×

บังเอิญหรือตั้งใจ? จับสังเกตความเคลื่อนไหว Red Bull กับก้าวที่เดินไว้ก่อนเจอกระแสต้าน ‘อยู่วิทยา’

โดย THE STANDARD TEAM
31.07.2020
  • LOADING...
บังเอิญหรือตั้งใจ? จับสังเกตความเคลื่อนไหว Red Bull กับก้าวที่เดินไว้ก่อนเจอกระแสต้าน ‘อยู่วิทยา’

HIGHLIGHTS

5 MINS. READ
  • ไม่แน่ใจว่าเป็นก้าวที่เตรียมล่วงหน้า 2-3 ปีเพื่อรับมือกระแสต้าน ‘บอส อยู่วิทยา’ หรือว่าเป็นแผนปัดฝุ่นภาพลักษณ์แบรนด์ตามวาระของ Red Bull GmbH ที่บังเอิญเกิดขึ้นในช่วงเวลาพอเหมาะพอเจาะ สำหรับการเปิดทางให้สื่อมวลชนเรียก Red Bull เป็นผู้ผลิต Energy Drink สัญชาติออสเตรีย โดยใช้คำว่า ‘Red Bull GmbH, the Austrian owner of Red Bull’
  • Red Bull GmbH ในคราบบริษัทออสเตรีย ถูกยกให้เป็นผู้จำหน่ายเครื่องดื่มชูกำลังที่มียอดขาย 7,500 ล้านกระป๋องทั่วโลกในปี 2019 ทำสถิติใหม่ เพราะขาดอีกนิดก็จะเท่าจำนวนประชากรโลก 7,700 ล้านคนแล้ว
  • ยอดขายถล่มทลายแบบที่ไม่เคยทำได้มาก่อน เป็นผลจากการตลาดหลากรูปแบบ ทั้งการใช้ดนตรี กีฬา โดยเฉพาะการเป็นสปอนเซอร์จัดกรรมเพื่อเข้าถึงมวลชนคนชอบเครื่องดื่มชูกำลัง แต่ทั้งหมดนี้กำลังเปลี่ยนแปลง เพราะ Red Bull GmbH กำลังปรับโฟกัสใหม่ด้วยการโละทิ้งมิวสิกมาร์เก็ตติ้งที่เคยทำ แถมยังปลดผู้บริหารที่มีข่าวเกี่ยวข้องกับกรณีเหยียดผิวทำให้บริษัทดูมีภาพลักษณ์ที่เด็ดขาด

ช่วงกุมภาพันธ์ 2563 บริษัท Red Bull GmbH เป็นข่าวเรื่องยอดขายพุ่งกระฉูด 7,500 ล้านกระป๋องทั่วโลก ขาดอีกนิดก็จะดูเหมือนว่าประชากรโลก 7,700 ล้านคนควักกระเป๋าซื้อ Red Bull คนละกระป๋อง ยอดขายนี้เป็นของปี 2562 ซึ่งได้แรงหนุนจากการเติบโตในตลาดเกิดใหม่ เช่น บราซิล อินเดีย และแอฟริกา

 

Red Bull บอกว่า มูลค่ายอดขายของบริษัทเพิ่มขึ้น 9.5% เบ็ดเสร็จเป็นเงินเกือบ 6,100 ล้านยูโร หรือกว่า 2.27 แสนล้านบาท จากยอดขายที่เพิ่มขึ้นในอินเดียกว่า 37% และบราซิลที่โตขึ้น 30% 

 

น่าเสียดายที่ Red Bull GmbH ไม่เปิดเผยว่าทำกำไรเพิ่มขึ้นเท่าไร ระบุเพียงว่าเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ ซึ่งชัดเจนว่าเจ้าของ Red Bull GmbH ที่เป็นมหาเศรษฐีพันล้านจะได้โชคก้อนใหญ่ เพราะบริษัทมีแผนแจกจ่ายผลกำไรให้กับผู้ถือหุ้นมากกว่า 500 ล้านยูโร หรือ 1.8 หมื่นล้านบาท 

 

บริษัทสัญชาติออสเตรีย

สื่อต่างชาติมากกว่า 3 รายที่รายงานข่าวนี้ เรียกบริษัท Red Bull GmbH ว่าเป็นบริษัทสัญชาติออสเตรีย แม้ว่าภาพของ Red Bull จะเชื่อมกับแบรนด์กระทิงแดงของไทยแบบแนบแน่นตั้งแต่ช่วงตั้งไข่ในปี 2530 

 

เพราะเวลานั้น ดีทริช เมเทสซิทซ์ (Dietrich Mateschitz) ชาวออสเตรีย จับมือก่อร่างบริษัทร่วมกับ เฉลียว อยู่วิทยา แบ่งหุ้นกัน 49% โดยยก 2% ที่เหลือให้เจ้าหนู เฉลิม อยู่วิทยา ในวันนั้นได้ถือไว้ 

 

ดีทริช เมเทสซิทซ์ ชาวออสเตรียที่จับมือก่อร่างบริษัทร่วมกับ เฉลียว อยู่วิทยา ในการสร้างชื่อ Red Bull ทั่วโลก

 

จนกระทั่งเฉลิมได้ใช้เวลากว่า 5 ปีในการขึ้นเป็นประธานบริษัท เรดบูล คอมปานี ลิมิเต็ดฯ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ดูแลตลาดในภาคพื้นยุโรป ช่วงหลังจากที่เฉลียวคนพ่อเสียชีวิตเมื่อ 17 มีนาคม 2555

 

เพียง 3 ปีหลังจากที่ บอส-วรยุทธ อยู่วิทยา ก่อคดีขับรถชนตำรวจจราจรเสียชีวิตเมื่อปี 2555 กลุ่มธุรกิจกระทิงแดงและ Red Bull GmbH พยายามโหมประชาสัมพันธ์ว่าทั้งคู่แยกกันบริหารอย่างอิสระ 

 

โดยเฉพาะปี 2560 ที่ธุรกิจกระทิงแดงประกาศเปลี่ยนผ่านโครงสร้างด้วยการดึง สราวุฒิ อยู่วิทยา มานั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจกระทิงแดง เน้นเจาะตลาดในประเทศเป็นหลัก ขณะที่คุณพ่อเฉลิมของบอสต้องหลุดจากตำแหน่งในปีเดียวกัน

 

จากประวัติเรื่องเมเทสซิทซ์ ได้ค้นพบว่า ‘กระทิงแดง’ ช่วยบรรเทาอาการ Jet Lag ได้ดี จนมีการพัฒนาความสัมพันธ์ใกล้ชิดระหว่างครอบครัวเมเทสซิทซ์และอยู่วิทยา ที่พาให้ทั้งคู่กลายเป็นมหาเศรษฐี 

 

วันนี้ Red Bull GmbH ถูกเรียกเป็นบริษัทที่มีฐานในเมือง Fuschl ของออสเตรีย พร้อมมีพนักงานทั้งหมด 12,700 คน มียอดขายโดยเฉลี่ยมากกว่า 20 ล้านกระป๋องในปี 2562 หรือคิดเป็นยอดขาย 850,000 กระป๋องต่อชั่วโมง

 

 

ปรับโฟกัสใหม่-เด็ดขาดกว่าเดิม

ข่าวล่าสุดของ Red Bull GmbH ที่ร้อนแรงที่สุดช่วงโควิด-19 คือการเตรียมปิดตัวธุรกิจสตูดิโอเพลง ซึ่งเป็นข่าวที่ชัดเจนว่า Red Bull กำลังตัดทอนความสัมพันธ์ของบริษัทกับอุตสาหกรรมบันเทิงลง เพื่อปรับโฟกัสการตลาดครั้งใหญ่ 

ขณะเดียวกันก็มีข่าวว่า Red Bull GmbH สั่งปลดผู้บริหารใหญ่ในภาคพื้นอเมริกาเหนือ เป็นการล้างภาพองค์กรให้มีความเด็ดขาดชัดเจน (แก้ไขล่าสุด 31 กรกฎาคม เวลา 19.00 น.)

 

ทั้งสองข่าวล้วนสะท้อนว่า Red Bull GmbH กำลังปรับตัว ซึ่งอาจเป็นเพราะวิกฤตโควิด-19 ที่ทำให้บริษัทตัดสินใจจบโครงการที่เกี่ยวกับเพลง รวมถึงกิจกรรมดนตรี Red Bull ทั้งหมดที่จะถูกยกเลิก 

 

โดยที่ผ่านมา Red Bull เปิดสตูดิโอเพลงกว่า 11 แห่งในเมืองใหญ่ ทั้งนิวยอร์ก ลอสแอนเจลิส ลอนดอน เบอร์ลิน อัมสเตอร์ดัม โอ๊กแลนด์ เคปทาวน์ เซาเปาโล โตเกียว และปารีส 

 

เมื่อปีที่แล้วก็มีการจัดงานเทศกาลดนตรีของตัวเองในลอนดอนตลอดเดือนสิงหาคมและกันยายน เรียกเสียงเฮจากแฟนคลับที่ร่วมชมการแสดงจากศิลปินกว่า 100 คน นอกจากนี้ยังจัดงานเทศกาลดนตรีในลอสแอนเจลิสและนิวยอร์กเมื่อต้นปีด้วย

 

การตัดสินใจนี้เป็นภาคต่อจากปี 2562 ที่ Red Bull ได้ปิดตัว Red Bull Music Academy และ Red Bull Radio ลง โดยเลือกที่จะยังทำค่ายเพลง Red Bull Records ในสหรัฐอเมริกาต่อไป 

 

 

เน้นการตลาดทางวัฒนธรรมที่สร้างอิมแพ็กมากที่สุด

การเปลี่ยนแปลงนี้ Red Bull GmbH บอกว่า เป็นเพราะบริษัทจะหันไปทำโครงการการตลาดทางวัฒนธรรมในจุดที่สร้างอิมแพ็กมากที่สุด ซึ่งอาจเป็นการลงทุนด้านเนื้อหา เช่น ในออสเตรียที่ Red Bull เตรียมถ่ายทอดการแข่งขัน F1 ทางช่องทีวีของ Red Bull เอง

 

จากรายงานของ Wall Street Journal พบว่า ข่าวเรื่องการโบกมือลาสตูดิโอเพลงและกิจกรรมดนตรีของ Red Bull นั้นตามมาด้วยความตึงเครียดภายในบริษัท สาเหตุเป็นเพราะปฏิกิริยาของกระแส Black Lives Matter 

 

ต้นตอของเรื่องคือพนักงาน Red Bull ในสหรัฐอเมริกาบางคนออกมาแสดงความกังวลที่บริษัทนิ่งเฉยเรื่องการเคลื่อนไหวด้าน Black Lives Matter โดยมีการตั้งประเด็นว่าบางส่วนขององค์กรมีกลิ่นปัญหาเหยียดผิวไม่น้อย

 

‘Red Bull GmbH, the Austrian owner of Red Bull’ จึงถูกระบุชัดในรายงานของสื่อต่างประเทศว่าได้ยืนยันการพ้นตำแหน่งของ Stefan Kozak หัวหน้าผู้บริหารระดับสูงในอเมริกาเหนือ และ Amy Taylor ประธานอเมริกาเหนือ และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการตลาดของบริษัท ซึ่งในแถลงการณ์ Red Bull GmbH ไม่ได้ให้ข้อมูลสาเหตุที่แน่ชัด แต่ย้ำว่าบริษัทปฏิเสธการเหยียดเชื้อชาติในทุกรูปแบบเสมอ (แก้ไขล่าสุด 31 กรกฎาคม เวลา 19.00 น.)

 

 

“Red Bull ให้ความสำคัญกับการเชื่อมผู้คนเข้ากับความฝัน และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกคน ไม่ว่าพวกเขาจะเป็นใคร เราต้องการให้ทุกคนที่รู้สึกแบบนี้ ได้รับการต้อนรับเต็มที่ที่ Red Bull” แถลงการณ์ระบุ

 

อย่าลืมว่านี่คือแถลงการณ์ของ Red Bull GmbH ที่ไม่เกี่ยวกับกระแสต้าน บอส-วรยุทธ อยู่วิทยา

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising