×

พุทธิพงษ์แจ้งความเฟซบุ๊ก ยูทูบ ทวิตเตอร์ ไม่ปิดกั้นข้อมูลสุ่มเสี่ยง แม้ขอคำสั่งศาลไปแล้ว

โดย THE STANDARD TEAM
24.09.2020
  • LOADING...

วันนี้ (24 กันยายน) พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) พร้อมด้วย ภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดีอีเอส แจ้งความกับ พ.ต.อ. ศิริวัฒน์ ดีพอ รองผู้บัญชาการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี และ พ.ต.ท. กฤช เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา รองผู้กำกับการสอบสวน กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ให้ดำเนินคดีกับผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่เผยแพร่ส่งต่อข้อความในลักษณะหมิ่นสถาบันฯ ในห้วงระหว่างการชุมนุมของกลุ่มนักศึกษาเมื่อวันที่ 19-20 กันยายนที่ผ่านมา พร้อมดำเนินคดีผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียต่างๆ ที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลในการปิดกั้นการเข้าถึงข้อมูลที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม

 

พุทธิพงษ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาดีอีเอสได้ขอคำสั่งศาลพร้อมส่งจดหมายเตือนไปยังเฟซบุ๊ก ยูทูบ ทวิตเตอร์ ให้ปิดกั้นข้อมูลที่ผิดกฎหมายตามมาตรา 27 พระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ฯ ภายใน 15 วัน แต่ที่ผ่านมาแฟลตฟอร์มโซเชียลดังกล่าวได้รับจดหมายเตือนไปแล้ว ยังมีผู้ให้บริการบางรายให้ความร่วมมือไม่เต็มที่ แบ่งเป็นเฟซบุ๊ก 661 ลิงก์ ปิดให้ 225 ลิงก์ เหลือ 436 ลิงก์ ยูทูบ 289 ลิงก์ ปิดทั้งหมดเมื่อคืนวานนี้ ทวิตเตอร์ 69 ลิงก์ ปิด 5 ลิงก์ เหลือ 64 ลิงก์ และอินสตาแกรม 1 ลิงก์ จึงต้องรวบรวมหลักฐานนำส่งตำรวจเพื่อให้ดำเนินคดีตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่ใช้กฎหมายดังกล่าวเอาผิดผู้ให้บริการ โดยจะฟ้องไปยังบริษัทแม่ของทุกองค์กร ซึ่งตำรวจจะใช้กฎหมายไทย เพราะความผิดเกิดขึ้นที่ไทย เชื่อว่าตำรวจจะสามารถดำเนินคดีได้แม้ว่าจะอยู่ที่ใด หลังจากนี้ยังมีอีกกลุ่มที่ดีอีเอสกำลังรวบรวมข้อมูลกว่า 3,000 รายการ เป็นเนื้อหาเกี่ยวกับสื่อลามก สถาบัน ยาเสพติด ละเมิดลิขสิทธิ์

 

นอกจากนี้พุทธิพงษ์กล่าวอีกว่า ช่วงการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา ดีอีเอสได้ติดตามการใช้สื่อโซเชียลตามช่องทางต่างๆ พบว่ามี 5 รายที่กระทำผิดตามมาตรา 14 ของพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ฯ แบ่งเป็นเฟซบุ๊ก 2 ราย หนึ่งในนั้นเป็นแอดมิน แต่ไม่มีกลุ่มตลาดหลวง และยังมีทวิตเตอร์อีก 3 ราย เป็นแกนนำกลุ่มนักศึกษา

 

พ.ต.อ. ศิริวัฒน์ กล่าวว่าตำรวจจะดำเนินการใน 2 ส่วน สำหรับผู้ให้บริการที่ไม่ปิดกั้นข้อมูลแม้มีคำสั่งศาลไปแล้ว จะใช้อำนาจกฎหมายตามมาตรา 20 ของพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ฯ มีโทษตามมาตรา 27 ปรับเป็นเงินโพสต์ละ 2 แสนบาท และปรับเพิ่มเป็นรายวัน วันละ 5,000 บาท ส่วนคดีที่มีผู้โพสต์ข้อความไม่เหมาะสมในช่วงการชุมนุมก็จะสืบสวนตามขั้นตอนต่อไป

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising