×

พุทธิพงษ์เสนอตั้งผู้บัญชาการด้านสื่อสารกรณีวิกฤต แนะรัฐประกาศช่องทางตามข่าวสารที่น่าเชื่อถือ เลี่ยงความสับสน

โดย THE STANDARD TEAM
18.02.2020
  • LOADING...

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) จัดเวทีระดมความคิดเห็นเรื่อง ‘รู้เท่าทัน-วางกฎเหล็ก Mass Shooting – สังหารหมู่ซ้ำบนสื่อทีวี-ออนไลน์’ ร่วมกับ กสทช. สื่อ และภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางออกร่วมกันในการดูแลสื่อโซเชียลและแก้ไขกฎหมายให้ตามทันเทคโนโลยี หลังจากกรณีเหตุกราดยิงโคราชได้ก่อให้เกิดการตั้งคำถามถึงความเหมาะสมในการรายงานข่าวสารของสื่อแต่ละราย

 

พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมกล่าวว่าการจัดเวทีระดมความคิดเห็นในประเด็นดังกล่าวมีเป้าหมายหลักเพื่อหาทางออกที่เหมาะสมร่วมกัน ดูแลและจัดระเบียบสื่อสังคมออนไลน์ในประเทศไทย และนำไปสู่การสร้างแนวปฏิบัติในอนาคตในการรับมือและวางกฎระเบียบของแต่ละภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

 

โดยข้อสรุปจากการระดมความคิดเห็นในเวทีนี้จะถูกนำไปใช้ประกอบการศึกษาแนวทางที่จะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย โดยไม่จำกัดเพียง พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 เนื่องจากปัจจุบันพระราชบัญญัติหลายฉบับยังไม่ครอบคลุมแพลตฟอร์มหรือเทคโนโลยีใหม่ๆ

 

“จุดมุ่งหมายในการระดมความคิดเห็นครั้งนี้เพื่อรับมือและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น เราไม่ได้มีความตั้งใจลิดรอนสิทธิใคร ภาครัฐไม่ได้ต้องการละเมิดสิทธิประชาชนและสื่อ แต่เมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นมาแล้วต้องร่วมมือกันเพื่อแก้ไข โดยจะนำความคิดเห็นจากส่วนรวมมาใช้พิจารณาประกอบการแก้ไขกฎหมาย” พุทธิพงษ์กล่าว

 

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมยังได้เสนอความคิดเห็นว่า ในกรณีสถานการณ์วิกฤตอย่างเหตุการณ์ที่ผ่านมา ควรมีการแต่งตั้งให้มีผู้บัญชาการและ ‘ผู้บัญชาการด้านการสื่อสาร’ เพราะต้องยอมรับว่าประชาชนสนใจ อยากรู้ อยากติดตามข่าวสาร แต่เลือกไม่ถูก เพราะมีสื่อหลากหลาย 

 

นอกจากนี้รัฐควรประกาศช่องทางชัดเจน เช่น อสมท หรือช่อง 11 เพื่อเป็นช่องหลักในการกระจายข่าวสารข้อมูลที่ได้รับการยืนยันแล้วและสื่อช่องอื่นๆ มาเอาข้อมูลจากที่นี่เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน และทุกคนต้องตระหนักว่าการที่เอาข้อมูลจากคนอื่นมาเผยแพร่ต่อต้องมีความรับผิดชอบ ซึ่งแนวทางนี้สามารถใช้ได้กับทุกเหตุการณ์วิกฤตในอนาคต

 

“วันนี้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ไม่ต้องแก้ไข เพราะกรณีที่มีการบิดเบือนข้อมูลออนไลน์สามารถฟ้องหมิ่นประมาทได้ แต่ที่ผ่านมาหลายคนอาจยังไม่ทราบ”

 

พุทธิพงษ์กล่าวด้วยว่า กสทช. เตรียมออกกฎเกณฑ์และบทลงโทษในสื่อหลักที่ดูแลอยู่ ส่วนกระทรวงดิจิทัลฯ ก็จะหารือการแก้ไขกฎหมายต่างๆ ให้ทันต่อสถานการณ์และเทคโนโลยี โดยที่ผ่านมาการนำเสนอข่าวออนไลน์ไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากกระทรวงดิจิทัลฯ กระทรวงจึงไม่มีอำนาจในการปิดสื่อนั้นได้ อีกทั้งจะมีการขยายผลเรื่องกฎหมายในด้านนี้ให้ครอบคลุมถึงสื่อออนไลน์ที่กระทบกับเยาวชนด้วย ได้แก่ ดูแลการขายของที่ไม่เหมาะสมสำหรับเด็กและเยาวชนผ่านช่องทางออนไลน์ ให้ความรู้กับเยาวชน และสอนให้รู้จักเรื่องการบริหารจัดการเวลาการเสพสื่อออนไลน์

 

ด้าน พล.ท. พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่าการเสนอข่าวในภาวะวิกฤตมีทั้งสื่อทีวีและออนไลน์ ดังนั้น กสทช. และดีอีเอสจึงมีส่วนสัมพันธ์กัน เพราะในแง่ กสทช. ได้รับอำนาจในการให้คลื่นความถี่ ใบอนุญาต และกำกับควบคุมดูแลส่งเสริม ทำให้กำกับดูแลสื่อบนจอทีวีได้ครบ แต่เหตุการณ์ที่ผ่านมาเกิดบนสื่อออนไลน์ ปรากฏการณ์การส่งต่อข้อมูลข่าวสารผ่านแพลตฟอร์มต่างชาติ ซึ่งมีความซับซ้อนมาก และ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ปัจจุบันก็ไม่เพียงพอต่อการกำกับดูแล

 

“องค์กรที่จะดูสื่อใหม่และสื่อออนไลน์ต้องเข้ามาช่วยกันเพื่อเสริมจากมิติของ กสทช. ที่ดูแลได้ครบในขอบเขตอำนาจ โดยร่วมหาว่าในกรณีที่ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ยังทำไม่ได้จะมีแนวทางใด”

 

ด้าน ระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ กล่าวว่าเมื่อมองว่าหลังจาก พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคมปีนี้ก็อาจจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและการคัดกรอง (Screen) ข้อมูลนำเสนอบนสื่อออนไลน์ได้อย่างเหมาะสมและถูกต้องสำหรับผู้บริโภคสื่อ เนื่องจากกรณีที่สื่อเอาคลิปมาลงและสามารถระบุตัวตนได้ว่าเป็นใคร และผู้ที่อยู่ในคลิปนั้นได้รับความเสียหายก็สามารถฟ้องร้องทางกฎหมายได้ทันที

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising