×

วิกฤตทะเลแดงกำลังบานปลาย สัญญาณอันตรายต่อเงินเฟ้อทั้งโลก

06.02.2024
  • LOADING...
วิกฤตทะเลแดง

จากนี้ต้องจับตาวิกฤตทะเลแดงอย่างใกล้ชิด หลังจากที่องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ออกมาเตือนว่าปัญหาทะเลแดงจะส่งผลต่อเงินเฟ้อโลกที่จะสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ประเทศไทยเองก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าวิกฤตนี้ได้ ล่าสุดสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) ยอมรับปีนี้วิกฤตทะเลแดงกระทบส่งออกรุนแรง หลังค่าระวางเรือพุ่ง 5 เท่า นำมาสู่มุมมองต่อภาคการส่งออกปีนี้ว่าจะเติบโตเพียง 1-2%

 

OECD ระบุว่า อัตราค่าระวางทางทะเลที่เพิ่มขึ้น 100% เมื่อไม่นานมานี้อาจทำให้ราคานำเข้าใน 38 ประเทศสมาชิกเพิ่มขึ้นเกือบ 5% หากลากยาวไปอีกจะเพิ่มขึ้นในอัตรา 0.4% ต่อราคาโดยรวมที่เพิ่มขึ้นหลังจากผ่านไป 1 ปี  

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:  

 


 

โดยหลังจากปลายปีที่ผ่านมาบรรดาบริษัทขนส่งรายใหญ่เริ่มเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือโดยเลี่ยงใช้คลองสุเอซของอียิปต์ ซึ่งเป็นเส้นทางการค้าระหว่างยุโรปและเอเชีย ต้องอ้อมไกลไปถึงแหลมกู๊ดโฮปรอบๆ ชายฝั่งตอนใต้ของแอฟริกา ทำให้เวลาการเดินทางเพิ่มขึ้นระหว่าง 30-50% ส่งผลต่อจำนวนเรือขนส่งในตลาดโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

แคลร์ ลอมบาร์เดลลี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ OECD กล่าวว่า วิกฤตครั้งนี้ถือเป็นความเสี่ยงต่ออัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ไม่ใช่กรณีพื้นฐานของกลุ่มก็ตาม

 

“ทะเลแดงจึงเป็นสิ่งที่ควรจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะสะท้อนชัดแล้วว่าค่าระวางเรือเพิ่มขึ้น หากบานปลายโลกจะเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลต่อราคาสินค้า กระทบค่าครองชีพ แม้ ณ เวลานี้เราไม่คาดคิดว่าจะถึงขั้นนั้นก็ตาม” ลอมบาร์เดลลีกล่าว

 

นอกจากนี้ วิกฤตทะเลแดงยังส่งผลให้ตลาดน้ำมันทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไป โดยประเทศผู้นำเข้ากำลังมองหาเชื้อเพลิงพื้นที่ในท้องถิ่นมากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงและลดความเสี่ยง เช่น อินเดีย และเกาหลีใต้ ที่ต้องกระจายความเสี่ยงขนส่งน้ำมันและยอมแลกมาในราคาที่สูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีผลต่อโรงกลั่นน้ำมันที่ต้องการรักษาความยืดหยุ่นท่ามกลางความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์

 

พลังงานเกาะติดราคาน้ำมันตลาดโลก

 

ด้านวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า สนพ. ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลกตั้งแต่เดือนธันวาคม 2566 ภูมิภาคตะวันออกกลางต้องเกาะติดวิกฤตทะเลแดงอย่างใกล้ชิด เพราะเริ่มส่งผลให้ตลาดกังวลถึงผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป เนื่องจากบริษัทรายใหญ่ ได้แก่ BP, MSC และ Maersk ปรับเปลี่ยนเส้นทางการขนส่งน้ำมันผ่านทะเลแดงไปเป็นเส้นทางผ่านแหลมกู๊ดโฮป ซึ่งจะใช้เวลานานมากขึ้นกว่า 10 วัน ทำให้ค่าขนส่งเรือบรรทุกน้ำมันดิบ Suezmax พุ่งสูงขึ้น 29%

 

ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวลดลง สาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น

 

  • ราคาน้ำมันดิบปรับลดสู่ระดับสูงสุดในรอบ 6 เดือน เนื่องจากนักลงทุนกังวลอุปสงค์พลังงานที่ซบเซาในสหรัฐอเมริกาและจีน ซึ่งนักลงทุนคาดว่าการปรับลดกำลังการผลิต 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวันจนถึงไตรมาสแรกของปี 2567 ของกลุ่ม OPEC+ อาจไม่เพียงพอ เมื่อเทียบกับอุปสงค์ความต้องการใช้น้ำมันดิบโลกที่ยังคงอ่อนแอ
  • สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐฯ (EIA) ชี้ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ อยู่ที่ระดับกว่า 13 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งใกล้แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
  • สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) ชี้ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ลดลงร้อยละ 0.5 และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ปรับลดลงร้อยละ 3.0 เมื่อเทียบรายปี ซึ่งสะท้อนถึงภาวะเงินฝืดที่รุนแรงขึ้น และความไม่มั่นใจในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน 

 

ผู้ส่งสินค้าทางเรือยอมรับวิกฤตทะเลแดงรุนแรง ค่าระวางพุ่ง 4-5 เท่า

 

วันนี้ (6 กุมภาพันธ์) ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า วิกฤตทะเลแดงส่งผลกระทบรุนแรงต่อการส่งออกของไทยในปีนี้ ส่งผลให้ สรท. วางเป้าหมายผลักดันการส่งออกของไทยในปีนี้ให้เติบโต 1-2%

 

“ยอมรับว่าทะเลแดงส่งผลกระทบชัดเจนซึ่งอยู่เหนือการควบคุม โดยปริมาณเรือสินค้าลดลงจากวันละ 100-120 ลำ เหลือราว 50 ลำ หากวิกฤตยืดเยื้อและขยายวงออกไปจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนผู้ส่งออก เพราะขณะนี้ค่าระวางเรือปรับเพิ่มขึ้นไป 4-5 เท่า แต่ยังคงไม่สูงเท่าช่วงเกิดวิกฤตโควิด”  

 

ทั้งนี้ สรท. เผยถึงปัจจัยเฝ้าระวังที่อาจส่งผลกระทบ ดังนี้

 

  • การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าเล็กน้อย โดยค่าเงินบาทเคลื่อนตัวอยู่ในกรอบ 34-35 บาท  
  • อัตราดอกเบี้ยนโยบายหลายประเทศยังคงทรงตัวระดับสูง ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงดอกเบี้ยนโยบายต่อ คาดว่าจะมีการปรับในช่วงเดือนพฤษภาคม ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศต่างๆ ทั่วโลกยังคงทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์ทะเลแดงอาจส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมัน ซึ่งจะส่งผลให้สินค้าอุปโภคและบริโภคปรับสูงขึ้น นำไปสู่เงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้น 
  • ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ ส่งผลกระทบต่อการค้าและเศรษฐกิจโดยรวม 
  • ต้นทุนภาคการผลิตที่ยังมีความไม่แน่นอน เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าแรงขั้นต่ำ และค่าระวางเรือเส้นทางยุโรป-ตะวันออกกลาง-สหรัฐฯ เริ่มปรับตัวสูงขึ้น 

 

ภาพ: Suriyapong Thongsawang / Getty Images 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X