×

Reach for the SKY เกิดเป็นวัยรุ่น (เกาหลี) มันเจ็บปวดอย่างนี้นี่เอง!

20.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • Reach for the SKY เล่าเรื่องการสอบเข้าระดับมหาวิทยาลัยของเกาหลีใต้ (การสอบซูนึง) หนึ่งในประเทศที่นักเรียน ม.ปลาย เครียดมากที่สุดในโลก
  • คำว่า ‘SKY’ เป็นตัวย่อของ 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศที่ถือว่าเป็นเครื่องการันตีความสำเร็จในหน้าที่การงานของเด็กๆ ทุกคน ได้แก่ Seoul National University (มหาวิทยาลัยแห่งชาติกรุงโซล), Korea University (โคแด) และ Yonsei University (ยอนเซ)
  • การสอบซูนึงถูกยกให้เป็นหนึ่งในวาระสำคัญของชาติ ในเช้าวันนั้นทุกบริษัทห้างร้านจะเริ่มทำงานช้าลง 1 ชั่วโมงเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการจราจร มีกฎสั่งห้ามไม่ให้เครื่องบินลงจอดหรือออกจากสนามบิน รถไฟหรือรถสาธารณะต้องลดความเร็วลง และห้ามใช้แตรส่งสัญญาณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงในช่วงการสอบฟังภาษาอังกฤษ (Listening)
  • เด็กหลายคนในเกาหลีใต้ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอะไรกันแน่คือสิ่งที่เขาอยากเรียน พวกเขารู้เพียงอย่างเดียวว่าต้องสอบเข้าให้ได้เท่านั้น

 

 

Reach for the SKY ฝากฝันไว้ที่ปลายฟ้า เป็นสารคดีว่าด้วยสงครามการสอบเข้าระดับมหาวิทยาลัยของเกาหลีใต้ หนึ่งในประเทศที่นักเรียน ม.ปลาย เครียดมากที่สุดในโลก โดยจะพูดถึงการเตรียมตัวสอบซูนึง (การสอบวัดระดับทั่วประเทศของเกาหลีใต้) ของวัยรุ่นเกาหลีทั้งประเทศ

 

 

โดยคำว่า ‘SKY’ ในที่นี้หมายถึงตัวย่อของ 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศที่ถือว่าเป็นเครื่องการันตีความสำเร็จในหน้าที่การงานของเด็กๆ ทุกคน จากผู้เข้าสอบในปี 2014 ทั้งหมด 605,700 คน จะมีแค่ 0.01% เท่านั้นที่ได้เรียนต่อที่ Seoul National University (มหาวิทยาลัยแห่งชาติกรุงโซล) อีก 0.1% ได้เรียนต่อที่ Korea University (โคแด) และอีก 0.1% ที่ได้เข้าเรียนที่ Yonsei University (ยอนเซ)

     

การสอบซูนึงจะจัดขึ้นในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนของทุกปี และถือว่าเป็นวาระแห่งชาติที่ทุกคนให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง มีการรายงานข่าวในทุกๆ ขั้นตอนเตรียมการ แม้กระทั่งการขนย้ายข้อสอบที่ต้องระมัดระวังเป็นที่สุด มีการจัดเตรียมขบวนเจ้าหน้าที่ตำรวจป้องกันการรั่วไหลของข้อสอบ ในเช้าวันนั้นทุกบริษัทห้างร้านจะเริ่มทำงานกันช้าลง 1 ชั่วโมงเพื่ออำนวยความสะดวกด้านการจราจร รวมทั้งหากผู้เข้าสอบคนไหนจะไปสนามสอบไม่ทันก็มีบริการรับ-ส่งฉุกเฉินฟรีจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีกฎสั่งห้ามไม่ให้เครื่องบินลงจอดหรือออกจากสนามบิน รถไฟหรือรถสาธารณะต้องลดความเร็วลง และห้ามใช้แตรส่งสัญญาณเป็นเวลาครึ่งชั่วโมงในช่วงการสอบฟังภาษาอังกฤษ (Listening)

 

 

หนังเล่าเรื่องผ่านชีวิตผู้เข้าสอบ 3 คนคือ ฮยอนอา เด็กรอสอบใหม่ (Repeater) คือคนที่พลาดหวังจากการสอบและตัดสินใจใช้เวลา 1 ปีต่อมาเพื่อเตรียมตัวสอบซูนึงครั้งใหม่เพียงอย่างเดียว (ในเกาหลีใต้ มีคนรอสอบใหม่เพื่อให้ได้เรียน 1 ใน 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำเยอะมากจนเป็นเรื่องปกติในสังคม) แต่เรื่องตลกร้ายที่เกิดขึ้นคือเธอมีแต่ความตั้งใจที่จะสอบเข้า 3 มหาวิทยาลัยชั้นนำให้ได้เท่านั้น โดยที่ยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าใจจริงแล้วเธออยากเรียนคณะอะไรกันแน่ และสุดท้ายเธอก็ให้การทำนายจากหมอดู (หรือคนเข้าทรง) เป็นตัวกำหนดเส้นทางชีวิตของเธอหลังจากนี้

     

คนที่ 2 คือ ฮเยอิน ตัวแทนของเด็ก ม.6 ที่ต้องสอบซูนึงเป็นครั้งแรก อีกหนึ่งคนที่ยังไม่แน่ใจกับอนาคตของตัวเอง แต่ต้องแบกรับความกดดันจากแม่ที่คอยพูดย้ำกับเธอมาตลอดว่า “เมื่อก่อนเธอเป็นเด็กเรียนเก่ง ถ้าเธอพยายามให้มาก เธอจะต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยชั้นนำได้ตามที่หวัง” พร้อมกับยกตัวอย่างเพื่อนบ้านที่ประสบความสำเร็จมาเปรียบเทียบตัวเธออยู่ตลอดเวลา แถมเวลาที่เธอทำคะแนนสอบได้ดี ทุกคนก็ยังยกประโยชน์ให้เป็นเรื่อง ‘ความโชคดี’ มากกว่าจะมองว่าเป็นเพราะความพยายามของตัวเธอเอง

     

คนสุดท้ายคือ มินจุน ที่ทำให้เราได้เห็นอีกมุมของการแข่งขันขั้นสูงสุดด้วยการพาตัวเองเข้าไปอยู่ใน ‘โรงเรียนประจำสำหรับเด็กรอสอบใหม่’ โรงเรียนที่มีกฎระเบียบเข้มงวดราวกับอยู่ในค่ายทหาร และทั้งวันพวกเขาไม่ต้องทำอะไรนอกจากการ ‘เตรียมตัว’ ทุกอย่างเพื่อไปพิชิตข้อสอบที่รอมาตลอดทั้งปีให้ได้

 

 

ความเจ็บปวดอย่างหนึ่งในหนังคือตอนที่พ่อถามมินจุนว่า “ถ้าเลือกได้ แกอยากเป็นนักเรียนที่เก่งหรือว่าอยากสอบเข้าให้ได้” แล้วคำตอบของมินจุนคือ “อยากสอบเข้าให้ได้” ใช่แล้ว เขายังไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองอยากทำอะไร แต่ความคิดที่ถูกปลูกฝังไว้โดยอัตโนมัติได้โปรแกรมคำสั่งให้เขาต้อง ‘แข่งขัน’ เพียงอย่างเดียวเท่านั้น เหมือนที่เขาพูดไว้ว่า

 

       

ความเจ็บปวดอย่างที่สองคือไม่เพียงแค่ผู้เข้าสอบเท่านั้นที่ต้องพยายามอย่างหนัก ในระหว่างที่พวกเขาคร่ำเคร่งกับการอ่านหนังสือ พ่อแม่และผู้ปกครองก็ต้องพยายามหาที่พึ่งทางอื่นเข้ามาช่วยเหลือ จะเห็นว่าในช่วงเวลาก่อนสอบ บรรดาวัด ศาลเจ้า โบสถ์ หรือทุกที่ที่สามารถประกอบพิธีกรรมใดๆ ได้จะเนืองแน่นไปด้วยผู้คน ควันไฟ และธูปเทียนเต็มไปหมด (คุ้นๆ ภาพนี้กันไหม)

     

ความเจ็บปวดอย่างที่สามคือเมื่อการสอบซูนึงผ่านพ้นไป ภาพที่หนังเลือกเอามาเป็นเรื่องสำคัญคือภาพที่ คิมคีฮุน เจ้าพ่อติวเตอร์สอนพิเศษยืนบรรยายถึงความสำเร็จบนเวทีที่ยิ่งใหญ่อลังการ และคอยแจกลายเซ็นให้กับเด็กๆ ที่ทั้งสอบผ่านและรอสอบครั้งต่อไป ทุกคนให้ความเคารพเขาราวกับพระเจ้าแห่งวงการการศึกษา ราวกับว่าเขานี่แหละคือผู้ที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จทั้งหมด โดยที่ความพยายามที่ผ่านมาของทั้งผู้ปกครองและเด็กนั้นแทบไม่มีความสำคัญอะไรเลย

     

ความเจ็บปวดอย่างที่สี่คือ สำหรับคนที่สอบข้อเขียนผ่านก็ใช่ว่าจะบรรลุภารกิจแต่เพียงเท่านั้น ทุกคนต้องเข้าสู่กระบวนการสอบสัมภาษณ์ที่บางคนถึงขั้นต้องยอมเสียเงินประมาณ 1,000,000 วอน (ประมาณ 30,000 บาท) เป็นค่าที่ปรึกษาเพื่อเตรียมตัวให้เป็น ‘นักศึกษา’ ในแบบที่มหาวิทยาลัยนั้นๆ ต้องการ บางคนถึงกับใช้คำว่าต้อง ‘เสแสร้ง’ ไม่เป็นตัวของตัวเองเพื่อจะได้เป็นนักศึกษาในมหาวิทยาลัยเหล่านั้นให้ได้

 

 

ความเจ็บปวดอย่างสุดท้ายที่เรามองว่าเจ็บปวดมากที่สุดคือเมื่อการสอบสิ้นสุด เป็นธรรมเนียมที่ผู้เข้าสอบจะเอาหนังสือสอบมากองรวมกันไว้ด้วยสีหน้าโล่งอก แต่เมื่อผลสอบออก หลายคนต้องกลับไปซื้อหนังสือเพื่อเตรียมตัวสู่สงครามครั้งต่อไปในทันที รวมทั้งนาฬิกาในโรงเรียนประจำสำหรับเด็กรอสอบใหม่ที่เริ่มนับถอยหลังอีกครั้งด้วยตัวเลข 364 วันแบบไม่ให้ใครได้มีเวลาหยุดพัก

     

ก่อนที่ ‘วัฏจักร’ แห่งความเจ็บปวดที่เกิดขึ้นทั้งหมดจะเริ่มต้นขึ้นอีกครั้ง อีกครั้ง และตลอดไปไม่มีวันสิ้นสุด ตราบเท่าที่นิยามความสำเร็จยังถูกกำหนดด้วยชื่อชั้นของสถาบันการศึกษา

     

และคงใช้เวลาอีกนานกว่าที่เด็กๆ จะได้รับอนุญาตให้มีความสุขให้สมกับช่วงเวลาแห่งวัยเยาว์แบบที่พวกเขาควรจะมี

 

ขอบคุณภาพจาก Documentary Club

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising