×

รังสิมันต์ โรม ผิดหวัง รมช.กลาโหม ไม่ตอบชื่อผู้รับผิดชอบ ‘สลายการชุมนุม’ ชี้สองมาตรฐาน ฝ่ายหนึ่งเสิร์ฟน้ำ แต่อีกฝ่ายฉีดน้ำใส่

โดย THE STANDARD TEAM
04.11.2020
  • LOADING...
รังสิมันต์ โรม

วันนี้ (4 พฤศจิกายน) ที่อาคารรัฐสภา รังสิมันต์ โรม ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถามสดต่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เรื่องการจัดการชุมนุมในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมาย พล.อ. ชัยชาญ ช้างมงคล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม มาเป็นผู้ตอบกระทู้ถามสดแทน

 

รังสิมันต์กล่าวว่าข้อเท็จจริงนับตั้งแต่เหตุการณ์การชุมนุมครั้งใหญ่เกิดขึ้นกลางเดือนกรกฎาคมและตุลาคมที่ผ่านมา มีการสลายการชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจถึง 3 ครั้ง คือช่วงบ่ายวันที่ 13 ตุลาคม เช้ามืดวันที่ 15 ตุลาคม และช่วงหัวค่ำวันที่ 16 ตุลาคม โดยการชุมนุมของราษฎรทั้งหมดไม่มีการประทุษร้ายหรือการทำลายทรัพย์สินของราชการอย่างร้ายแรง และเป็นการชุมนุมที่พยายามลดผลกระทบต่อประชาชนเสมอมา เช่น การหลีกทางให้รถพยาบาลผ่านทุกครั้ง เป็นการชุมนุมที่มีการประกาศเวลาเริ่มและเลิกการชุมนุมชัดเจน ส่วนการอ้างถึงเรื่องขบวนเสด็จฯ ข้อเท็จจริงปรากฏว่าไม่มีการสร้างอันตรายหรือประทุษร้ายตามที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด การชุมนุมจึงสอดคล้องตามรัฐธรรมนูญ ไม่มีเหตุให้ต้องสลายการชุมนุม อีกทั้งการดำเนินคดีด้วยมาตรา 116 ข้อหายุยงปลุกปั่นนั้น ศาลได้มีการยกคำร้องแล้ว แต่ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ยังดำเนินการทางคดีด้วยมาตรานี้ซ้ำโดยไม่สนใจแนวทางของศาลแต่อย่างใด

 

“จึงขอตั้งคำถามว่าการตัดสินใจสลายการชุมนุม ใครคือผู้รับผิดชอบสูงสุด และใช้เกณฑ์อะไรในการสลาย รวมทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นได้เข้าหลักเกณฑ์อะไรบ้าง นอกจากนี้หากการกระทำของทางเจ้าหน้าที่เกินกว่าเหตุจะมีการรับผิดชอบอย่างไร ยิ่งไปกว่านั้น ทำไมยังมีการจับราษฎรและแกนนำโดยใช้หมายจับที่สิ้นผลไปแล้ว ทำราวกับว่ากำลังใช้กระบวนการยุติธรรมที่ให้ผลร้ายกับผู้ชุมนุม” รังสิมันต์กล่าว

 

สำหรับคำถามที่สองเป็นเรื่องมาตรฐานในการจัดการผู้ชุมนุมแต่ละฝ่าย 

 

รังสิมันต์ตั้งข้อสังเกตว่าการชุมนุมที่เกิดขึ้นมีหลายกลุ่ม มีทั้ง ‘กลุ่มคนใส่เสื้อเหลือง’ และ ‘กลุ่มราษฎร’ ในกลุ่มคนใส่เสื้อสีเหลืองมีทั้งบุคลากรจากหน่วยงานราชการที่มาด้วยการชักชวนของรัฐมนตรีบางคน มีกลไกข้าราชการในการสนับสนุนให้เข้าร่วม และได้รับการอำนวยความสะดวก ไม่มีการวางกำลังปิดล้อมโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ บางกรณีมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในเพจของกรมประชาสัมพันธ์ หรือมีการชุมนุมใกล้เขตพระราชฐานก็สามารถทำได้ และไม่มีการถูกดำเนินคดีแต่อย่างใด รวมทั้งยังมีกรณีที่ผู้ชุมนุมเสื้อเหลืองทำร้ายร่างกายนักศึกษารามคำแหงในวันที่ 21 ตุลาคมที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี จะเห็นได้ว่ามีความแตกต่างของมาตรฐานของการชุมนุมแต่ละฝ่าย หากเปรียบเทียบง่ายๆ ก็คือเหมือนฝ่ายหนึ่งรัฐเสิร์ฟน้ำ อีกฝ่ายรัฐฉีดน้ำ

 

ขอถามว่าที่ผ่านมาการชุมนุมโดยคนสวมเสื้อเหลืองใช้ทรัพยากรของสาธารณะไปกี่ครั้ง ครั้งใดบ้าง คิดเป็นเงินงบประมาณเท่าใด ทำไมการชุมนุมแต่ละฝ่ายจึงได้รับการปฏิบัติที่ต่างกัน มีการดำเนินคดีอยู่ฝ่ายเดียว หากการชุมนุมของฝ่ายราษฎรอยากได้รับการอำนวยความสะดวกบ้างต้องทำอย่างไร แจ้งที่ใคร และพวกท่านสามารถจัดหาให้ได้บ้างหรือไม่

 

ในคำถามสุดท้าย รังสิมันต์ได้ตั้งคำถามแทนเจ้าหน้าที่ตำรวจที่มาปฏิบัติหน้าที่ในช่วงเวลาดังกล่าว โดยระบุว่ามีเสียงสะท้อนถึงชะตากรรมของตำรวจที่เข้ามากรุงเทพฯ ทั้งเรื่องเบี้ยเลี้ยงที่ไม่พอจ่าย อาหารจัดเลี้ยงที่อาจมีการกินหัวคิว และไม่มีการจัดสถานที่พักผ่อนอาศัยให้อย่างเหมาะสมและมีศักดิ์ศรี

 

“บางคนต้องไปอาศัยนอนตามห้องโถงหน่วยงานราชการ เบี้ยเลี้ยงไม่พอรายจ่าย เวลารับข้าวไม่สอดคล้องกับมื้ออาหาร รวมทั้งอาหารที่ได้รับไม่อิ่มท้อง ต้องซื้อกินเพิ่ม ทำให้เงินไม่พอ จำเป็นต้องเรี่ยไรจากเพื่อนในโรงพักเป็นค่าใช้จ่าย ผมทราบมาว่ามีการนำกำลังพลเข้ามา 14,000 นาย โดยแต่ละคนได้รับค่าอาหารมื้อละ 60 บาท ระยะเวลา 1 สัปดาห์ ใช้งบประมาณไปทั้งสิ้น 23 ล้านกว่าบาท แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าข้าวบางกล่องมีแค่ปีกไก่ หรือมีแค่ไข่ต้มกับน้ำพริก การเกณฑ์ตำรวจชั้นผู้น้อยมา ทำไมรัฐจึงไม่ดูแลให้สมศักดิ์ศรี การมาทำหน้าที่ของพวกเขายังโดนประชาชนดุว่าเพื่อให้เจ้านายได้หน้าได้ตา และยังเป็นการปกป้องอำนาจของรัฐบาล นอกจากนี้ยังมีตำรวจที่ไปชูป้ายว่า ‘ทำงานแทบตาย นายแดกหัวคิว’ สิ่งที่เกิดขึ้นมีข่าวว่าเขาน่าจะถูกสั่งขังและให้ทำรายงานส่ง จากนั้นอาจมีการบังคับให้มาแถลงข่าวว่าไม่มีเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น” รังสิมันต์กล่าว

 

ขณะที่ในการตอบกระทู้ พล.อ. ชัยชาญ ระบุว่าเจ้าหน้าที่ได้ใช้ความอดทนอดกลั้นในการปฏิบัติหน้าที่ การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ให้ความยุติธรรมทุกฝ่าย รวมทั้งหากไม่ดำเนินการ เจ้าหน้าที่ก็มีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และรัฐบาลตระหนักดีในเสรีภาพของการชุมนุมว่าเป็นสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย ไม่กระทบสิทธิคนอื่น รวมทั้งเจ้าหน้าที่มีอำนาจหน้าที่ตามมาตรา 44 วรรคสอง โดยปกติมีพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 ต่อมามีเหตุทำให้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ในการตัดสินใจ ‘ขอคืนพื้นที่’ เนื่องจากเหตุการณ์ในวันที่ 13 ตุลาคมมีการชุมนุมซึ่งตอนเย็นมีหมายขบวนเสด็จฯ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการเจรจาให้ผู้ชุมนุมขึ้นไปบนทางเท้า มีการเจรจาทุกขั้นตอน แต่ทางผู้ชุมนุมมีการสาดสีใส่ เจ้าหน้าที่จึงดำเนินการทางกฎหมายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ส่วนเหตุการณ์ในวันที่ 14 ตุลาคม การจัดเส้นทางขบวนเสด็จฯ มีทั้งเส้นทางหลักและเส้นทางรอง เจ้าหน้าที่พิจารณาแล้วว่าเส้นทางที่ใช้เหมาะสมที่สุด หากใช้เส้นทางอื่นจะไม่เรียบร้อย ซึ่งเส้นทางรองก็มีผู้ชุมนุมอยู่ ส่วนวันที่ 15 ตุลาคม การดำเนินการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในช่วงเช้ามีการดำเนินการมาชุมนุม เจ้าหน้าที่ต้องบังคับใช้กฎหมายโดยมีหลักปฏิบัติที่เป็นไปตามขั้นตอนตามประกาศของนายกรัฐมนตรีและตามประกาศชุมนุมสาธารณะ มีการมอบหมายให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบสถานการณ์ในตอนนั้นดูแลความเรียบร้อย

 

“ในส่วนของความรับผิดชอบ มีการมอบหมายให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบต่อสถานการณ์นั้น โดยมีการประเมินสถานการณ์เพื่อให้กลับไปสู่ความเรียบร้อย ในวันที่ 13 ตุลาคม ภาพที่ปรากฏคือมีการล้อมรถพระที่นั่ง ทั้งนี้การชุมนุมของกลุ่มที่ปกป้องสถาบันฯ เป็นความรู้สึกของประชาชนที่เคารพและเทิดทูนสถาบันฯ เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน มีประชาชนมาร่วมเฝ้าฯ รับเสด็จในพิธีเปลี่ยนเครื่องทรงพระแก้วมรกต คนที่มาร่วมพิธีไม่ได้เข้าข่ายการชุมนุมสาธารณะ นอกจากนี้บางกลุ่มไม่ได้แจ้งมาชุมนุม แต่บางกลุ่มแจ้ง ทางเจ้าหน้าที่ได้ดูแลตามกรอบกฎหมายและตามอำนาจหน้าที่อย่างเท่าเทียม” พล.อ. ชัยชาญ กล่าว

 

พล.อ. ชัยชาญ กล่าวอีกว่าสำหรับความคืบหน้าคดีการทำร้ายผู้ชุมนุมที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง มีผู้ร้องทุกข์ 5 คน มีผู้ต้องสงสัย 10 คน มีหลักฐานว่ากระทำผิด 1 คน วันที่ 6 พฤศจิกายนนี้จะต้องมารับทราบข้อกล่าวหา ส่วนที่เหลือกำลังเปรียบเทียบพยานหลักฐาน ยืนยันว่าตำรวจไม่ได้เลือกปฏิบัติ

 

ส่วนคำถามเรื่องการนำเจ้าหน้าที่ตำรวจมาจากต่างจังหวัด พล.อ. ชัยชาญ ระบุว่าในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่มีกำหนดแผนปฏิบัติว่าต้องใช้กำลังเท่าไร ที่ต้องนำตำรวจจากต่างจังหวัดมาเพราะไม่เพียงพอตามแผน วิธีการปฏิบัติคือการต้องหมุนเวียนจากภาคต่างๆ เข้ามา และประเด็นที่ว่าอาหารเพียงพอหรือไม่ นโยบายของนายกรัฐมนตรีระบุว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องดูแลสิทธิและสิ่งที่พึงมีพึงได้ รวมถึงขวัญกำลังใจของกำลังพล การปฏิบัติงานในหนึ่งรอบคือ 15-20 วัน และประเด็นที่ว่ามีการตรวจสอบหรือไม่ ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่ได้นิ่งนอนใจ ส่วนประเด็นที่ว่าบางส่วนมีการเบิกจ่ายหรือไม่ ต้องตอบว่ายังไม่ได้เบิกจ่าย แต่เป็นการเบิกจ่ายด้วยงบประมาณของแต่ละหน่วยงาน

 

เมื่อได้ฟังการชี้แจง รังสิมันต์กล่าวว่ารู้สึกผิดหวังในคำตอบของรัฐมนตรีมาก เพราะไม่ได้ตอบในคำถามที่ถาม เพราะสิ่งที่ถามคือใคร ชื่ออะไร ที่เป็นผู้สั่งให้มีการสลายการชุมนุม และที่บอกว่ามีการกีดขวางขบวนเสด็จฯ ที่อ้างถึงนั้นไม่ใช่เหตุการณ์ในวันที่ 13 ตุลาคม ซึ่งในวันนั้นมีสื่อปรากฏทั่วไปว่าไม่มีการขวางขบวน อีกทั้งเจ้าหน้าที่ยังไม่มีอำนาจไปสลายการชุมนุม เพราะจะต้องไปขออำนาจจากศาลก่อน ข้อเท็จจริงคือไม่มีการไปขอแต่อย่างใด อีกทั้งข้ออ้างที่บอกว่ากีดขวางเส้นทางเสด็จฯ ข้อเท็จจริงคือไม่มีการกีดขวาง

 

“ส่วนเหตุการณ์ที่คนใส่เสื้อเหลืองกระทำในวันที่ 21 ตุลาคม ซึ่งมีการปะทะ มีการใช้ความรุนแรง ถึงวันนี้ทางเจ้าหน้าที่ยังไม่ดำเนินคดีเลย ทำให้บางคนบอกว่าเป็น ‘ม็อบมีเส้น’ นอกจากนี้ผมก็เข้าใจมาโดยตลอดอยู่แล้วว่าการไปรับเสด็จไม่ใช่การไปชุมนุม แต่จากการฟังระหว่างบรรทัดที่ท่านรัฐมนตรีตอบ พูดราวกับว่าการชุมนุมเป็นเรื่องเดียวกันกับการรับเสด็จ จึงเป็นเรื่องอันตรายที่ต้องระวัง” รังสิมันต์กล่าว

 

รังสิมันต์ยังระบุด้วยว่าสิ่งที่รัฐมนตรีตอบคือการบ้านที่เตรียมมา แต่ไม่ได้ตอบคำถาม เพราะที่ถามไปคือเจ้าหน้าที่ใช้หลักเกณฑ์อะไรในการสลายการชุมนุม เนื่องจากมีข้อเท็จจริงปรากฏว่าเมื่อเจรจาแล้วก็ฉีดน้ำทันที จึงต้องถามว่าใครเป็นผู้ตัดสินใจสั่งการ เพราะไม่เชื่อว่าผู้บัญชาการตำรวจนครบาลจะสั่งการได้ ต้องมีอำนาจสั่งการที่สูงกว่านั้น และอยากให้กล่าวชื่อออกมาเลย

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising