ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย กล่าวว่า แผนสันติภาพ 12 ประการที่จีนเสนอขึ้นนั้นอาจใช้หลักการพื้นฐานในการยุติสงครามได้จริง แต่การจะเดินหน้าแผนดังกล่าวนั้นจะทำได้ก็ต่อเมื่อชาติตะวันตกและยูเครนมีความพร้อมเสียก่อน
ในการแถลงข่าวร่วมหลังเสร็จสิ้นการหารือกับสีจิ้นผิง ปูตินกล่าวว่า “บทบัญญัติหลายข้อในแผนสันติภาพของจีนสามารถใช้เป็นหลักการขั้นพื้นฐานในการยุติความขัดแย้งในยูเครน เมื่อใดก็ตามที่ตะวันตกและยูเครนพร้อมสำหรับเรื่องนี้” พร้อมเสริมว่า แต่จนถึงปัจจุบัน รัสเซียยังมองไม่เห็น ‘ความพร้อม’ จากทั้งสองฝ่าย
ในการหารือระหว่างปูตินและประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน ซึ่งจัดขึ้นเป็นวันที่สองเมื่อวานนี้ (21 มีนาคม) ผู้นำจีนและรัสเซียได้หารือเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสองชาติ รวมถึงประเด็นความขัดแย้งในยูเครนด้วย โดยแผนสันติภาพ 12 ประการที่จีนประกาศออกมาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์นั้น ได้เรียกร้องให้ฝั่งของรัสเซียและยูเครนเปิดการเจรจาสันติภาพ และเคารพอธิปไตยของกันและกัน แต่ไม่ได้มีข้อเรียกร้องให้รัสเซียถอนทหารออกจากยูเครน
อย่างไรก็ตาม ฝั่งของยูเครนยืนยันว่ารัสเซียจะต้องถอนทหารออกจากดินแดนของตนก่อน จึงจะยอมเปิดการเจรจาใดๆ ด้วย ขณะฝั่งของรัสเซียก็ไม่มีทีท่าว่าจะยอมถอย โดย แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา กล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (20 มีนาคม) ว่า การเรียกร้องให้หยุดยิงโดยที่รัสเซียไม่ได้ถอนทหารออกจากพื้นที่นั้น ถือเป็นแนวทางที่สนับสนุนให้รัสเซียปราบปรามยูเครนต่อไป
ด้านสีจิ้นผิงกล่าวว่า รัฐบาลของเขาสนับสนุนสันติภาพและการเปิดการเจรจาระหว่างกัน พร้อมย้ำว่าจีนมีจุดยืนที่เป็นกลางต่อความขัดแย้งในยูเครน ซึ่งก็เป็นไปตามจุดมุ่งหมายของสีจิ้นผิงที่ต้องการสร้างภาพลักษณ์ของผู้ส่งออกสันติภาพให้กับโลกใบนี้
นอกเหนือจากประเด็นยูเครนแล้ว ทั้งสองผู้นำยังได้หารือกันถึงด้านการค้า พลังงาน และความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างสองชาติ โดยปูตินกล่าวว่า จีนเป็นคู่ค้าต่างชาติชั้นนำของรัสเซีย พร้อมให้คำมั่นว่าจะรักษาระดับและผลักดันการค้าระหว่างกันให้สูงกว่ายอดของปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกัน ทั้งสองชาติยังได้ร่วมกันลงนามในเอกสารสองฉบับ โดยฉบับแรกเป็นแผนความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และอีกฉบับเป็นแผนกระชับความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัสเซียและจีน
นอกจากนี้ทั้งคู่ยังได้บรรลุข้อตกลงเกี่ยวกับแผนท่อส่งก๊าซในไซบีเรีย เพื่อส่งก๊าซของรัสเซียไปยังจีนผ่านมองโกเลีย และเห็นพ้องกันว่าสงครามนิวเคลียร์จะต้องไม่เกิดขึ้น รวมถึงมีการหารือเกี่ยวกับประเด็นเรื่องข้อตกลง AUKUS ฉบับใหม่ของออสเตรเลีย สหรัฐฯ และอังกฤษ และประเด็นสุดท้ายคือการหารือเกี่ยวกับประเด็นที่ว่าองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO ได้เข้ามามีอิทธิพลในเอเชียมากขึ้น
ภาพ: Contributor / Getty Images
อ้างอิง: