×

WEALTH IN DEPTH: เกิดอะไรขึ้นที่ทะเลแดง เหตุโจมตีเรือบรรทุกสินค้าของกลุ่มกบฏฮูตีเขย่าซัพพลายเชนโลก และกำลังสะเทือนถึงไทย?

20.12.2023
  • LOADING...
ทะเลแดง

ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ข่าวร้ายส่งท้ายปีในขณะนี้คงต้องจับตาไปที่เหตุการณ์ ‘ทะเลแดง’ หรือ Red Sea ที่ยังคงตึงเครียด เมื่อกลุ่มกบฏฮูตีในเยเมนก่อเหตุโจมตีเรือบรรทุกสินค้าในทะเลแดง ส่งผลให้บรรดาบริษัทขนส่งทางเรือ หรือชิปเปอร์ (Shippers) รายใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น MSC, Hapag-Lloyd, CMA, CGM, Yang Ming Marine Transport, Evergreen, Maersk รวมไปถึง BP บริษัทน้ำมันระดับโลก ต้องปรับแผนเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือใหม่ 

 

คำถามที่ตามมาคือ แล้วเหตุการณ์นี้มีที่มาที่ไปอย่างไร จะมีผลต่อการค้าไทยมากน้อยแค่ไหน เมื่อผู้ส่งออกเอเชีย รวมถึงไทยเอง ก็ใช้เส้นทางนี้เป็นเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้าผ่านไปยังยุโรป 

 

สำนักข่าว The Guardian รายงานบทวิเคราะห์ Red Sea crisis explained: what is happening and what does it mean for global trade? ว่า การโจมตีโดยกลุ่มติดอาวุธฮูตีที่ได้รับการสนับสนุนจากอิหร่านบนเรือในทะเลแดงได้เริ่มเขย่าการค้าโลกแล้ว เพราะบรรดาบริษัทสายการเดินเรือระดับโลกที่ระบุดังข้างต้น รวมไปถึงผู้ขนส่งน้ำมันรายใหญ่ เริ่มระงับการให้บริการผ่านทะเลแดง ส่งผลให้ซัพพลายเชนโลกหยุดชะงัก ราคาพลังงานและราคาสินค้าเริ่มปรับตัวสูงขึ้น 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

 


 

เกิดอะไรขึ้นก่อนหน้านี้

 

เมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา กลุ่มกบฏฮูตีในเยเมนได้เปิดปฏิบัติการโจมตีเรือขนส่งสินค้าเชิงพาณิชย์ที่เดินทางผ่านทะเลแดงตอนล่าง เพื่อตอบโต้การทิ้งระเบิดฉนวนกาซาของอิสราเอล

 

ส่งผลให้กลุ่มฮูตีพยายามจี้เรือบรรทุกน้ำมันของบรรดาพ่อค้า และมุ่งเป้าไปที่เรือบรรทุกสินค้าด้วยโดรนและขีปนาวุธจนสำเร็จ

 

กระทั่งภัยคุกคามได้เริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา จนถึงจุดที่บริษัทเดินเรือระดับโลกและบริษัทน้ำมันจำเป็นต้องเปลี่ยนเส้นทางท่ามกลางความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ที่ได้ประกาศจัดตั้งแนวร่วมทางทะเลเพื่อปกป้องการเดินเรือจากการโจมตี

 

จนถึงขณะนี้ แม้จะยังไม่มีรายงานการเสียชีวิต แต่สถานการณ์ขณะนี้ยังคงตึงเครียดมากขึ้นเรื่อยๆ

 

‘ทะเลแดง’ อยู่ตรงไหน มีความสำคัญต่อการค้าโลกอย่างไร

 

ทะเลแดงเป็นหนึ่งในน่านน้ำสำคัญของโลกที่ใช้ลำเลียงสินค้า และเรียกได้ว่าเป็นเส้นทางเดินเรือที่มีการจราจรทางน้ำที่แออัดมากที่สุดในโลก มีพื้นที่ตั้งอยู่ทางใต้ของคลองสุเอซ

 

เส้นทางนี้ถือเป็นเส้นทางการค้าหลักของเอเชียและยุโรปจากมหาสมุทรอินเดียไปทางตะวันตก ผ่านช่องแคบบับเอลมันเดบ อยู่ระหว่างประเทศจีบูติและเยเมน เชื่อมต่อไปยังคลองสุเอซ อียิปต์ ขนส่งสินค้าหลักๆ คือพลังงาน ผ่านทะเลเมดิเตอร์เรเนียนไปยังจุดหมายปลายทางยุโรป 

 

International Chamber of Shipping ซึ่งเป็นตัวแทนของกองเรือพาณิชย์ ระบุว่า คลังพลังงานของยุโรปจำนวนมหาศาล ทั้งน้ำมันดิบและเชื้อเพลิงดีเซล ผลิตภัณฑ์อาหาร น้ำมันปาล์มและธัญพืช รวมถึงสินค้าเกษตร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นสินค้าเพื่อนำไปผลิต ล้วนขนส่งต้องผ่านเส้นทางนี้ทั้งสิ้น

 

“ทะเลแดงจึงเป็นเส้นทางการค้าทางทะเลที่สำคัญและมีสัดส่วนถึง 12% ของการค้าโลก มีปริมาณการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์สินค้าถึง 30% ของทั้งโลก ในแต่ละปีจะมีการขนถ่ายสินค้าหลายพันล้านดอลลาร์ ตั้งแต่สินค้า น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ไปจนถึงสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และสินค้าบริโภคในชีวิตประจำวัน”

 

จึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าวิกฤตทะเลแดงครั้งนี้ย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก และยิ่งจุดชนวนความเสี่ยงที่สงครามอาจจะลุกลามขยายวงกว้างในตะวันออกกลางมากยิ่งขึ้น  

 

สะเทือนซัพพลายเชนโลก?

 

เหตุการณ์เพียงช่วงสัปดาห์ส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันและก๊าซให้พุ่งสูงขึ้นทันที หลัง  BP บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่จากอังกฤษ ระงับการขนส่งผ่านเส้นทางนี้ และบรรดานักวิเคราะห์กล่าวว่า บริษัทน้ำมันจำนวนมากอาจหยุดการขนส่งผ่านทะเลแดง ทำให้ต้นทุนด้านพลังงานโลกก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอีก

 

“โดยเฉพาะการตัดสินใจหลีกเลี่ยงเส้นทางทะเลแดงของบรรดาบริษัทเดินเรือที่ใหญ่ที่สุดถึง 7 ใน 10 บริษัทข้างต้นเริ่มเปลี่ยนเส้นทางไปรอบๆ แหลมกู๊ดโฮปที่ต้องใช้เวลานานขึ้นถึง 2 สัปดาห์แต่เพื่อแลกกับความปลอดภัย ตลอดจนสินค้าในเรือบรรทุกเหล่านี้มีมูลค่ามหาศาลคิดเป็นประมาณ 60% ของการค้าโลกทีเดียว”

 

นอกจากบริษัทต่างๆ ต้องจ่ายต้นทุนเดินเรือเพิ่ม ยังต้องจ่ายค่าประกันภัยความเสี่ยงในการเดินเรือ เพื่อผ่านพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นถึง 0.7%  

 

แม้บริษัทเหล่านี้จะมีทางเลือก 2 ทาง คือ การเผชิญกับความเสี่ยงในการเดินทางผ่านทะเลแดงแต่ต้องแลกค่าประกันที่เพิ่มขึ้น กับเลือกที่จะเปลี่ยนเส้นทางเรือ ก็ล้วนมีความเสี่ยงที่ไม่ต่างกัน 

 

 

ค่าระวางเรือเพิ่มขึ้น 5% มีผลต่อราคาสินค้า

 

หากนับตั้งแต่สงครามอิสราเอล-ฮามาสปะทุขึ้นเมื่อเดือนตุลาคม Freightos ระบุว่า เส้นทางจากเอเชีย-สหรัฐฯ มีค่าระวางเรือชายฝั่งตะวันออกเพิ่มขึ้น 5% อยู่ที่ 2,497 ดอลลาร์ต่อตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต ดังนั้นเหตุการณ์โจมตีครั้งนี้นอกจากจะยิ่งทำให้สินค้ามีราคาแพงขึ้นอีก เนื่องจากบริษัทใหญ่ๆ ต้องอ้อมไปใช้เส้นทางอื่น 

 

“แต่กว่าจะไปถึงจุดหมายปลายทางอาจเกิดภาวะวิกฤตซ้อนวิกฤตจากความแออัดของเรือ บวกกับความล่าช้าในการส่งมอบตู้คอนเทนเนอร์และสินค้าที่จะเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้”

 

โดย ไมเคิล แอลด์เวล รองประธานบริหารฝ่ายโลจิสติกส์ทางทะเล กล่าวว่า การขนส่งตู้คอนเทนเนอร์นั้นคิดเป็น 1 ใน 3 ของการขนส่งทั่วโลก

 

“แต่ละปีมีเรือประมาณ 19,000 ลำแล่นผ่านคลองสุเอซ หากเหตุการณ์นี้ยังยืดเยื้อจนเกิดความล่าช้าในการส่งคืนตู้คอนเทนเนอร์เปล่าไปยังเอเชีย จะยิ่งเพิ่มปัญหาให้กับห่วงโซ่อุปทาน” 

 

สรท. ห่วงค่าระวางเรือพุ่ง ไทยเตรียมรับแรงกระแทก เพราะต้องปรับเส้นทางเดินเรือ

 

ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวกับ “THE STANDARD WEALTH” ว่า เส้นทางนี้เป็นเส้นทางหลักในการส่งออกสินค้าไทยและจากเอเชียไปยุโรป ณ วันนี้อาจพูดได้ว่ายังไม่กระทบ เพราะสินค้าส่วนใหญ่ได้ส่งมอบให้คู่ค้าไปแล้วเพื่อให้ทันต่อเทศกาลปีใหม่ แต่หากสถานการณ์มีความรุนแรงมากขึ้นและขยายวงกว้าง ยอมรับว่ากังวล แน่นอนว่าขณะนี้ผู้ส่งออกไทยก็เกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมรับมือกับความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบขึ้นได้ในอนาคต 

 

“พรุ่งนี้ วันที่ 21 ธันวาคม ทาง สรท. จะประชุมร่วมกับภาครัฐ โดยกระทรวงพาณิชย์ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อเตรียมรับมือค่าระวางเรือ เนื่องจากคาดว่าอาจต้องเปลี่ยนเส้นทาง โดยอ้อมไปทางประเทศแอฟริกาใต้ที่ต้องผ่านแหลมกู๊ดโฮป  (Cape of Good Hope) ซึ่งจะใช้ระยะเวลาการขนส่งจะนานขึ้นถึง 15 วัน และเบื้องต้นค่าระวางเรืออาจจะเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1,500 ดอลลาร์ต่อตู้คอนเทนเนอร์สำหรับการส่งสินค้าไปยุโรป และหารือถึงค่าประกันภัยความเสี่ยงที่จะปรับเพิ่มขึ้นด้วย”

 

อย่างไรก็ตาม ณ วันนี้ยังมีเรือวิ่งเข้า-ออกช่องแคบบับเอลมันเดบ หลังจากที่สายเดินเรือรายใหญ่เริ่มประกาศระงับการเดินเรือเส้นทางนี้ แต่ที่ต้องจับตาจากนี้คือ ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่อาจรุนแรงนั้นจะถึงขั้นปิดคลองสุเอซหรือไม่ เพราะเส้นทางนี้เป็นเส้นทางหลักไปยุโรป ซึ่งจะเป็นปัจจัยเสี่ยงซ้ำเติมการส่งออกไทย 

 

“คาดหวังว่าเหตุการณ์จะไม่เลวร้ายไปมากกว่านี้ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกปีหน้าก็ต้องจับตาในหลายๆ มิติด้วย” ชัยชาญกล่าว

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising