 

เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เห็นชอบให้ปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลเป็นแบบขั้นบันไดตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายหลังวันที่ 30 เมษายน 2565 รัฐบาลจะปล่อยราคาดีเซลเกินลิตรละ 30 บาท และจะพยุงราคาคนละครึ่งแทน โดยตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานได้ปรับราคาน้ำมันดีเซลในเพดานใหม่จากไม่เกินลิตรละ 30 บาท เป็นไม่เกินลิตรละ 35 บาท แต่ยังทยอยขึ้นแบบขั้นบันไดเป็น 32 บาทต่อลิตรก่อน โดยให้ยึดหลักตาม ครม. ที่ส่วนเกินลิตรละ 30 บาท กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะเข้าไปอุดหนุนครึ่งหนึ่ง ประชาชนจ่ายอีกครึ่งหนึ่ง 

 

จ่อหั่นเป้ากำไร บจ. หลังต้นทุนน้ำมันขยับขึ้น

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ กล่าวว่า การปรับนโยบายอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลและในอนาคตก็มีแนวโน้มที่จะยกเลิกการสนับสนุนราคาและปล่อยลอยตัวตามราคาในตลาดโลก เป็นปัจจัยกดดันต่อต้นทุนผู้ประกอบการไทยเป็นอย่างมาก และจะกดดันให้เกิดการปรับเป้าหมายกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในปีนี้ 

 

ทั้งนี้ น้ำมันดีเซลเป็นตัวแปรต้นของหลายอุตสาหกรรม เช่น ภาคการขนส่งที่ใช้ดีเซลเป็นหลัก และภาคการผลิตที่มีน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงตั้งต้นส่วนหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในแต่ละภาคธุรกิจได้ เนื่องจากแต่ละธุรกิจจะมีวิธีการรับมือกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต่างกันออกไป 

 

วิธีการรับมือกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนั้นภาคธุรกิจส่วนใหญ่จะใช้วิธีปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการ แต่ความรวดเร็วใน Cost Push ไปสู่ผู้บริโภคก็จะต่างกัน 

 

ณัฐชาตกล่าวว่า อีกผลกระทบที่น่ากังวลจากการลอยตัวราคาดีเซลคือ ภาคการบริโภคที่จะถูกแรงกดดันจากราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสวนทางกับกำลังซื้อที่คงที่หรืออาจจะปรับลดลงในบางกลุ่ม เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจที่ได้ขยายตัวตามคาด

 

“เชื่อว่าจากนี้ไปจะได้เห็นเทรนด์การปรับลดเป้าหมายกำไร บจ. ของหลายๆ สำนักวิจัย แต่อาจจะไม่ได้ปรับลดลงมากเมื่อเทียบกับเป้าหมายกำไรทั้งปี 2565 ที่เคยประเมินไว้ตั้งแต่ต้นปี เนื่องจากราคาน้ำมันที่ขยับขึ้น ทำให้กลุ่มพลังงานต้นน้ำได้รับอานิสงส์เชิงบวก ซึ่งกลุ่มพลังงานเป็นกลุ่มที่ใหญ่ มีสัดส่วนกำไรต่อกำไร บจ. รวมค่อนข้างมาก” ณัฐชาตกล่าว 

 

ทั้งนี้ แนะนำให้ลงทุนในหุ้นกลุ่มที่รับมือกับต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้นได้อย่างรวดเร็ว, กลุ่มที่มีสินค้าและบริการที่จำเป็นต่อผู้บริโภค เช่น กลุ่มการแพทย์ และกลุ่มที่ยังสามารถเติบโตได้ท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจซบเซา คือกลุ่มบริหารหนี้ 

 

คาดภาคขนส่งขึ้นราคา 15-20%

ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า กรณีการปรับโครงสร้างอุดหนุนราคาดีเซลของภาครัฐนั้นจะทำให้ต้นทุนผู้ประกอบกาปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะภาคการขนส่ง ซึ่งคาดการณ์ว่าอาจจะมีการปรับขึ้นราคาขนส่ง 15-20% หากรัฐยกเลิกมาตรการสนับสนุน นอกจากนี้ยังทำให้เกิดการเร่งตัวของเงินเฟ้อในประเทศด้วย 

 

ดังนั้นในเบื้องต้นจะเริ่มเห็นกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในไตรมาส 1/65 มีโอกาสชะลอลง โดยเบื้องต้นฝ่ายวิจัยได้ทำ Earning Preview ทั้งหมด 35 บริษัท มีกำไรรวมทั้งสิ้น 9.6 หมื่นล้านบาท ลดลง 8.4% เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า และลดลง 23% เทียบกับไตรมาสเดียวกันปีที่แล้ว

 

หากลงรายละเอียดเป็นรายหุ้น พบว่าหลักๆ กำไรถูกกดดันจากหุ้นอิงกับราคา Commodity อาทิ หุ้นปิโตรฯ ถูกกดดันจาก Spread ลดลง หุ้นน้ำมันถูกกดดันจากการ Hedging รวมถึงหุ้นถุงมือยางกำไรลดลงจากหลักหมื่นล้านบาท เหลือระดับ 1 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม ยังเห็นกลุ่มหุ้นอิงกับการเปิดเมืองยังมีแนวโน้มฟื้นตัวดีต่อเนื่อง

 

กลุ่ม ‘ปั๊มน้ำมัน’ รับอานิสงส์เชิงบวกช่วงสั้น

ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า หากในอนาคตภาครัฐปล่อยลอยตัวราคาน้ำมัน กลุ่มปั๊มน้ำมันจะได้รับอานิสงส์เชิงบวกคือจะสามารถปรับขึ้นราคาหน้าปั๊มได้ สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงมากขึ้น ทำให้ค่าการตลาดสูงขึ้น นอกจากนี้กลุ่มปั๊มน้ำมันจะได้รับประโยชน์จากการเปิดประเทศซึ่งจะทำให้ปริมาณการเดินทางในประเทศสูงขึ้นด้วย 

 

อย่างไรก็ตาม อานิสงส์ดังกล่าวจะเกิดขึ้นในช่วงสั้นเท่านั้น เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศที่ซบเซา และอาจจะถูกซ้ำเติมจากเงินเฟ้อและราคาสินค้าและบริการที่อาจจะปรับเพิ่มขึ้นเพื่อสะท้อนต้นทุนพลังงาน จะกดดันให้กำลังซื้อภายในประเทศลดลง 

 

หุ้น ‘พลังงานต้นน้ำ’ กำไรเพิ่ม 3.2% 

ฝ่ายวิจัย บล.โนมูระ พัฒนสิน ระบุว่า กรณีที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นทะลุ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครนนั้น กลุ่มที่ได้รับผลกระทบด้านบวกโดยตรงคือกลุ่ม Energy โดยภาพรวมได้อัตรากำไรของธุรกิจต้นน้ำ และ Stock Gain ของโรงกลั่นหนุน ซึ่งเพียงพอชดเชยผลกระทบ Spread ปิโตรเคมีที่ลดลงได้ หนุนประมาณการกำไรจะเพิ่มขึ้น 3.2%

 

ขณะที่กลุ่มที่ได้รับผลกระทบด้านลบโดยตรงมี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มสาธารณูปโภค (Utilities) และกลุ่มการบิน (Aviation) และกลุ่มที่ได้รับผลกระทบด้านลบทางอ้อมจากการที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ซึ่งกระทบกับต้นของวัตุดิบ/สินค้า ได้แก่ Property, Contractor, Finance, Auto, Industrial Estate, Restaurant, Agro & Food, Electronics

 

ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจำกัด Healthcare, ICT, Banking, Hotel

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising