วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีแห่งรัสเซีย กำลังเดินทางมุ่งหน้าไปยังจีน เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับจีน ในขณะที่จีนถูกสหรัฐฯ กดดันเพิ่มขึ้น กรณีให้การสนับสนุนรัสเซียทำสงครามในยูเครน โดยการเยือนจีนครั้งนี้ถือเป็นทริปต่างประเทศทริปแรกของปูติน หลังรับตำแหน่งผู้นำประเทศต่ออีกสมัย
รายงานระบุว่า ผู้นำรัสเซียในวัย 71 ปีรายนี้ มีกำหนดการเยือนกรุงปักกิ่งตั้งแต่วันที่ 16 พฤษภาคมเป็นต้นไป ซึ่งปูตินจะแวะเยือนเมืองฮาร์บินทางตอนเหนือจีน และเข้าร่วมในพิธีเปิดงานนิทรรศการรัสเซีย-จีน (Russia-China Expo) ครั้งที่ 8
หลายฝ่ายมองว่า ปูตินจะใช้โอกาสพบปะกับสีจิ้นผิงในครั้งนี้หารือแนวทางรับมือและตอบโต้กรณีคำขู่คว่ำบาตรของสหรัฐฯ เป็นประเด็นพูดคุยหลัก มากกว่าเรื่องการค้าการลงทุน
นับตั้งแต่ที่ สีจิ้นผิง ประธานาธิบดีของจีนขึ้นสู่อำนาจในปี 2012 สีจิ้นผิงและปูตินพบกันมากกว่า 40 ครั้ง โดยก่อนหน้าที่รัสเซียจะเปิดฉากโจมตียูเครนเพียงไม่กี่สัปดาห์ ผู้นำทั้งสองได้ประกาศ ‘มิตรภาพไร้ขีดจำกัด’ (No-Limits Friendship) ซึ่งความสัมพันธ์ดังกล่าวทำให้จีนมีส่วนช่วยให้รัสเซียฝ่าฟันการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และยุโรป
ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า จีนได้กลายเป็นพันธมิตรที่ขาดไม่ได้สำหรับรัสเซีย ซึ่งรัสเซียต้องอาศัยจีนเป็นตลาดสำหรับพลังงาน และจีนยังถือเป็นผู้จัดหาความต้องการในช่วงสงคราม โดยความช่วยเหลือที่ได้รับทำให้ปูตินมีช่วงเวลาที่ยากลำบากบ้างบางครั้ง เนื่องจากจีนให้ความระมัดระวังเรื่องการใช้อาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซีย และคำนึงถึงความจำเป็นในการเข้าถึงระบบเศรษฐกิจโลกมากกว่า
การเยือนครั้งนี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วัน หลังจากที่ปูตินแต่งตั้ง อังเดร เบลูซอฟ นักเศรษฐศาสตร์และเทคโนแครต เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมคนใหม่ แทนที่ เซอร์เก ชอยกู ซึ่งดำรงตำแหน่งมายาวนาน ถือเป็นการส่งสัญญาณว่าผู้นำรัสเซียมองเห็นความขัดแย้งที่ยืดเยื้อรออยู่ข้างหน้า ขณะที่เจ้าหน้าที่ที่มีชื่อเสียงอีกหลายคน ซึ่งบางคนมีประสบการณ์ทำงานร่วมกับจีน ยังคงรักษาบทบาทในปัจจุบันเอาไว้ รวมถึงรองนายกรัฐมนตรี อเล็กซานเดอร์ โนวัค ซึ่งดูแลความสัมพันธ์ของรัสเซียกับกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน OPEC+ กระนั้นโนวัคก็มีบทบาทรับผิดชอบเพิ่มขึ้นในการกำกับดูแลเศรษฐกิจของประเทศ
ยูริ ยูชาคอฟ ผู้ช่วยด้านนโยบายต่างประเทศรัสเซียเปิดเผยว่า นอกจากกำหนดการพบปะกันแบบตัวต่อตัวกับผู้นำจีนแล้ว ปูตินยังเข้าร่วมกับเบลูซอฟและชอยกู ในการเจรจาแบบปิดกับจีน โดยมีรัฐมนตรีต่างประเทศ เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ ประธานธนาคารกลางรัสเซีย เอลวิรา นาบิลลินา และ อเล็กซานเดอร์ โนวัค รองนายกรัฐมนตรีเข้าร่วมด้วย
นอกจากหารือเรื่องการรับมือมาตรการคว่ำบาตรกับชาติตะวันตก ทาง อเล็กซานเดอร์ กาบูเอฟ ผู้อำนวยการศูนย์ Carnegie Russia Eurasia และผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์รัสเซีย-จีน มองว่า รัสเซียจะใช้โอกาสนี้หารือกับจีนเพื่อหาแนวทางมาตรการรับมือการคว่ำบาตรของชาติตะวันตกที่นำโดยสหรัฐฯ ซึ่งเริ่มส่งผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้นแล้ว โดยผู้เชี่ยวชาญรายนี้เชื่อว่า ผู้นำทั้งสองและเจ้าหน้าที่ระดับสูงจะสามารถมองหาแนวทางแก้ไข เช่น การกำหนดให้ธนาคารขนาดเล็กที่ไม่มีความเสี่ยงต่อระบบการเงินของสหรัฐฯ ในการจัดการธุรกรรมกับรัสเซีย
ด้าน จางฮั่นฮุย เอกอัครราชทูตจีนประจำรัสเซีย กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ของรัฐรัสเซียเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า การคว่ำบาตรของสหรัฐฯ ทำให้เกิด ‘ความวุ่นวาย’ ในการค้าระหว่างทั้งสองประเทศ และกล่าวอีกว่า ทั้งสองฝ่ายกำลังหารือกันอย่างแข็งขันและมุ่งมั่นที่จะค้นหาแนวทางแก้ไขที่มีประสิทธิภาพโดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ ด้วยแรงหนุนจากการขายน้ำมันและก๊าซของรัสเซีย และการซื้อชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์อุตสาหกรรม และรถยนต์ การค้าของมอสโกกับจีนแตะระดับ 2.4 แสนล้านดอลลาร์ในปี 2020
อย่างไรก็ตาม แม้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจจะเพิ่มมากขึ้น แต่ตามข้อมูลของศุลกากรจีนพบว่า การส่งออกของจีนไปยังรัสเซียก็ลดลง 13% ในเดือนเมษายนจากปีก่อนหน้า ซึ่งเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันที่ลดลง สื่อรัสเซียรายงานว่า ธนาคารจีนในช่วงปลายเดือนมีนาคมเริ่มบล็อกการชำระเงินจากบริษัทในรัสเซียที่ซื้อส่วนประกอบสำหรับการประกอบอิเล็กทรอนิกส์
หวังอี้เว่ย ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยเหรินหมิน ในกรุงปักกิ่ง ชี้ว่า กลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้วที่ประมุขแห่งรัฐทั้งสองจะต้องมาเยี่ยมเยือนกันในการเยือนต่างประเทศครั้งแรกของวาระการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีใหม่ของตน กระนั้นจีนก็ไม่ต้องการถูกมองว่าเป็นเครื่องมือหรือมีความเกี่ยวข้องกับเครื่องจักรสงครามของรัสเซีย เนื่องจากเป้าหมายของจีนคือ การสร้างโลกที่มีหลายขั้วร่วมกับพันธมิตร รวมถึงประเทศต่างๆ ในยุโรป
อ้างอิง: