×

ค่าจ้างไม่ใช่คำตอบเดียว! ปรากฏการณ์ ‘การลาออกครั้งใหญ่’ จะเกิดต่อไปในเอเชียแปซิฟิก หากงานที่ทำอยู่ไม่เติมเต็มและขาดจริยธรรม

19.08.2022
  • LOADING...
การลาออกครั้งใหญ่

PwC เผยผลสำรวจแรงงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พบ 1 ใน 5 ของลูกจ้าง มีแผนที่จะเปลี่ยนงานใหม่ ขณะที่ 1 ใน 3 ต้องการขอขึ้นเงินเดือน-เลื่อนตำแหน่ง ชี้ปรากฏการณ์ ‘การลาออกครั้งใหญ่’ ของลูกจ้างจะยังดำเนินต่อไป หากงานที่ทำอยู่ไม่เติมเต็มและขาดจริยธรรม นอกเหนือไปจากการได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม ขณะที่แรงงานไทยเกือบครึ่งให้ความสำคัญและต้องการให้นายจ้างสนับสนุนความหลากหลายและผสานความแตกต่างภายในองค์กร

 

รายงานล่าสุดเรื่อง Asia Pacific Workforce Hopes & Fears Survey 2022: Time for a rethink? ของ PwC ทำการสำรวจความคิดเห็นของพนักงานจำนวนเกือบ 18,000 คนในทวีปเอเชียแปซิฟิก พบว่ามีพนักงานที่ถูกสำรวจเพียง 57% เท่านั้นที่มีความพึงพอใจกับงานที่ทำอยู่

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

 


 

ขณะที่ในอีก 12 เดือนข้างหน้า ประมาณ 1 ใน 3 มีแผนที่จะขอขึ้นเงินเดือน และในสัดส่วนที่เท่ากันต้องการที่จะขอเลื่อนตำแหน่ง นอกจากนี้ 1 ใน 5 ของลูกจ้าง ยังมีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนงานใหม่ ผลลัพธ์เหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาด้านแรงงานที่บริษัทต่างๆ ทั่วทั้งภูมิภาคจะต้องเร่งแก้ไข ในขณะที่นายจ้างหลายรายก็ได้เผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะและความสามารถสูงมาหลายปีแล้ว

 

ท่ามกลางภาวะตลาดแรงงานที่ตึงตัว การจ่ายผลตอบแทนที่มากขึ้นของนายจ้างเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบที่ยั่งยืนนัก และแม้ว่าบางอุตสาหกรรมจะเสนอค่าจ้างสูงขึ้นถึง 20-40% โดยผลสำรวจชี้ว่า 68% ของลูกจ้างในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต้องการได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม 

 

แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ให้ความสำคัญกับสิ่งอื่นๆ ด้วย เช่น 64% ของแรงงาน ต้องการทำงานที่ให้ความรู้สึกเติมเต็มและมีความหมาย และ 62% ต้องการทำงานในสถานที่ที่ตนจะได้แสดงความเป็นตัวของตัวเอง ซึ่งความต้องการเหล่านี้ถือเป็นความต้องการพื้นฐานที่เหมือนกันไม่ว่าพนักงานจะทำงานจากที่บ้าน ทำงานแบบไฮบริด หรือทำงาน ณ สถานที่ทำงานก็ตาม

 

เมื่อพูดถึงการรักษาพนักงานที่มีความสามารถให้คงอยู่กับองค์กร ผลสำรวจแสดงให้เห็นว่ายังมีสิ่งที่องค์กรในภูมิภาคนี้จะต้องปรับปรุงอย่างมีนัยสำคัญ

 

  • มีพนักงานเพียง 36% ที่กล่าวว่า นายจ้างของพวกเขามีการสนับสนุนการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิต
  • 66% ของพนักงานรู้สึกว่า นายจ้างไม่ได้สนับสนุนให้พวกเขามีการตัดสินใจอย่างมีจริยธรรม
  • 73% ของพนักงานรู้สึกว่า นายจ้างไม่ได้สนับสนุนให้มีการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากการดำเนินธุรกิจ

 

การสำรวจยังพบด้วยว่า นายจ้างน้อยกว่าครึ่ง (45%) มีการยกระดับทักษะแรงงานของตน โดยบ่อยครั้งพบว่า มีหลายองค์กรที่มองว่าการยกระดับทักษะเป็นวิธีแก้ปัญหาระยะสั้นในการอุดช่องว่างด้านทักษะ แทนที่จะใช้วิธีพัฒนาแรงงานเชิงกลยุทธ์ 

 

1 ใน 3 ของพนักงานระบุว่า องค์กรของพวกเขาขาดคนที่มีทักษะในการปฏิบัติงาน ดังนั้น ผู้บริหารจำเป็นที่จะต้องพิจารณาการยกระดับทักษะในลักษณะองค์รวมมากขึ้น โดยพิจารณาความต้องการของทั้งพนักงานและบริษัทในระยะยาว ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงของตลาดในภาพรวมด้วย

 

ขณะเดียวกันรูปแบบการทำงานแบบผสมผสานการทำงานจากที่บ้านและสถานที่ทำงาน (Hybrid Work) จะคงดำเนินต่อไป โดย 68% ของผู้ถูกสำรวจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคิดว่า นายจ้างของพวกเขาจะใช้นโยบายการทำงานแบบไฮบริดในอีก 12 เดือนข้างหน้า ในขณะที่ลูกจ้างก็เห็นด้วยกับการทำงานรูปแบบนี้ในสัดส่วนเดียวกัน อย่างไรก็ดี มีเพียง 10% ของแรงงานทั่วทั้งภูมิภาค ที่ต้องการทำงาน ณ สถานที่ทำงานในช่วง 12 เดือนนับจากนี้

 

แม้ว่าพนักงานส่วนใหญ่ต้องการที่จะทำงานแบบไฮบริด แต่องค์กรก็ไม่ควรมองข้ามพนักงานที่ต้องทำงานทางไกล หรือทำงาน ณ สถานที่ทำงานอย่างเต็มรูปแบบด้วยเช่นกัน โดย 38% ของลูกจ้างที่ไม่สามารถทำงานทางไกลได้ มีแนวโน้มที่จะรู้สึกไม่พอใจต่องานที่ทำ ในขณะที่พนักงานที่สามารถทำงานทางไกลได้ก็มีความกังวลมากเป็นสองเท่าว่าจะถูกมองข้ามในการเลื่อนตำแหน่ง และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนงานในที่สุด

 

ด้านการสนับสนุนความหลากหลายและยอมรับความแตกต่างของพนักงานภายในองค์กร (Diversity and Inclusion) ถือเป็นสิ่งที่แรงงานไทยต้องการให้นายจ้างของพวกเขาสนับสนุนเป็นลำดับต้นๆ โดย 43% ของลูกจ้างชาวไทยที่ถูกสำรวจระบุว่า ต้องการให้นายจ้างยอมรับการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างในการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ 

 

ทั้งนี้ จากการสำรวจแรงงานไทยจำนวนกว่า 1,000 ราย พบว่า 73% ของลูกจ้างชาวไทยคาดหวังว่านายจ้างของพวกเขาจะใช้นโยบายการทำงานแบบไฮบริดในอีก 12 เดือนข้างหน้า และมีเพียง 4% ที่ต้องการกลับไปทำงาน ณ สถานที่ทำงาน

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X