×

คำถามที่ถูกทิ้งไว้หลังจบอาเซอร์ไบจานกรังด์ปรีซ์ กับรอบสปรินท์

02.05.2023
  • LOADING...
อาเซอร์ไบจานกรังด์ปรีซ์

นับเป็นเวลา 3 สัปดาห์หลังเหตุการณ์ธงแดงปลิวไสวในอัลเบิร์ตพาร์กเซอร์กิต ที่เมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย ศึกรถสูตรหนึ่งเก็บคะแนนชิงแชมป์โลก หรือ F1 ก็กลับมาแข่งขันกันอีกครั้ง ซึ่งในเรซนี้จะเป็นการแข่งขันประเภทสตรีทเรซ (ปิดถนนแข่งขัน) ในเมืองบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน

 

แน่นอนว่าหลายๆ คนก็คงรู้ผลการแข่งขันกันเรียบร้อยแล้วว่า ‘เซโก’ หรือ เซร์คิโอ เปเรซ นักขับชาวเม็กซิกัน โชว์ฟอร์มเทพได้ทั้งสองรอบสำคัญ ทั้งในรอบสปรินท์และรอบเมนเรซ ทำให้เขาเก็บคะแนนจากสนามนี้ไปถึง 33 คะแนน ประกอบด้วยการจบอันดับแรกในรอบเมนเรซได้ 25 คะแนน และจบอันดับ 1 ในรอบสปรินท์อีก 8 คะแนน

 

ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ในการแข่ง สามารถอ่านได้จาก https://thestandard.co/sergio-perez-wins-azerbaijan-grand-prix/ โดยทีมงานของเรารายงานเอาไว้อย่างละเอียดทีเดียว

 

หลังจบเรซที่ 4 ก็มีประเด็นน่าสนใจให้พูดถึงกันอยู่เล็กน้อยเช่นกัน โดยเรื่องแรกคือ ความเหนือชั้นของทีมเรดบูลล์ เรซซิง ที่คว้าอันดับ 1 ได้เป็นสนามที่ 4 ติดต่อกัน หลังเซโกคว้าแชมป์สนามนี้ ส่งผลให้เขาและ แม็กซ์ แวร์สเตปเพน คว้าแชมป์กันไปคนละ 2 เรซ จากทั้งหมด 4 เรซ

 

อันดับในตารางคะแนนตอนนี้เป็นแวร์สเตปเพน 93 คะแนน นำหน้าเซโกที่มี 87 คะแนน เพียง 6 คะแนนเท่านั้น แต่ทาง เซร์คิโอ เปเรซ กลับทิ้งอันดับที่ 3 อย่าง เฟร์นานโด อลอนโซ ห่างถึง 27 คะแนน ชนิดที่เรียกได้ว่า ต่อให้จบที่ 1 พร้อมกับคว้าตำแหน่งเร็วที่สุดต่อรอบไปด้วยก็ยังไล่ไม่ทัน

 

ภาพ: F1 

 

ขณะที่ในประเภทบุคคลว่าห่างแล้ว ประเภททีมผู้ผลิตนับว่าห่างกว่านั้นมาก หลังจากที่เรดบูลล์ เรซซิง เก็บไปตอนนี้ถึง 180 คะแนน ทิ้งแอสตัน มาร์ติน ที่ตามมาเป็นที่ 2 โดยมี 87 คะแนน เกือบ 100 แต้ม ซึ่งถ้ายังเป็นแบบนี้ต่อไป ทีมดังจากออสเตรียก็มีโอกาสที่จะจบฤดูกาลด้วยการเป็นทีมผู้ผลิตที่คว้าแชมป์ได้เร็วที่สุดในประวัติศาสตร์เช่นกัน

 

ภาพ: F1 

 

ขณะที่อีกเรื่องที่มีการพูดถึงและวิพากษ์วิจารณ์กันไม่น้อยคือ เรื่องของฟอร์แมตใหม่ ในการแข่งขันแบบ ‘สปรินท์เรซ’ ที่เรียกว่า ‘สปรินท์ชูตเอาต์’

 

โดยหากเทียบกับฤดูกาล 2022 ที่ผ่านมา รายละเอียดในรอบสปรินท์เปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมากจากการมาของสปรินท์ชูตเอาต์ แม้ว่าท้ายที่สุดผลลัพธ์จะยังคล้ายๆ กัน เนื่องจากคะแนนที่ให้ยังคล้ายคลึงของเดิมก็ตาม

 

เราคงต้องเริ่มจากการไล่เรียงความเหมือนและความต่างของรอบสปรินท์ของปีนี้และปีก่อน

 

สิ่งที่เหมือนกันคือ คะแนนที่ได้ โดยไล่จากผู้ชนะไปถึงอันดับที่ 8 จะยังคงเหมือนเดิมคือ ไล่จากมากไปน้อยตั้งแต่อันดับ 1 ได้ 8 คะแนน, อันดับ 2 ได้ 7 คะแนน, อันดับ 3 ได้ 6 คะแนน ลดหลั่นกันไปเรื่อยๆ จนอันดับ 8 ได้ 1 คะแนน

 

ขณะที่ความต่างอย่างแรกและอย่างสำคัญคือ การแข่งขันรอบสปรินท์ในปีนี้จะไม่ได้เป็นตัวกำหนดกริดสตาร์ทในรอบเมนเรซอีกต่อไป โดยรอบควอลิฟาย กริดสตาร์ทจะมีขึ้นในวันศุกร์หลังการฝึกซ้อม และการคลอลิฟายในวันศุกร์นี้เองจะเป็นตัวกำหนดตำแหน่งในรอบเมนเรซวันอาทิตย์ เพื่อให้การแข่งขันในรอบสปรินท์กลายเป็นการแข่งขันแบบเอกเทศจากการแข่งขันทั้งหมด

 

 

โดยรอบสปรินท์จะเริ่มต้นขึ้นในวันเสาร์ รอบแรกจะเรียกว่ารอบสปรินท์ชูตเอาต์ จะถูกนำมาใช้แทนรอบฝึกซ้อมรอบ 2 โดยการแข่งขันในรอบสปรินท์ชูตเอาต์จะถูกแบ่งเป็น 3 รอบ คล้ายกับการจัดอันดับในวันศุกร์ แต่จะใช้เวลาสั้นกว่า ไล่ตั้งแต่

 

  • SQ1 (Sprint Qualify 1) 12 นาที (ใช้ยาง มีเดียม)
  • SQ2 (Sprint Qualify 2) 10 นาที (ใช้ยาง มีเดียม)
  • SQ3 (Sprint Qualify 3) 8 นาที (ใช้ยางซอฟต์)

 

โดยจุดมุ่งหมายของการมี SQ แต่ละรอบก็จะคล้ายคลึงกับแต่ละรอบของการควอลิฟายปกติคือ คัดรถออก โดยรอบ SQ1 จะรถที่ช้าที่สุดออก 5 คัด เหลือ 15 คัน, รอบ SQ2 จัดตัดออกอีก 5 คัน เหลือ 10 คัน และรอบ SQ3 จะถูกใช้เพื่อจัดอันดับไปเรียงในกริดสตาร์ทของรอบสปรินท์ โดยขั้นตอนทั้งหมดที่กล่าวมารวมกันนั้นถูกเรียกว่า สปรินท์ชูตเอาต์

 

เมื่อจบรอบสปรินท์ชูตเอาต์แล้วก็จะได้กริดสตาร์ทออกมาครบทั้ง 20 ตำแหน่ง โดยทั้งหมดจะถูกนำมาแข่งขันต่อในรอบสปรินท์ ซึ่งจะมีระยะทางราว 100 กิโลเมตร และใช้ระยะเวลาในการแข่งขันราว 30 นาที ไม่ต่างจากกฎรอบสปรินท์ในปีก่อนสักเท่าไร

 

แต่ที่ต่างคือผลที่ได้ คือนอกจากจะมีการแจกคะแนนแล้ว อันดับในรอบสปรินท์จะไม่มีผลอะไรต่อการจัดอันดับกริดสตาร์ท ซึ่งตรงนี้เองที่มีการวิพากษ์วิจารณ์​จากหลายฝ่ายเช่นกัน

 

ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดเห็นจะหนีไม่พ้น แม็กซ์ แวร์สเตปเพน ที่ออกมาบ่นถึงโปรแกรมในรอบสปรินท์ที่เปลี่ยนไปว่า “ผมต้องระวังว่าจะพูดอะไรตอนนี้”

 

“ผมบอกตลอดว่าต่อให้ไม่มีสปรินท์เรซเพิ่มอีก แต่ถ้าเรายังขยายโปรแกรมแข่งขันและกำหนดการในแต่ละสัปดาห์ยาวขนาดนี้ ไปถึงจุดหนึ่งเราก็ต้องถามตัวเองว่ามันคุ้มค่าหรือไม่?

 

“ผมชอบแข่งรถ ผมชอบชัยชนะ ผู้รู้ว่าเรามีเงินเดือนและทุกอย่าง คุณมีชีวิตที่ดี แต่ตอนนี้มันคือการใช้ชีวิตที่ดีหรือไม่?

 

“ผมคิดว่าทุกคนแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสิ่งที่คุณต้องการในชีวิต บางคนรักการแข่งขันรถยนต์ และนั่นคือสิ่งเดียวที่เขารู้หรือสิ่งเดียวที่พวกเขาอยากทำ ผมคงอยู่ตรงกลางพอดี ผมรักการแข่งรถ แต่ผมก็อยากจะทำอย่างอื่น และคุณก็ผสมทั้งสองอย่างเข้าหากันไม่ได้

 

“ผมคิดว่าเมื่อเราแข่งขันกันอย่างหนัก ไม่ใช่แค่นักแข่ง แต่ทีมงานด้วย หลายคนเองก็คงจะประสบปัญหาได้เช่นกัน” (อ่านบทสัมภาษณ์ตัวเต็มได้ทาง https://thestandard.co/max-verstappen-dont-know-future-in-f1/)

 

บทสัมภาษณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่า แม้แต่นักขับ F1 ชั้นนำอย่างแม็กซ์ก็ยังไม่โอเคกับโปรแกรมแข่งขันที่เพิ่มขึ้น และเป็นการเพิ่มขึ้นที่ไม่มีความหมายเมื่อเทียบกับสปรินท์เรซก่อนหน้านี้

 

ภาพ: Red Bull Content Pool 

 

โดยสปรินท์เรซในปีก่อนนอกจากจะมีน้อยกว่าครึ่งต่อครึ่งคือ มีเพียงแค่ 3 สนาม (ก่อนขยายเพิ่มเป็น 6 สนามในปีนี้ ได้แก่ อาเซอร์ไบจาน, ออสเตรียน, เบลเจียน, กาตาร์, ยูเอส และเซาเปาโล) เดิมพันจากสปรินท์เรซในปีก่อนยังมีความหมายนอกจากคะแนนที่ได้คืออันดับในกริดสตาร์ทด้วย นั่นทำให้สปรินท์เรซในปีก่อนๆ ทั้ง 2021 และ 2022 ถูกเรียกว่า สปรินท์ควอลิฟาย

 

แต่พอมาในปีนี้ การเปลี่ยนจากสปรินท์ควอลิฟายเป็นสปรินท์ชูตเอาต์ ซึ่งเป็นการแข่งขันที่เรียกได้ว่า ‘จริงจัง’ และเป็น ‘เอกเทศ’ เมื่อเทียบกับการแข่งขันปกติ โดยทางฝ่ายจัดการแข่งขันเชื่อว่า นี่น่าจะเพิ่มความน่าสนใจให้กับการแข่งขันในสนามที่มีสปรินท์เรซได้

 

แต่ในขณะเดียวกัน สปรินท์ชูตเอาต์ก็เป็นเหมือนการ ‘เพิ่มงาน’ ให้นักขับ ภายใต้สัญญาที่พวกเขาต้องรับเงินเท่าเดิม แต่ต้องรับกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการแข่งขันที่จริงจังเพิ่มขึ้น

 

ความขัดแย้งในประเด็นนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ หากแต่เป็นประเด็นที่เคยเกิดขึ้นแล้วกับศึก MotoGP หลังประกาศใช้สปรินท์เรซในการแข่งขันทุกสนามเมื่อต้นฤดูกาลที่ผ่านมา (อ่านประเด็นความขัดแย้งของ MotoGP Sprint Race ได้ที่: https://thestandard.co/motogp-sprint-race-2023/)

 

จากเหตุผลที่ผ่านมา จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่บรรดานักขับจะออกมาโวย เพราะเมื่อการแข่งขันที่ ‘จริงจัง’ เพิ่มขึ้น นั่นหมายความว่า นอกจากร่างกายของพวกเขาจะแบกรับแรง G ระหว่างแข่งขันเพิ่มขึ้นแล้ว ความเครียดที่สะสมระหว่างแข่งก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน

 

ยังดีที่ F1 ประกาศใช้สปรินท์เรซในฤดูกาลนี้เพียงแค่ 6 สนามเท่านั้น ซึ่งต่างจาก MotoGP ที่ประกาศใช้รวดเดียวทุกสนาม ซึ่งกลายเป็นการสร้างแรงเสียดทานต่อฝ่ายจัดการแข่งขันเป็นอย่างมาก โดยหลังจากนี้คงมีเสียงสะท้อนจากนักแข่งออกมาเป็นระยะอย่างยากจะหลีกเลี่ยง

 

และแม้สปรินท์ชูตเอาต์จะน่าสนุกและเรียกความสนใจจากคนดูได้มากแค่ไหน แต่ถ้านักขับไม่เอาด้วย มันก็คงไม่คุ้มเท่าไร หากสร้างความไม่พอใจให้นักขับจนออกมาโจมตีฝ่ายจัดกันเองเหมือนที่เกิดขึ้นใน MotoGP ตอนนี้

 

 

หลังจากนี้ก็เป็นเรื่องการปรับตัวเข้าหากันระหว่างฝ่ายจัด F1 อย่างสหพันธ์ยานยนต์นานาชาติ (FIA) บรรดาทีม และนักขับ ที่จะต้องหันหน้าเข้าคุยกัน เพื่อหาจุดตรงกลางที่ทั้งสองฝ่ายพอใจ ระหว่างการเพิ่มเรตติ้งสำหรับการแข่งขันประเภทอื่นที่ไม่ใช่เมนเรซกับความพอดีของการแข่งขัน สำหรับนักขับที่ต้องเดินทางไปทั่วโลก 23 สนามตลอดปีและจะมีโอกาสมากขึ้น

 

และนั่นอาจช่วยลดความไม่พอใจของนักขับที่เริ่มบ่นออกมาให้เห็นหลังจบเรซนี้ลงไปได้บ้าง ไม่มากก็น้อย…

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising