กรมสรรพากรตอบ 26 คำถามเกี่ยวกับภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ หรือ ‘ภาษีขายหุ้น’ หลังกระทรวงการคลังประกาศเตรียมจัดเก็บภาษีดังกล่าวในอัตรา 0.1% ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 เป็นต้นไป
1. เหตุใดต้องมีการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์
ไทยมีการยกเว้นการจัดเก็บภาษีทางอ้อมจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมาเป็นเวลานานกว่า 40 ปีแล้ว (ตั้งแต่ปี 2525 ถึงปัจจุบัน) รวมทั้งยังได้ยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสําหรับกําไร (Capital Gains) จากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และอากรแสตมป์สําหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ
โดยปัจจุบันมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) โตขึ้นถึง 22 เท่าจาก 30 ปีก่อน ดังนั้นเพื่อเพิ่มความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีและลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ จึงสมควรยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ฯ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ภาษีขายหุ้นเอฟเฟกต์! สมรภูมิหุ้นไทยอาจเปลี่ยนไป เมื่อเทรดเดอร์แต่ละกลุ่มต้องปรับตัว
- วิเคราะห์ ‘ข้อดี-ข้อเสีย’ การจัดเก็บ ‘ภาษีขายหุ้น’ พร้อมเปิด 10 แนวทางพัฒนาตลาดทุนไทย
- คลังเคาะ! เริ่มเก็บ ‘ภาษีขายหุ้น’ อัตรา 0.1% เริ่ม 1 ม.ค. 67 ย้ำไม่ได้เอื้อประโยชน์นักลงทุนรายใหญ่
2. เหตุใดเลือกจัดเก็บ Financial Transaction Tax (FTT) ไม่ใช่ Capital Gains Tax
การจัดเก็บ FTT หรือ Capital Gains Tax ต่างเพิ่มความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีและลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ แต่เมื่อพิจารณาหน้าที่ทางภาษีของผู้ลงทุนและโบรกเกอร์ ตลอดจนผลกระทบต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแล้ว การจัดเก็บ FTT เหมาะสมกว่า
นอกจากนี้ FTT ยังเป็นวิธีที่ง่ายกว่า แม้มีบางฝ่ายมองว่า Capital Gains Tax เป็นประเภทภาษีที่ตรงที่สุด โดยเก็บจากกำไร แต่กระบวนการเก็บภาษีที่ต้องคำนึงอีกเรื่องหนึ่งคือต้นทุนในการจัดเก็บ เพราะการจะได้มาซึ่งตัวเลขสุทธิมีต้นทุนสูงมาก เราจึงเชื่อว่าการเก็บในลักษณะภาษีธุรกิจเฉพาะมีความเหมาะสมมากกว่าและต้นทุนในการจัดเก็บต่ำกว่าเยอะ
3. คาดการณ์รายได้
ในปีแรก (ซึ่งมีการลดอัตราภาษีลงครึ่งหนึ่ง) จะจัดเก็บได้ประมาณ 8,000 ล้านบาท ส่วนในปีต่อๆ ไปจะจัดเก็บได้ประมาณปีละ 16,000 ล้านบาท
4. รายได้จะนําไปใช้อย่างไร
นําส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน ซึ่งจะนําไปใช้จ่ายตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจําปี ทั้งนี้ รัฐบาลใหม่ความสําคัญกับการจัดสวัสดิการใหม่แก่ประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อย ดังนั้นรายได้ภาษีที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นปีละประมาณ 16,000 ล้านบาท จะมีส่วนช่วยในการจัดทํางบประมาณ เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม
5. ภาษีขายหุ้นเราเป็นอย่างไร เมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศ
ประเทศต่างๆ มีการจัดเก็บภาษีจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ แบ่งเป็น
- จัดเก็บ FTT หรืออากรแสตมป์ (Stamp Duty: SD) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกัน หมายความว่าจัดเก็บรายรับจากการขายก่อนหักรายจ่ายใดๆ
- จัดเก็บ Capital Gains Tax
โดยบางประเทศอาจจัดเก็บอย่างใดอย่างหนึ่งหรือจัดเก็บ 2 อย่างก็ได้
- ตัวอย่างประเทศที่จัดเก็บ FTT หรืออากรแสตมป์ เช่น อินโดนีเซีย เวียดนาม มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ จีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ และไต้หวัน
- ตัวอย่างประเทศที่จัดเก็บ Capital Gains Tax เช่น ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา
- ตัวอย่างประเทศที่จัดเก็บทั้งสองอย่าง เช่น สหราชอาณาจักร
6. ผลกระทบ
กระทรวงการคลังได้มอบหมายให้กรมสรรพากรศึกษาผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ จากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จากการศึกษาพบว่า อาจส่งผลต่อต้นทุนการทําธุรกรรมในตลาดหลักทรัพย์ฯ ดังนี้
– ต้นทุนสูงขึ้นจาก 0.17 เป็น 0.22% (ต้นทุนที่รวมทั้งการซื้อและการขาย) อย่างไรก็ตาม
– ต้นทุนยังอยู่ในระดับที่แข่งขันได้ โดยต่ำกว่าของมาเลเซียซึ่งอยู่ที่ 29% และของฮ่องกงซึ่งอยู่ที่ 38% ซึ่งสูงกว่าของสิงคโปร์ซึ่งอยู่ที่ 20% เล็กน้อย
ทั้งนี้ ในปีแรกของการจัดเก็บภาษที่มีการลดอัตราภาษีเหลือ 5.5% ต้นทุนจะอยู่ที่ 19.5% ซึ่งใกล้เคียงกับของสิงคโปร์
นอกจากนี้อาจส่งผลต่อสภาพคล่องของตลาดหลักทรัพย์ฯ อย่างไรก็ดี จากการศึกษากรณีตัวอย่างของต่างประเทศ (ฝรั่งเศสและอิตาลี) หากมีผลต่อสภาพคล่องของตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดว่าจะส่งผลให้สภาพคล่องลดลงในระยะสั้นเท่านั้น โดยไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องในระยะยาว
7. ภาษี FTT จะทําให้ตลาดหุ้นไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันหรือไม่
ฮ่องกง, สหราชอาณาจักร, เกาหลีใต้ และไต้หวัน มีการจัดเก็บ FTT หรือ Stamp Duty แต่ตลาดหลักทรัพย์ของเขตเศรษฐกิจเหล่านี้ยังเป็นตลาดหลักของโลก
8. มีมาตรการบรรเทาผลกระทบจากการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์หรือไม่
มีการลดอัตราภาษีลงครึ่งหนึ่งในปีแรกของการจัดเก็บภาษีจาก 0.1 เหลือ 0.05% และการยกเว้นภาษีแก่ Market Maker และกองทุนบํานาญ
9. ผู้ลงทุนรายย่อยจะได้รับผลกระทบหรือไม่
ผู้ลงทุนทุกรายมีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะจะได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ดี จากการศึกษาพบว่า มูลค่าการขาย 95% ของมูลค่าการขายทั้งหมดเป็นของผู้ลงทุนรายใหญ่ (มีมูลค่าขายสะสม 1 ล้านบาทต่อเดือนขึ้นไป) ซึ่งมีจํานวนบัญชีซื้อ-ขายหลักทรัพย์ 11% ของจํานวนบัญชีซื้อ-ขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทั้งหมด
10. กระทรวงการคลังยังส่งเสริมตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอยู่หรือไม่
แม้จะมีการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กระทรวงการคลังก็ยังมีนโยบายส่งเสริมตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อไป
11. การจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์จัดเก็บจากอะไร
เป็นการจัดเก็บจากรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ มิใช่จากกำไรจากการขาย (Capital Gains) โดยจัดเก็บ 0.055% (รวมภาษีท้องถิ่น) ในปี 2566 และ 0.11% (รวมภาษีท้องถิ่น) ในปี 2567 เป็นต้นไป
12. การขายหลักทรัพย์ใดในตลาดหลักทรัพย์ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
หลักทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยปัจจุบันประกอบด้วย
- หุ้นสามัญ
- หุ้นบุริมสิทธิ
- ใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrant)
- ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ (Derivative Warrant: DW)
- กองทุนรวมอีทีเอฟ (ETF)
- ตราสารแสดงสิทธิในหลักทรัพย์ต่างประเทศ (Depository Receipt: DR)
- หน่วยลงทุน
- ใบแสดงสิทธิในการซื้อหุ้นเพิ่มทุนที่โอนสิทธิได้
13. ภาษีท้องถิ่นคืออะไร
เป็นภาษีที่กฎหมายว่าด้วยรายได้ท้องถิ่น เช่น พระราชบัญญัติรายได้เทศบาล พ.ศ. 2479 กำหนดให้จัดเก็บอีก 10% ของอัตราที่กรมสรรพากรจัดเก็บ โดยให้กรมสรรพากรจัดเก็บพร้อมกันกับการจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะของกรมสรรพากร แล้วส่งมอบให้ท้องถิ่น
ตัวอย่างเช่น ในปี 2566 จะจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ 0.05% ดังนั้นจะต้องรวมภาษีท้องถิ่นเข้าไปอีก 10% จึงทำให้อัตราภาษีที่จัดเก็บทั้งหมดจากการขายหลักทรัพย์ใน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็น 0.055%
14. ผู้ใดเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี FTT
- ผู้ขายเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี
- เพื่อความสะดวกในการเสียภาษี ประมวลรัษฎากรได้กำหนดให้โบรกเกอร์ ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ขาย หักภาษีธุรกิจเฉพาะจากเงินที่ขาย และยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีแทนผู้ขายในนามของโบรกเกอร์เอง โดยผู้ขายไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีอีก และให้ถือว่าโบรกเกอร์เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะในกรณีนี้ด้วย ผู้ลงทุนจึงไม่มีภาระการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษี
15. โบรกเกอร์คือผู้ใด
คือบริษัทหลักทรัพย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ประเภทการเป็นนายหน้าซื้อ-ขายหลักทรัพย์จากสำนักงาน ก.ล.ต. และเป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งปีจจุบันมี 39 บริษัท
16. ความถี่ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษี
โบรกเกอร์มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีเป็นรายเดือนภาษี
- กรณียื่นแบบแสดงรายการภาษีเป็นกระดาษ ให้ยื่นภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขา
- กรณียื่นแบบแสดงรายการภาษีผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (e-Filing) ให้ยื่นภายในวันที่ 23 ของเดือนถัดไป
17. การจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์จะตราเป็นกฎหมายใด
ตราพระราชกฤษฎีกา โดยมีสาระสำคัญดังนี้
- ยกเลิกการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- จัดเก็บภาษี 0.05% (อัตราลด) ในปีแรกที่กฎหมายใช้บังคับ และ 0.1% (อัตราปกติ) ในปีที่ 2 เป็นต้นไป
- กำหนดกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะ
18. พระราชกฤษฎีกาจะมีผลใช้บังคับเมื่อใด
วันที่ 1 ของเดือนที่ 4 ถัดจากเดือนที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือมี Grace Period ประมาณ 90 วัน เพื่อให้โบรกเกอร์มีระยะเวลาเพียงพอในการพัฒนาระบบหักและนำส่งภาษี
ตัวอย่างเช่น หากประกาศในราชกิจจานุเบกษาในเดือนมกราคม 2566 จะเริ่มจัดเก็บภาษีตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2566 โดยเป็นการจัดเก็บภาษีเต็มเดือน เพื่อให้สอดคล้องกับการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีธุรกิจเฉพาะ ซึ่งประมวลรัษฎากรกำหนดไว้เป็นเดือนภาษี
19. มีการเตรียมความพร้อมสำหรับโบรกเกอร์และผู้ลงทุนอย่างไร
กรมสรรพากรได้เตรียมความพร้อมการยื่นแบบแสดงรายการภาษีผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต (e-Filing) และการชำระภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ไว้แล้ว โดยได้หารือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง
20. การขายหลักทรัพย์นอกตลาดหลักทรัพย์ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะหรือไม่
ไม่ต้อง แต่อาจเสียภาษีอื่น เช่น ภาษีเงินได้ อากรแสตมป์ หากไม่มีกฎหมายยกเว้นภาษีดังกล่าว
21. มีการยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์หรือไม่ อย่างไร
เพื่อไม่ให้การจัดเก็บภาษีส่งผลกระทบต่อการสร้างสภาพคล่องของหลักทรัพย์และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รวมทั้งการออมเพื่อการเกษียณอายุ จึงมีการยกเว้นภาษีให้แก่ Market Maker และกองทุนบำนาญ (Pension Fund) ซึ่งมีมูลค่าการซื้อ-ขายรวมกันไม่เกิน 15% ของมูลค่าการซื้อ-ขายทั้งหมด
ตัวอย่างเช่น ประเทศที่มีการยกเว้น FTT/SD ให้แก่ Market Maker เช่น ฮ่องกง, สหราชอาณาจักร, ฝรั่งเศส, อิตาลี และสเปน ประเทศที่ยกเว้น FTT ให้แก่ Pension Fund เช่น อิตาลี และเบลเยียม
22. Market Maker คืออะไร
ผู้ดูแลสภาพคล่อง (Market Maker) คือบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือนิติบุคคลที่มิใช้สมาชิกและได้รับการรับรองการเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องจากสมาชิก เช่น บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน โดยมีหน้าที่เสนอซื้อ-ขายหลักทรัพย์อย่างต่อเนื่อง (Continuous Quotes) เพื่อให้มีราคาปรากฏในระบบการซื้อ-ขายอย่างต่อเนื่องและมีสภาพคล่อง โดยอาจได้รับผลตอบแทนจากส่วนต่างราคาซื้อ-ขายหรือเป็นส่วนลดค่าธรรมเนียมตลาดหลักทรัพย์ฯ โดย Market Maker จะได้รับยกเว้นภาษีสำหรับการขายหลักทรัพย์ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดูแลสภาพคล่องของหลักทรัพย์นั้น
23. Market Maker ดูแลสภาพคล่องของหลักทรัพย์ใด
ส่วนใหญ่คือ Derivative Warrant, Depository Receipt, Infrastructure Fund และ REIT
24. Market Maker เป็นนักลงทุนรายใหญ่ใช่หรือไม่
Market Maker มิใช่นักลงทุนรายใหญ่ แต่เป็นผู้ทำให้ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยมีสภาพคล่อง จึงส่งผลให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ นอกเหนือไปจากหุ้น อันเป็นประโยชน์แก่ผู้ลงทุนโดยตรงที่จะมีทางเลือกเพิ่มขึ้น
25. กองทุนบำนาญคืออะไร
กองทุนบำนาญ (Pension Fund) คือกองทุนที่ผู้จ่ายเงินสมทบหรือเงินสะสมเข้ากองทุนสามารถหักลดหย่อนเงินสะสมและเงินสมทบดังกล่าวในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินหรือผลประโยชน์อื่นที่ได้รับจากกองทุนเมื่อเกษียณอายุ โดยกองทุนบำนาญที่จะได้รับยกเว้นภาษีได้แก่
- สำนักงานประกันสังคม
- กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD)
- กองทุนบำเหน็จบำนาจข้าราชการ (กบข.)
- กองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน (กองทุนสงเคราะห์กระทรวงศึกษาธิการ)
- กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF)
- กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
- กองทุนรวมที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เพื่อขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมแก่สำนักงานประกันสังคมหรือกองทุนตาม (2) ถึง (6) เท่านั้น
26. การยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ให้แก่ Market Maker และกองทุนบำนาญมีกำหนดเวลาหรือไม่ อย่างไร
ไม่มี