×

เกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องธรรมดา แล้วตายแบบไหนหนอถึงเรียกว่า ‘มีคุณภาพ’

25.04.2018
  • LOADING...
การตายอย่างมีคุณภาพ

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ตายอย่างมีคุณภาพคือการตายอย่างสงบ เป็นการตายอย่างธรรมชาติ ไม่ถูกยื้อชีวิตด้วยเครื่องมือต่างๆ และผ่านการเตรียมตัวในช่วงสุดท้ายของชีวิต
  • 4 ข้อแนะนำให้คุณทำเพื่อเตรียมความพร้อมก่อนตายโดยไม่เกี่ยวกับอายุ

วัฏจักรสังขารของมนุษย์ล้วนเริ่มจากเกิด เมื่อเกิดแล้วก็โตล่วงเข้าสู่วัยชรา สุดท้ายก็โรยราดับสูญในที่สุด ใช่! มนุษย์เราทุกคนเกิดมาล้วนต้องตาย ทว่าความตายของแต่คนละคนนั้นย่อมมาไม่พร้อมกัน บางคนเกิดมาไม่ทันลืมตาดูโลกก็ตาย บางคนตายด้วยอุบัติเหตุแบบคาดไม่ถึง บางคนอายุยืนเกือบร้อยปีก็ยังดูแข็งแรงฟิตปั๋ง ห่างไกลจากคำว่าโรยราเสียเหลือเกิน และในเมื่อเราไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะตายวันตายพรุ่ง หรือกำหนดวันตายเป็นเดดไลน์ได้อย่างชัดเจนว่าฉันพร้อมจะไปวันนี้แล้วนะ! พอถึงเวลาขึ้นมาก็รู้สึกอยากทำนี่นั่นเต็มไปหมด หรือยังไม่ได้เที่ยวประเทศนี้เลย ยังไม่ได้ดูแลพ่อแม่เลย ทรัพย์สมบัติฉันล่ะ? สารพัดสิ่ง ทีนี้ปุถุชนที่อยู่ในระบบเวียนว่ายตายเกิดอย่างเราจะเตรียมพร้อมรับมือกับความตายอย่างไรดี

 

THE STANDARD มีเคล็ดลับการเตรียมความพร้อมจากสองผู้เชี่ยวชาญ ดร.แสวง บุญเฉลิมวิภาส ศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ และที่ปรึกษาศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และคุณวรรณา จารุสมบูรณ์ นักอาสาจากเครือข่ายพุทธิกา ในงานสัมมนาเรื่อง ‘Happy Deathday…เผชิญความตายอย่างสงบ’ จัดขึ้นโดย อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต มาฝาก

 

 

การตายอย่างมีคุณภาพ

 

ต้องเชื่อก่อนว่าความตายอยู่ใกล้ตัว

ดร.แสวง บุญเฉลิมวิภาส ศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ ได้ให้นิยามกับการตายอย่างมีคุณภาพไว้ว่า “ตายอย่างมีคุณภาพคือการตายอย่างสงบ เป็นการตายอย่างธรรมชาติ ไม่ถูกยื้อชีวิตด้วยเครื่องมือต่างๆ และผ่านการเตรียมตัวในช่วงสุดท้ายของชีวิต ซึ่งคนส่วนใหญ่มักไม่กล้าเผชิญกับความตาย ละเลย ไม่กล้าพูดถึง เมื่อถึงเวลาก็เป็นทุกข์ รับไม่ได้ สายเกินแก้ หรืออาจไปโดยไม่รู้ตัว”

 

คำนิยามของอาจารย์สะกิดใจผู้เขียนยิ่งนัก 99.99% ของเผ่าพันธุ์มนุษย์เราไม่พูดถึง ‘ความตาย’ ทุกคนกลัวความตาย เพราะเราไม่รู้ว่าโลกหลังความตายเป็นเช่นไร จะดับสูญหรือนับหนึ่งใหม่ ถ้าใครเถียงว่า “ไม่นะ! ก็เห็นเขาพูดกัน” ก็ถูกค่ะ… เขาพูดกัน แต่ไม่เคยตระหนักได้ว่าจริงๆ แล้วความตายอยู่ใกล้ตัวมาก ใกล้ชิดพอๆ กับอากาศหรือเวลาที่อยู่รอบตัวเรา เกิดขึ้นเมื่อไรไม่รู้ อาจเป็นไม่กี่วินาทีข้างหน้าหรือลมหายใจหน้าก็ได้

เมื่อไรก็ตามที่เราคิดว่าความตายอยู่ใกล้ตัว เมื่อนั้นเราจะเริ่มรู้สึกว่าต้องเตรียมพร้อม – ดร.แสวง บุญเฉลิมวิภาส

 

เตรียมพร้อมเพื่อ ‘ตาย’ อย่างมี ‘คุณภาพ’

ในเวทีเดียวกัน คุณวรรณา จารุสมบูรณ์ วิทยากรเจ้าของหัวข้อ ‘เตรียมตัว…ตายดี’ ได้ให้คำแนะนำกับการเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับความตายไว้ตามนี้

 

1. ได้ทำตามปรารถนา

มนุษย์ทุกคนล้วนมีสิ่งปรารถนา มีสิ่งที่ฝัน อยากทำและอยากเป็น ดังนั้นจงใช้ชีวิตที่มีอยู่ทำสิ่งที่อยากทำ อยากเป็นให้ครบถ้วน จะปีนยอดเขาเอเวอเรสต์ นอนแคมปิ้งในป่า อยากเดินทางไปที่ไหน ทำสิ่งใด ลองลิสต์ออกมาเป็นข้อๆ แล้วทำซะ เมื่อมีชีวิตอยู่ เรารู้สึกว่ามีเวลาเหลือเฟือ ทว่าเมื่อถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ทุกอย่างที่คุณปรารถนาก็สายไปเสียแล้ว

 

2. มีโอกาสดูแลความสัมพันธ์ในครอบครัว

ครอบครัวเป็นสิ่งที่ผู้เผชิญความตายติดบ่วงมากที่สุด ยังไม่ได้ดูแลพ่อแม่เลย ลูกๆ ของฉันจะอยู่อย่างไร ฉะนั้นจงพัฒนาความสัมพันธ์ในครอบครัวให้ดีพร้อมและดีพอจนวางใจที่จะปล่อยหรือไม่เสียใจใดๆ เมื่อไม่อยู่บนโลกนี้

 

3. ฝากฝังสิ่งที่ห่วงไว้เรียบร้อย

ในกรณีนี้หนักไปทางทรัพย์สิน ผู้เขียนเคยแวะไปคาเฟ่มรณานุสติ และมีโอกาสเจอคำถามชะงักหน้าหลายครา เช่น คุณอยากให้ใครดูแลทรัพย์สมบัติของคุณหลังคุณตาย ลูกๆ ของคุณอยากให้เป็นคนดูแลต่อ ใครที่คุณวางใจให้ดูแลแอ็กเคานต์โซเชียลทั้งหมด ฯลฯ ซึ่งเหล่านี้มักเป็นคำถามที่เราไม่เคยคิดมาก่อน แต่เป็นสิ่งที่เราห่วงและสร้างความกังวลเป็นที่สุด ซึ่งปัญหานี้แก้ง่ายๆ ด้วยการทำพินัยกรรม หรือทำหนังสือเจตจำนงเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ให้แน่ชัด

 

4. ความปรารถนาช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต

ความปรารถนาในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตหมายถึงปรารถนาที่ว่าตายอย่างไร คุณรับได้ไหมกับการยื้อชีวิตของคณะแพทย์ คุณโอเคไหมกับการรักษาจนถึงทางตันก่อนจะดับสูญ หรือยินดีกว่าในการได้ใช้ช่วงเวลาสุดท้ายที่บ้านของตนเอง ดร.แสวงกล่าวว่า “ปัจจุบันความคุ้มครองทางกฎหมายตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 ระบุไว้ว่า บุคคลมีสิทธิ์ทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพียงเพื่อยื้อการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้” ซึ่งการทำพินัยกรรมชีวิต หรือ Living Will สามารถทำได้ง่ายๆ ไม่จำเป็นต้องมีทนายหรือแบบฟอร์มที่แน่ชัด เพียงคุณเขียนเป็นลักษณ์อักษร ลงนาม และแนบให้คณะแพทย์ก่อนทำการรักษาก็มีผลแล้ว

 

การเขียน Living Will ยังรวมไปถึงลักษณะของงานศพ งานแจกของชำร่วย และหลายสิ่งหลายอย่างที่บุคคลนั้นอยากให้เกิดผลกับตัวเองหลังมรณะ

การที่บุคคลใดจะตายอย่างมีคุณภาพ จุดประสงค์สำคัญคือเขาต้องหมดห่วง อยากทำอะไรต้องได้ทำ มีเวลาจัดการสิ่งต่างๆ ให้ลุล่วง – วรรณา จารุสมบูรณ์

 

ความตายเป็นเรื่องใกล้ตัวกว่าที่คิด ถ้าอยากได้แบบมีคุณภาพหมดห่วง การเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ เป็นสิ่งที่ควรคำนึงถึง อย่างน้อยแม้จะยังไม่ถึงคิวคุณ หรือคุณอาจมีชีวิตยืนยาวไปอีกหลายสิบปี แต่รับรองว่าจะช่วยให้รู้สึกว่าเป็นชีวิตที่มีคุณภาพ มีคุณค่า และมีความหมายต่อตัวคุณแน่นอน คิดดูว่าจะมีกี่คนกันที่สามารถได้ทำอะไรตามใจอยากได้ ทั้งยังจากไปอย่างหมดห่วง

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising