×

‘สมประวิณ’ ห่วงขึ้นดอกเบี้ยทำภาระคนไทยเพิ่ม ‘สองเด้ง’ แนะใช้มาตรการการคลังประคองกลุ่มเปราะบาง

15.06.2022
  • LOADING...
สมประวิณ มันประเสริฐ

การส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและคาดว่ายังต้องใช้เวลากว่าจะกลับไปอยู่ในจุดเดียวกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตโควิดได้ ทำให้หลายฝ่ายออกมาแสดงความกังวลว่าการขึ้นดอกเบี้ยจะยิ่งทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ช้าลงไปอีก

 

THE STANDARD WEALTH ได้พูดคุยกับ สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ ในรายการ WEALTH IN DEPTH ซึ่งสมประวิณได้ให้มุมมองในประเด็นดังกล่าวว่า โดยส่วนตัวเขายังมองว่าประเด็นที่น่าห่วงสำหรับเศรษฐกิจไทยในตอนนี้อาจไม่ใช่เรื่องเงินเฟ้อ แต่เป็นเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากการเร่งทำนโยบายการเงินตึงตัวของหลายประเทศทั่วโลก

 

สมประวิณระบุว่า สถิติในอดีตชี้ให้เห็นว่าใน 16 ครั้งที่ธนาคารกลางของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักมีการทำนโยบายตึงตัว มีถึง 12 ครั้งที่เกิดภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ (Recession) ตามมา ซึ่งหากรวมกับความเสี่ยงจากช็อกอื่นๆ เช่น สงครามและปัญหาซัพพลายเชนเข้าไปด้วยก็จะยิ่งทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิด Recession ในรอบนี้สูงขึ้น

 

“การถอนคันเร่งที่เกิดขึ้นพร้อมกันทั่วโลกจะทำให้อุปสงค์ขนาดมหาศาลถูกถอนออกไปด้วย จีนเองล่าสุดก็เกิดปัญหาในเซี่ยงไฮ้ขึ้นอีก ทำให้นโยบาย Zero-Covid น่าจะอยู่ต่อไปอีกสักพัก ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงและมีความเสี่ยงจะเกิด Recession มากขึ้น เมื่อโลก Recession เงินเฟ้อจะลง เงินเฟ้อไทยก็จะลงตามไปด้วย คำถามคือเมื่อเกิด Recession ไทยเราจะมีเครื่องมืออะไรมากระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่ม” สมประวิณกล่าว

 

สมประวิณระบุว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่คาดว่าต้องใช้เวลาถึงไตรมาส 3 ในปีหน้า เพื่อที่จะกลับไปจุดเดียวกับในช่วงก่อนโควิด รวมถึงการฟื้นตัวที่มีลักษณะค่อนข้างเปราะบางและไม่เท่าเทียม สะท้อนว่าการดำเนินนโยบายแบบผ่อนคลายยังมีความจำเป็นอยู่ ขณะเดียวกัน การดูแลเงินเฟ้อที่มาจากฝั่งอุปทานนั้นการใช้นโยบายการคลังจะมีประสิทธิภาพมากกว่านโยบายการเงิน

 

สมประวิณกล่าวอีกว่า แม้การขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นการส่งสัญญาณสกัดคาดการณ์เงินเฟ้อ แต่ต้องไม่ลืมว่าผลของมันคือการกดอุปสงค์ ซึ่งในท้ายที่สุดจะกลับมาทำร้ายเศรษฐกิจได้เช่นกัน ดังนั้นการดำเนินนโยบายในช่วงนี้จึงต้องทำอย่างระมัดระวังและถ่วงดุลให้ดี

 

“ที่บอกว่าเงินเฟ้อทำให้ภาระค่าใช้จ่ายของคนไทยเพิ่มขึ้น 850 บาทต่อเดือน แต่การขึ้นดอกเบี้ย 1% จะเพิ่มภาระให้ประชาชนแค่ 120 บาทต่อเดือน แล้วทำให้ภาระจากเงินเฟ้อลดลง ซึ่งก็ต้องถามว่าขึ้นดอกเบี้ยแล้วทำให้เงินเฟ้อลดลงจริงหรือเปล่า ถ้าไม่ลดเท่ากับจะโดนสองเด้งคือ 850+120 เป็น 970 บาท ต้องไม่ลืมว่าเงินเฟ้อขึ้นเร็วแต่ลงช้า” สมประวิณกล่าว

 

สมประวิณกล่าวว่า ในมุมมองของเขาแนวทางการดูแลเงินเฟ้อที่เหมาะสมและตรงจุดคือการช่วยประคองกลุ่มคนที่เปราะบาง เช่น คนรายได้น้อย โดยอุดหนุนผ่านมาตรการต่างๆ เพราะไทยยังถือว่ามีกระสุนทางการคลังเพียงพอจากระดับหนี้สาธารณะที่ยังไม่สูงมาก แต่ต้องใช้นโยบายการคลังให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

“บางคนกังวลว่าการอุดหนุนจะสร้างภาระทางการคลัง เราต้องคิดว่าถ้าเศรษฐกิจไม่ดีเราก็จะเก็บภาษีได้ลดลงอยู่ดี และถ้าเศรษฐกิจวันหน้าไม่ดี เราต้องกู้เพิ่มอีก 5 แสนล้านมากระตุ้น ก็เสียอยู่ดี ถ้าเราทำวันนี้ได้เราก็ควรทำ นโยบายที่ผมชอบและคิดว่าน่าทำคือการอุดหนุนที่เกี่ยวกับการจ้างงาน” สมประวิณกล่าว

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X