ท่ามกลางความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ ผู้ก่อตั้ง Bridgewater และมหาเศรษฐีกองทุนเฮดจ์ฟันด์ Ray Dalio ได้ออกมาแสดงความกังวลอย่างหนักเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะผลกระทบจากนโยบายภาษีของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่อาจนำไปสู่วิกฤติที่รุนแรงยิ่งกว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอย
“ตอนนี้เราอยู่ที่จุดตัดสินใจสำคัญและใกล้จะเข้าสู่ภาวะถดถอยมาก และผมกังวลว่าจะเกิดสิ่งที่เลวร้ายยิ่งกว่าภาวะถดถอยหากไม่มีการจัดการที่ดี” Dalio กล่าวในรายการ Meet the Press ทางช่อง NBC News
มหาเศรษฐีรายนี้แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อการหยุดชะงักทางการค้า หนี้สาธารณะของสหรัฐฯ ที่พุ่งสูงขึ้น และการเกิดขึ้นของมหาอำนาจใหม่ที่กำลังบั่นทอนโครงสร้างเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศที่เป็นอยู่มาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
เขากล่าวว่า “เรากำลังเปลี่ยนจากระบบพหุภาคีซึ่งเป็นระเบียบโลกแบบอเมริกัน ไปสู่ระเบียบโลกแบบเอกภาคีที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งรุนแรง”
Dalio อธิบายว่ามีห้าปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนประวัติศาสตร์ ได้แก่ เศรษฐกิจ ความขัดแย้งทางการเมืองภายใน ระเบียบระหว่างประเทศ เทคโนโลยี และภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วมและโรคระบาด
แม้ว่าการขึ้นภาษีของ Trump จะมีเป้าหมายที่เข้าใจได้ แต่การดำเนินการนั้นเป็นไปอย่าง ‘สร้างความปั่นป่วน’ และนำไปสู่ความขัดแย้งทั่วโลก
นโยบายภาษีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของประธานาธิบดีได้พลิกโฉมการค้าระหว่างประเทศ Trump ประกาศหยุดพัก ‘ภาษีตอบโต้’ เป็นเวลา 90 วัน แต่ยังคงยืนยันในภาษีพื้นฐาน 10% และภาษีตอบโต้ 145% สำหรับจีน
ต่อมา หน่วยงานศุลกากรและป้องกันชายแดนสหรัฐฯ ประกาศยกเว้นภาษีตอบโต้สำหรับสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากจีน เช่น สมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ และเซมิคอนดักเตอร์ แต่สินค้าเหล่านี้ยังคงต้องเสียภาษี 20% ที่เคยถูกกำหนดไว้ก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม Howard Lutnick รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ออกมาเปลี่ยนท่าทีในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (13 เมษายน) โดยระบุว่าการยกเว้นนี้ไม่ใช่มาตรการถาวร
Dalio เรียกร้องให้สหรัฐฯ เจรจาข้อตกลงทางการค้าแบบ ‘Win-Win’ กับจีนที่จะเพิ่มค่าเงินหยวนเทียบกับดอลลาร์ พร้อมเสนอให้ทั้งสองประเทศแก้ไขปัญหาหนี้ที่กำลังเพิ่มขึ้น
อีกทั้งยังเรียกร้องให้รัฐสภาลดยอดขาดดุลงบประมาณลงเหลือแค่ 3% ของมูลค่าเศรษฐกิจทั้งประเทศ (GDP) ซึ่งเป็นความเห็นที่เขาเคยพูดไว้ในงาน CNBC’s CONVERGE LIVE เมื่อเดือนมีนาคม
“หากพวกเขาไม่ดำเนินการ เราจะเผชิญปัญหาอุปสงค์-อุปทานของหนี้ในเวลาเดียวกับที่เรามีปัญหาอื่นๆ และผลลัพธ์ที่ตามมาจะแย่ยิ่งกว่าภาวะถดถอยปกติ” Dalio กล่าว
มูลค่าของเงินกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง การล่มสลายของตลาดพันธบัตรพร้อมกับเหตุการณ์ความขัดแย้งต่างๆ อาจสร้างความเสียหายต่อระบบการเงินรุนแรงยิ่งกว่าตอนที่ประธานาธิบดี Richard Nixon ยกเลิกระบบเงินตราผูกกับทองคำในปี 1971 หรือวิกฤติการเงินโลกปี 2008
ภาพ: Taylor Hill / Getty Images
อ้างอิง: