×

กสม. แนะราชทัณฑ์ยกเลิกกฎห้ามผู้ต้องขังติดต่อผู้ที่ไม่ใช่ญาติทางสายเลือดทุกเรือนจำทั่วประเทศ

โดย THE STANDARD TEAM
09.02.2024
  • LOADING...

วันนี้ (9 กุมภาพันธ์) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) โดย วสันต์ ภัยหลีกลี้ และ สุภัทรา นาคะผิว กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่ กสม. เสนอกรมราชทัณฑ์และเรือนจำกลางบางขวาง ยกเลิกข้อบังคับให้ผู้ต้องขังติดต่อทางจดหมายได้เฉพาะญาติที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดเท่านั้น

 

วสันต์กล่าวว่า กสม. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ร้องรายหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ต้องขังเด็ดขาดของเรือนจำกลางบางขวาง เมื่อเดือนเมษายน 2566 ระบุว่า ปัจจุบันผู้ร้องถูกควบคุมตัวอยู่แดน 2 เรือนจำกลางบางขวาง เมื่อปี 2564 ทางเรือนจำออกข้อบังคับให้ผู้ต้องขังติดต่อบุคคลภายนอกได้เฉพาะผู้ที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดเท่านั้น ทำให้ผู้ร้องไม่สามารถติดต่อบุคคลอื่นได้ 

 

เนื่องจากบิดาและมารดาของผู้ร้องเสียชีวิตแล้ว นอกจากนี้ ผู้ร้องยังไม่สามารถส่งจดหมายติดต่อเพื่อนหรือบุคคลที่ผู้ร้องรู้จักได้ เนื่องจากเรือนจำมีข้อบังคับเพื่อป้องกันผู้ต้องขังส่งข้อความที่อาจผิดกฎหมายไปยังบุคคลภายนอก ผู้ร้องเห็นว่า เรือนจำสามารถตรวจสอบข้อความในจดหมายได้อยู่แล้ว ประกอบกับเรือนจำอื่นๆ อนุญาตให้ผู้ต้องขังติดต่อกับบุคคลภายนอกได้ จึงขอให้ตรวจสอบเกี่ยวกับสิทธิของผู้ต้องขังที่พึงได้รับตามที่กฎหมายบัญญัติ 

 

กสม. ได้พิจารณาข้อเท็จจริงจากทุกฝ่าย หลักกฎหมาย และหลักสิทธิมนุษยชนที่เกี่ยวข้องแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 36 บัญญัติรับรองให้บุคคลมีสิทธิและเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารถึงกัน การตรวจ การกัก หรือการเปิดเผยข้อมูลที่บุคคลสื่อสารถึงกัน รวมทั้งการกระทำด้วยประการใดๆ เพื่อให้ล่วงรู้หรือได้มาซึ่งข้อมูลที่บุคคลสื่อสารถึงกันจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ 

 

สอดคล้องกับกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง ข้อ 17 ที่รับรองว่า บุคคลจะถูกแทรกแซงความเป็นส่วนตัวหรือการติดต่อสื่อสารโดยพลการหรือโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไม่ได้ โดยพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 มาตรา 60 ได้บัญญัติรับรองสิทธิของผู้ต้องขังที่จะได้รับอนุญาตให้ติดต่อกับบุคคลภายนอกได้ โดยบุคคลที่จะได้รับอนุญาตให้เข้าไปในเรือนจำเพื่อเยี่ยมผู้ต้องขังจะต้องปฏิบัติตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ที่ประกาศไว้ 

 

นอกจากนี้ ข้อกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำแห่งองค์การสหประชาชาติในการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง (United Nations Standard Minimum Rules for the Treatment of Prisoners) หรือข้อกำหนดแมนเดลา ข้อ 58 ยังกำหนดให้ผู้ต้องขังต้องได้รับอนุญาตให้สื่อสารกับครอบครัวและเพื่อนตามระยะเวลาที่เหมาะสม โดยมีการกำกับดูแลเท่าที่จำเป็น ทั้งในรูปแบบการเขียนจดหมายและการเยี่ยม 

 

วสันต์กล่าวต่อว่า จากการตรวจสอบปรากฏว่า พระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการติดต่อสื่อสารของผู้ต้องขังกับบุคคลภายนอก กรณีสื่อสารทางจดหมาย ไม่ได้กำหนดให้ผู้ต้องขังสามารถติดต่อได้เฉพาะญาติที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือด ยกเว้นกรณีติดต่อสื่อสารผ่านทางโทรศัพท์หรือเครือข่ายคมนาคมที่เรือนจำจะอนุญาตให้ผู้ต้องขังติดต่อเฉพาะญาติเท่านั้น ส่วนกรณีการจัดทำบัญชีรายชื่อบุคคลภายนอกที่จะติดต่อกับผู้ต้องขังไว้ล่วงหน้า เรือนจำสามารถกำหนดให้ผู้ต้องขังแจ้งรายชื่อบุคคลภายนอกที่จะติดต่อกันไว้ล่วงหน้า จำนวนไม่เกิน 10 รายชื่อ ซึ่งเป็นการดำเนินการกรณีบุคคลเข้าเยี่ยมหรือติดต่อกับผู้ต้องขังในเรือนจำเท่านั้น โดยไม่มีระเบียบใดกำหนดให้ผู้ต้องขังต้องแจ้งรายชื่อบุคคลที่จะสื่อสารทางจดหมายไว้ล่วงหน้า

 

เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการคุมขังและปฏิบัติต่อผู้ต้องขังในแดนความมั่นคงสูงสุด และเรือนจำความมั่นคงสูงสุด พ.ศ. 2561 ที่กำหนดให้เรือนจำความมั่นคงสูงสุด 5 แห่ง ได้แก่ เรือนจำกลางเขาบิน เรือนจำกลางระยอง เรือนจำกลางพิษณุโลก เรือนจำกลางคลองไผ่ และเรือนจำกลางนครศรีธรรมราช จัดให้ผู้ต้องขังพึงได้รับการเยี่ยมเยือนหรือติดต่อบุคคลภายนอก ก็กำหนดเพียงให้เรือนจำแต่ละแห่งจัดทำฐานข้อมูลทะเบียนรายชื่อญาติเพื่อสิทธิในการเยี่ยมผู้ต้องขังผ่านจอภาพ 

 

โดยพบว่ามีเพียงเรือนจำกลางเขาบินที่มีข้อบังคับกำหนดให้ผู้ต้องขังจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ที่จะติดต่อทางจดหมาย เพื่อยืนยันว่าบุคคลที่จะติดต่อมีความสัมพันธ์กับผู้ต้องขังจริง แต่จะอนุญาตให้ผู้ต้องขังเปลี่ยนแปลงรายชื่อบุคคลในบัญชีได้เดือนละ 1 ครั้ง ขณะที่เรือนจำความมั่นคงสูงสุดอีก 4 แห่ง ไม่มีข้อบังคับกำหนดให้ผู้ต้องขังต้องจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ที่จะติดต่อทางจดหมาย และอนุญาตให้ผู้ต้องขังสื่อสารทางจดหมายกับบุคคลที่ไม่ใช่ญาติได้ แต่ต้องผ่านการตรวจสอบเนื้อหาในจดหมายตามระเบียบหรือข้อบังคับที่เกี่ยวข้องก่อน

 

วสันต์กล่าวว่า การที่เรือนจำกลางบางขวางซึ่งไม่ได้เป็นเรือนจำความมั่นคงสูงสุด ออกข้อบังคับกำหนดให้ผู้ต้องขังต้องส่งบัญชีรายชื่อผู้ที่จะติดต่อสื่อสารทางจดหมายไว้ และบุคคลดังกล่าวต้องมีความสัมพันธ์เป็นบิดา มารดา ภรรยา บุตร พี่น้องร่วมบิดามารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ลุง ป้า น้า อา และหลานของผู้ต้องขังเท่านั้น แม้ข้อบังคับดังกล่าวจะมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการลักลอบสื่อสารข้อความที่อาจนำไปสู่การกระทำผิดกฎหมายก็ตาม แต่เรือนจำกลางบางขวางในฐานะผู้ถูกร้องก็สามารถใช้อำนาจในการตรวจสอบจดหมายของผู้ต้องขังเพื่อดูเนื้อความในจดหมายได้ตามกฎหมาย และหากตรวจสอบพบว่าเนื้อความในจดหมายเป็นการสื่อสารที่ก่อให้เกิดการกระทำผิดกฎหมาย เรือนจำฯ ย่อมมีอำนาจสั่งให้ผู้ต้องขังแก้ไข ระงับการส่ง สั่งให้ทำลาย หรือดำเนินการสอบสวนหรือส่งเรื่องฟ้องร้องดำเนินคดีได้ เพื่อป้องกันเหตุข้างต้นโดยไม่จำเป็นต้องให้ผู้ต้องขังจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ที่จะติดต่อสื่อสารทางจดหมายไว้ล่วงหน้า 

 

การออกข้อบังคับของเรือนจำกลางบางขวางที่กำหนดให้ผู้ต้องขังทำบัญชีส่งรายชื่อผู้ที่จะติดต่อสื่อสารทางจดหมาย รวมทั้งกำหนดให้บุคคลนั้นต้องเป็นญาติที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดเท่านั้น จึงเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการติดต่อสื่อสารของผู้ร้อง รวมถึงผู้ต้องขังรายอื่นโดยไม่จำเป็น เป็นการเพิ่มภาระและจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 26 ไม่สอดคล้องกับระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการตรวจสอบจดหมาย เอกสาร พัสดุภัณฑ์ หรือสิ่งสื่อสารอื่น หรือสกัดกั้นการติดต่อสื่อสารทางโทรคมนาคม ซึ่งมีถึงหรือจากผู้ต้องขังในสถานที่กักขัง พ.ศ. 2561 รวมทั้งข้อกำหนดแมนเดลา การกระทำของเรือนจำกลางบางขวาง ผู้ถูกร้อง จึงเป็นการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน 

 

ด้วยเหตุผลดังกล่าว กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 จึงมีข้อเสนอแนะให้เรือนจำกลางบางขวางและกรมราชทัณฑ์สั่งการเรือนจำทั่วประเทศพิจารณาทบทวน ปรับปรุง หรือยกเลิกข้อบังคับเรือนจำที่กำหนดให้ผู้ต้องขังจัดทำบัญชีรายชื่อผู้ที่จะติดต่อสื่อสารทางจดหมาย ซึ่งจำกัดเพียงญาติที่มีความสัมพันธ์ทางสายเลือดเท่านั้น โดยพิจารณาตามความเหมาะสมกับระดับความมั่นคงของแต่ละเรือนจำต่อไป

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X