×

รังสิมันต์เปิดหลักฐาน ส.ว. อุปกิต ปกปิดการถือหุ้น เตรียมร้อง ป.ป.ช. เอาผิดปมยื่นบัญชีทรัพย์สินเท็จ

โดย THE STANDARD TEAM
20.02.2023
  • LOADING...

วันนี้ (20 กุมภาพันธ์) รังสิมันต์ โรม สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) แบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะโฆษกพรรคก้าวไกล แถลงข่าวเปิดหลักฐานเพิ่มเติมสืบเนื่องจากการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 กรณี ‘ไทยดำ-จีนเทา’ ซึ่งพาดพิง อุปกิต ปาจรียางกูร สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จนรังสิมันต์ถูกอุปกิตฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท เรียกร้องค่าเสียหาย 100 ล้านบาท

 

รังสิมันต์กล่าวว่า จากการอภิปรายของตนระบุว่าอุปกิตเคยเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และกรรมการของบริษัท อัลลัวร์ กรุ๊ป จำกัด (Allure Group) ซึ่งถูกเชื่อมโยงว่าเป็นบริษัทเพื่อฟอกเงินที่ได้มาโดยผิดกฎหมายของ ‘ตุน มิน ลัต’ (Tun Min Latt) นักธุรกิจชาวเมียนมา

 

แต่ต่อมาเมื่อมีการจับกุม ตุน มิน ลัต อุปกิตก็รีบออกมาชี้แจงว่าได้ขายหุ้นและลาออกจากตำแหน่งกรรมการของ Allure Group และ Myanmar Allure แล้วในปี 2562 ก่อนรับตำแหน่ง ส.ว. รวมถึงโรงแรม Allure Resort ก็ขายไปแล้ว และยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เรียบร้อย แต่ครั้งนี้ตนจะมาพูดถึงการขายหุ้นขายโรงแรมที่อุปกิตอ้างว่าทำไปแล้วก่อนมาเป็น ส.ว. ว่าจริงเท็จอย่างไร

 

เนื่องจากหนึ่งในเอกสารที่อุปกิตยื่นประกอบบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. คือเอกสารสัญญาซื้อขายอาคารและกิจการโรงแรม ลงวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 เนื้อหาสัญญาระบุว่า อุปกิต ซึ่งเป็นผู้ขาย ทำสัญญากับ ชาคริส กาจกำจรเดช ผู้ซื้อ ว่าตกลงซื้อขายอาคารตึกคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น จำนวน 1 หลัง ห้องพักจำนวน 78 ห้อง และกิจการโรงแรม Allure Resort และสิทธิการใช้ประโยชน์บนที่ดินอันเป็นที่ตั้งของอาคารดังกล่าว ในราคา 8,150,000 ดอลลาร์สหรัฐ ชำระเงินในเดือนสิงหาคม 2562 และตกลงกันว่าจะส่งมอบและรับมอบการครอบครองอาคารดังกล่าวในวันเดียวกันกับวันที่ทำสัญญา

 

นอกจากนี้อุปกิตยังแนบสำเนาหนังสือรับรองจากธนาคาร B.I.C (Cambodia) Bank Plc. ลงวันที่ 6 สิงหาคม 2562 รับรองบัญชีธนาคารดังกล่าวว่ามีเงินฝากจำนวน 8,150,000 ดอลลาร์สหรัฐ

 

ข้อสังเกตต่อเอกสารสัญญาฉบับนี้คือสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับโรงแรม Allure Resort ตามสัญญา BOT ที่ทำกับกรมการโรงแรมฯ เมียนมานั้นต้องเป็นของบริษัท Allure Group หรือ Myanmar Allure ดังนั้นถ้าจะมีการขายโรงแรม Allure Resort ให้ผู้อื่นจริงๆ ก็ควรเป็นการที่อุปกิตขายหุ้นของตัวเองใน Allure Group หรือ Myanmar Allure ที่ถือสิทธิและหน้าที่ในโรงแรมให้กับชาคริส หรือไม่ถ้าเป็นกรณีที่ Allure Group หรือ Myanmar Allure จะขายสิทธิและหน้าที่ในโรงแรมที่บริษัทถืออยู่ให้กับชาคริส ก็ควรต้องเป็นสัญญาที่ทำขึ้นในนามของบริษัทนั้นๆ อย่างไรก็ตาม ตนไม่แน่ใจว่ากรณีนี้ทำได้หรือไม่ เพราะสัญญา BOT กำหนดว่ากรมการโรงแรมฯ ต้องยินยอมด้วย

 

แต่ปรากฏว่าสัญญาฉบับนี้กลับมีลักษณะเป็นสัญญาในนามบุคคลธรรมดา 2 คน ไม่ใช่นิติบุคคล และไม่ได้เป็นสัญญาเพื่อซื้อขายหุ้นของบริษัทใดๆ แต่เป็นการซื้อตึกโรงแรม กิจการโรงแรม และสิทธิใช้ประโยชน์บนที่ดินโรงแรม หมายความว่าตามสัญญานี้สิทธิในโรงแรม Allure Resort จะต้องตกเป็นของบุคคลธรรมดาที่ชื่อชาคริสคนเดียว ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่น่าเป็นไปได้

 

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อไปดูเนื้อหาหนังสือรับรองของ B.I.C (Cambodia) Bank Plc. แม้จะระบุว่าบัญชีธนาคารที่อุปกิตอ้างว่ามีเงินฝาก 8,150,000 ดอลลาร์สหรัฐ จริง แต่ก็ไม่มีตรงไหนระบุว่าเป็นการจ่ายมาจากชาคริสจริงหรือไม่ นี่คือข้อสังเกตถึงความไม่ชอบมาพากลของการขายโรงแรมที่อุปกิตอ้างต่อ ป.ป.ช.

 

ที่สำคัญหลังจากนั้นเมื่อมีการสืบสวนสอบสวนคดียาเสพติดและการฟอกเงินที่เกี่ยวข้องไปถึงพนักงานของ Allure Group มีการเรียกชาคริสไปให้การเมื่อเดือนเมษายน 2565 ตามบันทึกคำให้การช่วงหนึ่ง ชาคริสให้การว่าตนถือหุ้น 15% ของโรงแรม Allure Resort มาตั้งแต่ปี 2558 จนกระทั่งประมาณปลายปี 2562 ตนเคยทำการตกลงซื้อกิจการโรงแรม Allure Resort จากอุปกิตในราคา 8,150,000 ดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นเงินไทยประมาณ 251,572,000 บาท แต่ไม่ได้มีการทำสัญญาซื้อขายกันจริงแต่อย่างใด เนื่องจากตนไม่มีเงินซื้อกิจการดังกล่าว ไม่รู้จะไปหามาจากไหนตั้ง 250 กว่าล้านบาท และยังให้การอีกว่าต่อมาอีก 1 ปีให้หลัง ประมาณเดือนกรกฎาคม 2563 อุปกิตได้ตกลงขายกิจการให้กับบุคคลอื่นในราคาประมาณ 300 ล้านบาท หักค่าใช้จ่ายแล้วคงเหลือ 265 ล้านบาท ตนได้รับส่วนแบ่งตามจำนวนที่ถือหุ้น 15% เป็นเงินจำนวน 39,750,000 บาท

 

“เนื้อหาคำให้การของชาคริสครั้งนี้เป็นการบอกว่าสัญญาซื้อขายโรงแรมที่อุปกิตทำกับชาคริสเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 และยื่นต่อ ป.ป.ช. นั้นเป็นสัญญาปลอม นอกจากนี้คำให้การยังบอกในทางอ้อมด้วยว่าไม่ได้มีการขายหุ้นบริษัทให้ชาคริสเพิ่มแต่อย่างใด เพราะชาคริสยังคงมีหุ้น 15% เท่าเดิม ถามว่าชาคริสให้การเท็จต่อตำรวจหรือไม่ ผมคิดว่าถ้ามีการซื้อขายเกิดขึ้นจริงก็ไม่เห็นจำเป็นต้องมาโกหกว่าไม่ได้ซื้อ” รังสิมันต์กล่าว

 

รังสิมันต์กล่าวต่อไปว่า ยิ่งเมื่อไปดูสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นของ Allure Group เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2562 ก่อนวันทำสัญญา 9 พฤษภาคม 2562 แค่ 9 วัน ชาคริสถือหุ้นอยู่ 1,500 หุ้น 15% ตามที่ให้การไว้จริง ต่อมาอีกฉบับ 30 มิถุนายน 2562 ชาคริสก็ยังถือหุ้นอยู่ 1,500 หุ้นเท่าเดิม เป็นหลักฐานชัดๆ ว่าไม่เคยมีการขายหุ้น Allure Group ไปที่ผู้ขอสิทธิบริหารจัดการโรงแรม Allure Resort เพิ่มขึ้นเลยแม้แต่หุ้นเดียว

 

นอกจากนี้ตามที่ชาคริสให้การว่าอุปกิตไปขายกิจการให้กับบุคคลอื่นในราคา 300 ล้านบาท เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 การขายกิจการที่ว่าคือสัญญาซื้อขายหุ้นบริษัท Allure Group ระหว่าง ‘ดีน ยัง จุลธุระ’ ผู้ขาย ลูกเขยของอุปกิต กับผู้ซื้อคือ พันณรงค์ ขุนพิทักษ์ 1 ใน 3 เจ้าพ่อพนันออนไลน์รายใหญ่ของไทย โดยมีอุปกิตลงนามเป็นพยานการซื้อขายครั้งนี้ด้วย

 

ในสัญญาก็ระบุไว้ชัดเจนว่าบริษัท Allure Group ที่ซื้อขายหุ้นกันตามสัญญานี้ เป็นบริษัทที่ได้รับสิทธิในการบริหารและจัดการโรงแรม Allure Resort และเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในหุ้นสามัญจำนวน 6,691 หุ้นของ Myanmar Allure ซึ่งมีสิทธิครอบครองในทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบธุรกิจของ Allure Group นี่แสดงให้เห็นว่าสิทธิและหน้าที่ในโรงแรม Allure Resort ไม่เคยไปเป็นของชาคริสในฐานะบุคคลธรรมดา ตามที่จะต้องเป็นตามสัญญาระหว่างอุปกิตกับชาคริสเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2562 เลย

 

รังสิมันต์ตั้งคำถามว่า ตามข้อมูลนี้หมายความว่าหนังสือสัญญาซื้อขายระหว่างอุปกิตกับชาคริสเป็นเอกสารเท็จ สัญญาซื้อขายไม่ได้เกิดขึ้นจริงใช่หรือไม่ รายได้ที่เข้าบัญชีกัมพูชาของอุปกิตกว่า 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐมาจากไหน เป็นเงินจากใคร และได้มาจากเรื่องอะไรกันแน่ การกระทำเช่นนี้เป็นการจงใจยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงที่ควรแจ้งให้ทราบหรือไม่

 

และมีพฤติการณ์อันควรเชื่อได้หรือไม่ว่ามีเจตนาไม่แสดงที่มาที่แท้จริงของทรัพย์สินคือเงิน 8 ล้านดอลลาร์สหรัฐว่ามาจากที่ไหน ซึ่งจะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการปราบปรามทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 167 และในมาตรา 114 ประกอบมาตรา 81 ยังกำหนดให้ ป.ป.ช. เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเพื่อวินิจฉัยด้วย หากวินิจฉัยว่าผิดจริง อุปกิตจะต้องพ้นจากตำแหน่ง ส.ว. ถูกเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งตลอดไป และอาจถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งสูงสุด 10 ปี โดยภายในสัปดาห์นี้ ตนจะยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. ต่อไป

 

รังสิมันต์กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ขอตั้งคำถามไปถึงหน่วยงานตำรวจ 3 ข้อ ข้อแรกคือเนื่องจากในวันที่ 28 กุมภาพันธ์นี้ จะเป็นวันปิดสมัยประชุมสภาฯ ทำให้เอกสิทธิ์และความคุ้มกันของ ส.ส. และ ส.ว. หมดไป จึงขอถามผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ในฐานะพนักงานสอบสวนระดับสูงสุด ว่าหลังจากตนเปิดหลักฐานไปหมดแล้ว ตำรวจจะดำเนินการอย่างไรต่ออุปกิต เรื่องนี้ต้องตอบคำถามสังคมให้ได้

 

คำถามที่ 2 ถ้าข้อเท็จจริงชี้ว่าทรัพย์สินต่างๆ ของอุปกิตได้มาจากการฟอกเงิน หรือยังไม่มีความชัดเจนว่าอาจได้มาโดยผิดกฎหมาย จะต้องมีการยึดอายัดทรัพย์สินเหล่านั้นตามหลักปฏิบัติหรือไม่ ตำรวจจะกล้ายึดอาคารและที่ดินที่วันนี้เป็นที่ตั้งของพรรครวมไทยสร้างชาติหรือไม่ และคำถามที่ 3 พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พยายามปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุปกิต แต่ตอนนี้ในฐานะประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของตำรวจ ตนขอตั้งคำถามว่าทำไมตำรวจที่รับผิดชอบคดีจับกุม ตุน มิน ลัต จึงถูกย้าย เป็นเพราะ พล.อ. ประยุทธ์ รู้ใช่หรือไม่ว่าตัวเองอาจหนีความรับผิดชอบไม่ได้

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X