×

“ฟุตบอลโลกที่กาตาร์คือความผิดพลาด” คำสารภาพจากอดีตประธาน FIFA (และเบื้องหลังอันฉาวโฉ่)

09.11.2022
  • LOADING...
ฟุตบอลโลก

ยิ่งใกล้ถึงวันเปิดฉากฟุตบอลโลก 2022 มากขึ้นเท่าไร ดูเหมือนจะมีสิ่งที่ทำให้โลกฟุตบอลต้องรู้สึกไม่ดีต่อมหกรรมลูกหนังที่จะเกิดขึ้นครั้งแรกที่ตะวันออกกลางมากขึ้นเท่านั้น

 

ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนแรงงานขั้นรุนแรง การต้องขยับเอาโปรแกรมเตะมาแข่งกันในช่วงปลายปีเพราะสภาพอากาศ จนนำไปสู่ปัญหามากมาย รวมถึงอาการบาดเจ็บของเหล่าซูเปอร์สตาร์ที่ฝันสลายในช่วงโค้งสุดท้าย 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ยังมีปัญหาความไม่พร้อมของเจ้าภาพในแง่ของการรับรองแฟนฟุตบอลนับล้านคนที่จะเดินทางมาเยือนตลอดระยะเวลาเกือบ 1 เดือน (นอนในแคมป์ฟุตบอลที่ทำจากคอนเทนเนอร์ หรือจะหลับบนเรือสำราญในราคาแพงระยับก็เลือกเอา) ไปจนถึงเรื่องของการไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ

 

คาลิด ซาลมาน อดีตสตาร์ทีมชาติกาตาร์ซึ่งเป็นหนึ่งในทูตของการแข่งขัน (โดยมี เดวิด เบ็คแฮม อยู่ในนั้นด้วย) ออกมาย้ำแผลในเรื่องนี้ผ่านบทสัมภาษณ์กับ ZDF สถานีโทรทัศน์ในเยอรมนีที่บอกว่า เกย์ที่จะเดินทางมาชมฟุตบอลโลกก็ควรจะต้องยอมรับกฎหมายของประเทศกาตาร์ด้วย

 

ซาลมานยังกังวลเกี่ยวกับการที่ลูกหลานชาวกาตาร์อาจจะได้เห็นเกย์ รวมถึงได้เรียนรู้ ‘บางอย่างที่ไม่ดีงาม’ พร้อมไขข้อข้องใจว่าทำไมเกย์จึงเป็นสิ่งต้องห้ามในประเทศ?

 

‘ฮะรอม’ (Haram) หรือข้อห้ามตามหลักกฎหมายประเทศอิสลาม คือคำตอบของซาลมาน และเกย์คือ ‘ความผิดปกติทางจิตใจ’

 

คำพูดของซาลมานไม่ได้ช่วยให้บรรยากาศของฟุตบอลโลกครั้งนี้ดีขึ้น และอาจทำให้แฟนฟุตบอลชาว LGBTQIA+ รู้สึกว่าตัดสินใจถูกแล้วที่จะไม่เดินทางไปกาตาร์

 

อย่างไรก็ดี ต้นธารของเรื่องทั้งหมดเกิดจากการที่สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) เป็นฝ่ายยกสิทธิ์ในการเป็นเจ้าภาพให้แก่กาตาร์เอง ผ่านการโหวตของคณะกรรมการ 22 คนเมื่อเดือนธันวาคม 2010 ซึ่ง เซปป์ แบลตเตอร์ อดีตประธาน FIFA ในเวลานั้นออกมายอมรับสารภาพเป็นครั้งแรก

 

การให้กาตาร์เป็นเจ้าภาพคือ ‘ความผิดพลาด’

 

เบื้องหลังการเลือกเจ้าภาพที่อื้อฉาวที่สุด

บนโต๊ะประชุมในวันที่ 2 ธันวาคม 2010 วันนั้นมีคณะกรรมการ ‘FIFA Executive’ จำนวน 22 คนที่เข้าร่วม

 

คณะกรรมการทุกคนนั้นโดยหัวโขนเป็นเหมือนตัวแทนของ FIFA ที่กระจายตัวไปตามภูมิภาคต่างๆ ทั่วโลก เพื่อช่วยส่งเสริมและพัฒนาวงการฟุตบอลให้ก้าวหน้าอย่างทัดเทียมกัน แต่ในอีกบทบาทนั้นคณะกรรมการ FIFA ไม่ต่างอะไรจากการเป็น ‘หัวคะแนน’ ที่รวบรวมเสียงโหวตเพื่อแลกกับสิทธิประโยชน์ต่างๆ ไม่ว่าจะกับประเทศ ท้องที่ที่ดูแล หรือประโยชน์ส่วนตน

 

เรื่องนี้ไม่ได้เป็นแค่การกล่าวหา เพราะในจำนวนคณะกรรมการ 22 คนที่เข้าประชุมในวันนั้น มีถึง 17 คนที่ต้องมลทิน ไม่ว่าจะถูกดำเนินคดีเหมือนแบลตเตอร์ และ มิเชล พลาตินี ประธานสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (UEFA) ในเวลานั้น หรือถูกลงโทษแบนห้ามข้องเกี่ยวกับเกมฟุตบอล

 

หนึ่งในนั้นคือ วรวีร์ มะกูดี อดีตนายกสมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ที่เข้าร่วมการประชุมด้วย

 

วาระการประชุมวันนั้นคือ การโหวตเลือกเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2018 และ 2022 ซึ่งถูกเรียกขานว่าการโหวตที่โสมมที่สุด เพราะมีการ ‘ล็อบบี้’ กันเอาไว้เรียบร้อยแล้วว่าชาติใดจะได้เป็นเจ้าภาพ

 

แบลตเตอร์เป็นคนออกมาเปิดเผยเองว่า มีการตกลงกันว่าเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2018 จะเป็นรัสเซีย และในปี 2022 สหรัฐอเมริกาจะได้เป็นเจ้าภาพอีกครั้งหลังจากที่เคยเป็นในปี 1994 แต่แล้วทุกอย่างก็เกิดการเปลี่ยนแปลงในนาทีสุดท้าย

 

กาตาร์ได้เป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลก 2022 โดยที่แบลตเตอร์ยอมรับในเวลานี้หรือ 12 ปีให้หลังจากวันนั้นว่า เป็นการตัดสินใจที่ผิดพลาด

 

“กาตาร์เป็นประเทศที่เล็กเกินไป เกมฟุตบอลและฟุตบอลโลกใหญ่เกินไปสำหรับที่นี่ มันเป็นการเลือกที่เลวร้าย และผมก็ต้องรับผิดชอบในฐานะประธาน FIFA” แบลตเตอร์กล่าว ก่อนจะเปิดเผยถึงเบื้องหลังการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นสิ่งที่เคยให้สัมภาษณ์กับ The Times ไว้ในปี 2016 ว่าคีย์แมนของเรื่องนี้คือพลาตินี 

 

เดิมพลาตินีซึ่งกุมเสียงอยู่ในมือจำนวน 4 เสียง เตรียมยกมือสนับสนุนสหรัฐอเมริกา แต่จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นในระหว่างการรับประทานอาหารกลางวันระหว่าง นิโกลาส์ ซาร์โกซี ประธานาธิบดีฝรั่งเศสในขณะนั้น กับผู้ปกครองของกาตาร์ ซึ่งกลายเป็นแรงกดดันสำหรับอดีตตำนานนักเตะผู้สง่างามเจ้าของสมญา ‘นโปเลียนลูกหนัง’

 

“ในสัปดาห์ก่อนหน้าการประชุมใหญ่ของ FIFA มิเชล พลาตินี โทรศัพท์มาหาผมแล้วบอกว่าแผนของพวกเราไม่น่าเวิร์กแล้ว มันเลยออกมาเป็นแบบนี้ ซึ่งเพราะเสียงของพลาตินี 4 เสียง ฟุตบอลโลกก็เลยได้ไปที่กาตาร์แทนที่จะเป็นสหรัฐฯ นี่คือความจริง”

 

โดยสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ ผลประโยชน์มูลค่า 1.46 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 5.38 แสนล้านบาท ในรูปแบบของการขายเครื่องบินรบ

 

“แน่นอนว่ามันมีเงินมาเกี่ยว 6 เดือนหลังจากนั้นกาตาร์สั่งซื้อเครื่องบินเจ็ตจากฝรั่งเศสราคา 1.46 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ” แบลตเตอร์เล่าต่อ

 

กาตาร์ชนะสหรัฐฯ ได้การโหวตในรอบสุดท้าย 14 ต่อ 8 เสียง

 

พลาตินีไม่เคยยอมรับในเรื่องนี้ เขายืนยันว่าการตัดสินใจนั้นเกิดขึ้นก่อนหน้าที่ซาร์โกซีจะพบกับผู้นำของกาตาร์ เช่นเดียวกับกาตาร์ที่ไม่มีวันยอมรับว่าพวกเขา ‘ซื้อ’ ฟุตบอลโลกในครั้งนี้

 

และคำสารภาพของแบลตเตอร์ในวันนี้ก็ไม่ได้มีความหมายอะไร ในเมื่อมันเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้แล้ว เพราะฟุตบอลโลกที่กาตาร์กำลังจะเริ่มขึ้นในวันที่ 20 พฤศจิกายนนี้

 

โดยที่คนไทยยังไม่รู้ว่าจะได้ดูไหม? (วนมาเฉย!) 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising