×

เรื่องของ ‘ธุรกิจอสังหา’ กับการเพิ่มระดับมาตรฐานสากล

11.07.2023
  • LOADING...
Green Building

ปัจจุบันโลกของเราต้องเผชิญกับการเผาผลาญพลังงานอย่างสิ้นเปลือง ทำให้สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติรอบตัวถูกทำร้ายมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการก่อสร้างอาคาร ที่ในมุมของนักวิชาชีพ สถาปนิก และวิศวกร ต่างมองว่าเป็นส่วนหนึ่งที่มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและพลังงานเป็นจำนวนมาก 

 

ดังนั้นจึงมีการพัฒนาและสร้างแนวคิดเรื่อง Green Building หรืออาคารเขียว ซึ่งเป็นการสร้างและการใช้อาคารที่สามารถทำควบคู่ไปกับการรักษ์โลกได้นั่นเอง

 

หากย้อนกลับไปถึงต้นกำเนิดของ Green Building ที่ได้รับการยอมรับและเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายในระดับสากล จะมีรูปแบบของมาตรฐานอาคารอยู่ 4 ประเภทด้วยกัน คือ

 

LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) เป็นเกณฑ์มาตรฐานที่ถูกริเริ่มขึ้นในปี 2536 โดยเป็นการประเมินอาคารที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกอาคาร ซึ่งถูกออกแบบโดยสภาอาคารเขียวของสหรัฐอเมริกา (USGBC: U.S. Green Building Council) เป็นเกณฑ์ที่ถูกใช้ในวงกว้างและครอบคลุมอาคารหลายประเภทไปจนถึงระดับเมือง โดยมีกำหนดเกณฑ์การประเมินหลักที่สำคัญ เช่น ที่ตั้งของอาคารต้องไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีมาตรการลดการใช้น้ำและพลังงานภายในอาคาร การเลือกใช้วัสดุในอาคารและควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อมภายในอาคาร เป็นต้น 

 

WELL Building Standard เป็นเกณฑ์มาตรฐานที่เริ่มขึ้นจากประเทศแคนาดา ซึ่งจัดตั้งโดยได้รับความร่วมมือกับกลุ่มผู้พัฒนามาตรฐาน LEED จากสหรัฐอเมริกา และก่อตั้งสถาบัน IWBI (International WELL Building Institute) ซึ่งเป็นมาตรฐานแรกของโลกที่ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมคุณภาพการอยู่อาศัยของผู้ใช้อาคาร เพื่อให้สามารถอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงในปัจจุบันได้ ซึ่งจะมีเกณฑ์การพัฒนาหลัก เช่น คุณภาพอากาศภายในอาคาร คุณภาพน้ำที่ใช้บริโภค แสงสว่าง และการสุนทรียภาพภายในอาคาร เป็นต้น 

 

Fitwel เป็นเกณฑ์มาตรฐานที่ถูกริเริ่มในปี 2555 โดยกรมควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา (CDC) และดำเนินการโดย Center for Active Design (CfAD) ซึ่งเป็นองค์กรตรวจประเมินและจัดอันดับอาคารเพื่อสุขภาวะและคุณภาพชีวิตผู้ใช้งาน ด้วยเป้าหมายให้ความสำคัญกับการสร้างสภาพแวดล้อมที่สะอาดและปลอดภัยเพื่อสุขภาวะที่ดีของผู้ใช้งาน เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโรคของผู้ใช้อาคาร ซึ่งเป็นสาเหตุของความเจ็บป่วย และอาจส่งผลกระทบให้เกิดประสิทธิภาพของการทำงานหรือการใช้ชีวิตที่ดีได้ไม่เต็มที่ 

 

โดยมาตรการของ Fitwel นี้จะให้ความสำคัญกับปัจจัยที่ช่วยสนับสนุนให้ผู้ใช้งานมีคุณภาพชีวิตที่ดี เพื่อลดอัตราการป่วยและขาดงานจากปัญหาสุขภาพ (Reduce Morbidity and Absenteeism) เช่น การส่งเสริมกิจกรรมที่เคลื่อนไหวร่างกาย (Physical Activity) จากการใช้บันไดขึ้น-ลงจากอาคาร เพิ่มการเข้าถึงอุปกรณ์ออกกำลังกายทั้งในร่มและกลางแจ้ง มีทางเลือกอาหารเพื่อสุขภาพ เป็นต้น 

 

นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้ผู้ใช้งานปลอดภัยจากอุบัติเหตุ อาชญากรรม และการติดเชื้อ (Promote Occupant Safety) เช่น การเพิ่มแสงสว่างในจุดสุ่มเสี่ยง เพื่อป้องกันการเกิดอาชญากรรมและแผนตอบสนองต่อภาวะฉุกเฉิน (Emergency Procedures) โดยการออกแบบอาคารต้องเป็นมิตรต่อการใช้งานของคนทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้สูงอายุ ผู้พิการ คุณแม่ตั้งครรภ์ หรือผู้ด้อยโอกาสทางสังคม และสามารถเข้าถึงพื้นที่ธรรมชาติ เสริมสร้างให้มีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างและความสัมพันธ์โดยรอบกับชุมชน เพื่อส่งเสริมให้โครงการสามารถส่งต่อประโยชน์ให้กับสังคมและชุมชมใกล้เคียงได้ 

 

TREES-NC (Thai’s Rating of Energy and Environmental Sustainability for New Construction and Major Renovation) เป็นเกณฑ์มาตรฐานที่เริ่มขึ้นเมื่อต้นปี 2552 โดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ลงนามความร่วมมือในการจัดตั้ง ‘มูลนิธิอาคารเขียวไทย’ ขึ้นเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาและดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้แนวคิดเรื่องอาคารเขียวในประเทศไทยเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด ซึ่งการกำหนดมาตรฐานนี้ตั้งเพื่อให้ตรงกับสภาพภูมิอากาศ วัฒนธรรม และบริบทของประเทศไทย ตามเกณฑ์การประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมของไทย และเป็นจุดเริ่มต้นที่มุ่งเน้นการประเมินโครงการอาคารสาธารณะที่จะสร้างขึ้นใหม่ หรือมีการปรับปรุงอาคาร ซึ่งในอนาคตอันใกล้สถาบันอาคารเขียวมีเป้าหมายที่จะออกหลักเกณฑ์สำหรับบ้านพักและที่อยู่อาศัย เพื่อให้อาคารทุกประเภทมีโอกาสที่จะเป็นอาคารเขียว ซึ่งจะมีส่วนช่วยในการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนต่อไป

 

นอกจากเกณฑ์มาตรฐานที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ก็ยังมีมาตรฐานอื่นๆ ที่หลายประเทศตั้งเกณฑ์เพื่อใช้ประเมิน เช่น มาตรฐาน DGNB ของประเทศเยอรมนี หรือมาตรฐาน GREEN MARK ของประเทศสิงคโปร์ เป็นต้น ที่ซึ่งเจ้าของอาคารพึงต้องประเมินตนเอง ทั้งในด้านสภาพและที่ตั้งอาคาร ประเภทธุรกิจ รวมทั้งกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เพื่อวางแผนงบประมาณดำเนินการ เพื่อเพิ่มระดับมาตรฐานของอาคารให้ก้าวทันโลกสากลที่ใส่ใจผู้อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมทั้งเพื่อรักษาอำนาจในการแข่งขันของการให้บริการที่จะสร้างความยั่งยืน (Sustainability) ทั้งด้านผลการดำเนินงาน สิ่งแวดล้อม และสังคมโดยรวมได้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising