ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ได้ฤกษ์เปิดสะพานแห่งใหม่ที่เชื่อมระหว่างรัสเซียกับคาบสมุทรไครเมีย ความยาว 19 กิโลเมตร นับเป็นแลนด์มาร์กสำคัญที่มีนัยทางภูมิรัฐศาสตร์ หลังรัสเซียผนวกไครเมียจากยูเครนเมื่อปี 2014 ซึ่งทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับยูเครนและชาติพันธมิตรนาโตเกิดรอยร้าวอย่างหนัก
สะพานแห่งนี้ใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น 3,700 ล้านเหรียญสหรัฐ และเป็นเส้นทางสัญจรทางบกหนึ่งเดียวที่เชื่อมต่อโดยตรงระหว่างรัสเซียกับคาบสมุทรไครเมีย คาดว่าจะสามารถรองรับการเดินทางของรถยนต์หลายล้านคัน รวมถึงรองรับการขนส่งสินค้าได้หลายล้านตันต่อปี
ก่อนหน้านี้ผู้ที่เดินทางจากรัสเซียไปยังดินแดนไครเมียจะต้องใช้เรือเฟอร์รีข้ามช่องแคบเคิร์ช หรือเดินทางตัดผ่านยูเครน แต่หลังจากนี้พวกเขาจะสามารถเดินทางได้สะดวกสบายมากขึ้น
ในพิธีเปิดสะพานซึ่งจัดขึ้นเมื่อวานนี้ (15 พ.ค.) ปูตินได้ประเดิมขับรถบรรทุกข้ามสะพานเป็นคันแรก โดยเขากล่าวต่อคนงานก่อสร้างว่า “ในอดีตที่ผ่านมา แม้แต่ในยุคของพระเจ้าซาร์ ผู้คนต่างวาดฝันว่าจะสร้างสะพานแห่งนี้ขึ้น และความคิดนี้ก็กลับมาอีกครั้งในช่วงทศวรรษ 1930-1950 แต่ในที่สุดปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้นจนได้ด้วยหยาดเหงื่อแรงกายและความสามารถของพวกคุณ”
ขณะที่สื่อทางการของรัสเซียระบุว่าสะพานแห่งนี้เป็นสิ่งปลูกสร้างแห่งศตวรรษ เนื่องจากสหภาพโซเวียตและนาซีเยอรมนีเคยคิดที่จะสร้างสะพานข้ามช่องแคบเคิร์ช แต่โครงการก็พับไป ส่วนการเดินทางด้วยเรือเฟอร์รีก็มักติดอุปสรรคเรื่องสภาพอากาศ ทำให้มีการระงับบริการอยู่บ่อยครั้ง
ทั้งนี้ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับยูเครนเกิดความตึงเครียดอย่างหนัก นอกจากปมไครเมียแล้ว ยูเครนยังเผชิญศึกภายในกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีรัสเซียคอยหนุนหลังอยู่
เมื่อปี 2016 สหรัฐฯ ได้ประกาศมาตรการคว่ำบาตรบริษัทรัสเซียหลายแห่งที่มีส่วนร่วมในการสร้างสะพานเชื่อมรัสเซียกับไครเมีย ขณะที่ยูเครนระบุว่าการสร้างสะพานแห่งนี้สะท้อนความไม่เคารพกฎหมายระหว่างประเทศอย่างโจ่งแจ้ง
อ้างอิง: