×

ปูตินกับอนาคตรัสเซียหลังเลือกตั้ง

17.03.2018
  • LOADING...

ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซียกำลังจะมีขึ้นในวันอาทิตย์ (18 มีนาคม) ทว่าเวลานี้หลายฝ่ายกลับมองข้ามช็อตไปที่นโยบายบริหารประเทศสมัยที่ 4 ของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน มากกว่า เพราะการเลือกตั้งหนนี้ถูกมองเป็นเพียงการลงประชามติสะท้อนความนิยมในตัวปูตินเท่านั้น เนื่องจากคาดว่าเขาจะได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลาย

 

แต่ใช่ว่าหนทางของปูตินจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะแม้เขาจะชนะการเลือกตั้งได้อย่างไม่ยากเย็น แต่ก็มีความท้าทายรออยู่ข้างหน้ามากมาย โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนการเติบโตอย่างยั่งยืน ตลอดจนอุปสรรคในการนำพารัสเซียผงาดเป็นประเทศมหาอำนาจทัดเทียมกับสหรัฐฯ ในขณะที่นานาชาติยึดติดกับภาพลักษณ์ที่รัสเซียเป็นภัยคุกคาม มากกว่ามหาอำนาจที่รักสันติ   

 

ยิ่งรัสเซียโดดเดี่ยว ปูตินยิ่งเข้มแข็ง

บุรุษเหล็กแห่งทำเนียบเครมลินและอดีตสายลับ KGB เผชิญกระแสต่อต้านและกดดันจากต่างชาติตลอดช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา สืบเนื่องจากกรณีที่อังกฤษกล่าวหาว่า รัสเซียอยู่เบื้องหลังการใช้สารพิษทำลายประสาท Nerve Agent ลอบสังหารเซอร์เกย์ สกรีปอล อดีตจารชนสองหน้าชาวรัสเซียที่แปรพักตร์มาทำงานให้หน่วยสืบราชการลับ MI6 ของอังกฤษ ปมขัดแย้งดังกล่าวทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ถึงกับออกโรงปกป้องพันธมิตรอังกฤษ และร่วมออกแถลงการณ์กับฝรั่งเศสและเยอรมนีชนิดที่เราไม่ค่อยเห็นนัก เพื่อประณามรัสเซียที่พยายามโจมตีเป้าหมายด้วยอาวุธเคมี ซึ่งฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศและละเมิดอธิปไตยของอังกฤษ

 

ความสัมพันธ์กับอังกฤษเกิดความร้าวฉานขึ้นไปอีก เมื่อนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ประกาศขับทูตรัสเซีย 23 คนกลับประเทศเพื่อตอบโต้ หลังจากที่มอสโกไม่ยอมชี้แจงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ ในช่วงหลังก็มีความระหองระแหง หลังจากที่รัฐบาลวอชิงตัน ได้ประกาศมาตรการคว่ำบาตรมอสโกรอบใหม่เพื่อลงดาบ 19 บุคคล และ 5 หน่วยงานของรัสเซีย รวมถึง Internet Research Agency ที่พยายามแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2016 ทั้งการโพสต์ข้อความยุแยงให้เกิดความแตกแยกทางการเมืองบนโซเชียลมีเดีย และการโจมตีทางไซเบอร์อย่างอุกอาจ

 

แต่บริบทการเมืองระหว่างประเทศเช่นนี้กลับสร้างโอกาสให้ปูตินได้แสดงภาวะผู้นำอย่างเต็มที่ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง หลังจากที่โดนัลด์ ทรัมป์ และสีจิ้นผิงชิงพื้นที่สื่อส่วนใหญ่ไปในช่วงหลัง แต่เวลานี้สายตาทุกคู่กำลังจับจ้องไปที่ปูติน โดยในระหว่างหาเสียงและแถลงนโยบายประจำปีต่อรัฐสภารัสเซียเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ปูตินสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนว่า รัสเซียจะกลับมาทวงความยิ่งใหญ่ในฐานะชาติมหาอำนาจที่เข้มแข็งได้อีกครั้งหากมีปูตินเป็นผู้นำ

 

โพลสำรวจล่าสุดจากหลายสำนักแสดงให้เห็นในทิศทางเดียวกันว่าปูตินมีคะแนนนิยมนำโด่งที่ 67-71% เพิ่มขึ้นจาก 53-68% ในเดือนธันวาคม ทิ้งห่าง พาเวล กรูดินิน ผู้สมัครจากพรรคคอมมิวนิสต์ที่มีคะแนนเพียง 6-8% ชนิดไม่เห็นฝุ่น ขณะที่วลาดิเมียร์ ซิรินอฟสกี นักการเมืองแนวประชานิยมฝ่ายขวา ตามมาเป็นอันดับ 3 ที่ 5-7%

 

การเลือกตั้งที่เปรียบเหมือนประชามติวัดความนิยม

ถึงแม้ตัวเลือกผู้สมัครคนอื่นๆ อีก 7 คนจะถูกมองเป็นไม้ประดับในการเลือกตั้งรัสเซียครั้งนี้ แต่เราไปทำความรู้จักกันสักนิดว่ามีใครบ้าง แต่ละคนมีดีอะไรที่พอจะแบ่งคะแนนเสียงจากปูตินได้บ้าง

 

– พาเวล กรูดินิน นักธุรกิจผู้ร่ำรวยจากการขายที่ดินในเขตชานเมืองมอสโกให้กับนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ก่อนหน้านี้เขาเคยได้รับเลือกเป็นผู้แทนในสภาดูมา 3 ครั้ง และคราวนี้กรูดินินลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีภายใต้การสนับสนุนของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหพันธรัฐรัสเซีย (CPRF) โดยชูสโลแกนหาเสียงว่า เขาคือ ‘ประธานาธิบดีที่รัสเซียรอคอย’

 

แต่กรูดินินถูกวิจารณ์อย่างหนักจากกรณีที่ฝากเงินหลายล้านรูเบิลในบัญชีธนาคารในต่างประเทศ

 

สำหรับคะแนนนิยมในตัวกรูดินินจากโพลสำรวจของศูนย์วิจัยความคิดเห็นประชาชนรัสเซีย (Russian Public Opinion Research Center) อยู่ที่ 7.1% ในเดือนมีนาคม

 

– วลาดิเมียร์ ซิรินอฟสกี นักการเมืองชาตินิยมฝ่ายขวาที่สนับสนุนนโยบายประชานิยม และเป็นผู้นำพรรค Liberal Democratic Party of Russia (LDPR) เขาเคยลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดี 6 ครั้งนับตั้งแต่สหภาพโซเวียตล่มสลาย แต่ครั้งนี้เขามาในสโลแกน ‘ทรงอำนาจ ไว้ใจ ก้าวไปข้างหน้า’

 

ก่อนหน้านี้ซิรินอฟสกีเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อเยอรมนีว่า เขามองว่าการที่นานาชาติคว่ำบาตรรัสเซียถือเป็นเรื่องดี เพราะจะช่วยให้เศรษฐกิจในประเทศดีขึ้น

 

คะแนนนิยมล่าสุดในตัวซิรินอฟสกีโดยโพลสำนักเดียวกันอยู่ที่ 5.6%

 

– ซอร์เกย์ บาบูริน หัวหน้าพรรค All-People’s Union ซึ่งเป็นพรรคชาตินิยมขวาจัด เคยเป็นทหารรับใช้ชาติในสงครามอัฟกานิสถานในช่วงต้นทศวรรษ 1980 และในปี 1991 เขาเคยโหวตคัดค้านการแยกตัวของรัฐต่างๆ ในสหภาพโซเวียต ซึ่งในขณะนั้นเขาดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาสูงสุด

 

นับตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา เขาเป็นสมาชิกองค์กรชาตินิยมหลายกลุ่ม และเคยร่วมเดินขบวนประท้วงร่วมกับกลุ่มอุดมการณ์ขวาจัดด้วย

 

สำหรับบทบาททางการเมืองอื่นๆ นั้น บาบูรินเคยได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาดูมา 3 ครั้ง และเคยเรียกร้องให้รัสเซียและเบลารุสรวมชาติกันอีกครั้ง

 

ส่วนนโยบายของเขาในการเลือกตั้งครั้งนี้คือการขยายบทบาทของรัสเซียในฐานะมหาอำนาจทางภูมิรัฐศาสตร์ในยูเรเชีย ล่าสุดคะแนนนิยมของบาบูรินอยู่ที่ 0.2%

 

– คเซเนีย ซอบชัค เป็นพิธีกรและผู้ประกาศข่าวชื่อดังของรัสเซีย ได้รับสมญานามโดยสื่อท้องถิ่นว่า ‘ปารีส ฮิลตัน แห่งรัสเซีย’ เธอเป็นบุตรสาวของอนาโตลี ซอบชัค อดีตนายกเทศมนตรีนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก ซึ่งเคยทำงานร่วมกับปูตินมาก่อน

 

ระหว่างปี 2011-2012 ซอบชัคเข้าร่วมประท้วงต่อต้านรัฐบาลในกรุงมอสโก โดยเรียกร้องให้มีการวางแนวทางของอำนาจ ไม่ใช่การต่อสู้เพื่ออำนาจ

 

สำหรับคะแนนนิยมในตัวเธอ ล่าสุดอยู่ที่ 1.1% ในเดือนมีนาคม

 

– กริกอรี ยาฟลินสกี นักเศรษฐศาสตร์และหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งพรรค Yabloko ซึ่งเป็นพรรคแนวเสรีนิยม ส่วนการเลือกตั้งครั้งนี้เขาชูสโลแกน ‘เชื่อในอนาคต เชื่อในตัวคุณ’

 

ยาฟลินสกี เคยลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ในปี 1996 และ 2000 ส่วนปี 2012 เขาถูกตัดสิทธิ์ลงสมัครเนื่องจากขาดคุณสมบัติ

 

ยาฟลินสกีเคยถูกคนในพรรคกดดันให้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค Yabloko หลังจากที่เขานัดพบวลาดิเมียร์ ปูติน เป็นการส่วนตัวเมื่อปี 2008

 

สำหรับนโยบายโดดเด่นของเขาในการเลือกตั้งครั้งนี้คือการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างรัสเซียกับยุโรป และสนับสนุนการเปิดตลาดเสรี คะแนนนิยมล่าสุดของยาฟลินสกีอยู่ที่ 1%

 

– บอริส ติตอฟ นักธุรกิจและหัวหน้าพรรค Growth Party ซึ่งชูนโยบายขจัดความยากจนให้กับประชาชน

 

ในช่วงต้นทศวรรษ 1990 ติตอฟทำงานให้กับบริษัทของเกนนาดี ทิมเชนโก หนึ่งในบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในรัสเซียเวลานี้ และเป็นคนที่สนิทสนมกับปูติน โดยในช่วงทศวรรษ 1990 ติตอฟเริ่มสร้างเนื้อสร้างตัวกับธุรกิจน้ำมันและอุตสาหกรรมเคมี

 

ส่วนคะแนนนิยมในตัวติตอฟอยู่ที่เพียง 0.3% ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง

 

– แม็กซิม ซูรายคิน เป็นหัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์แห่งรัสเซียผู้มีโจเซฟ สตาลิน เป็นไอดอล เขาต้องการปลุกอุดมการณ์คอมมิวนิสต์แบบดั้งเดิม และสถาปนาสหภาพโซเวียตขึ้นมาอีกครั้ง

 

ในวัย 18 ปี ซูรายคินเคยเข้าร่วมเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งสหพันธรัฐรัสเซีย (CPRF) แต่ลาออกจากพรรคหลังอยู่ได้เพียง 8 เดือน เนื่องจากเหตุผลด้านอุดมการณ์

 

สำหรับนโยบายเด่นๆ ของเขาคือการลดช่องว่างทางรายได้ระหว่างชนชั้นแรงงานกับกลุ่มผู้บริหารจัดการ ขณะที่คะแนนนิยมล่าสุดของซูรายคินอยู่ที่ 0.3%

 

ส่องนโยบายเด่นปูติน

เมื่อมองจากโพลสำรวจล่าสุดจะเห็นว่าปูตินแทบจะนอนมาในตำแหน่งประธานาธิบดี ส่วนตัวเลือกคนอื่นๆ โดยมากจะเคยลงสมัครรับเลือกตั้งประธานาธิบดีมาแล้วหลายครั้งแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ขณะที่ผู้สมัครหน้าใหม่ก็ยังไม่โดดเด่นมากนัก ดังนั้นปูตินจึงดูเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในสายตาของชาวรัสเซียขณะนี้ เพราะการเลือกปูตินจะช่วยลดปัญหาความไม่แน่นอนในการดำเนินนโยบายต่างๆ ในช่วงเวลาที่รัสเซียกำลังไปได้สวยทั้งในด้านเศรษฐกิจที่ขยายตัวสดใส และการเมืองที่มีเสถียรภาพ แน่นอนว่าชาวรัสเซียเองคงไม่ต้องการให้ประเทศชาติเดินสะดุดในตอนนี้

 

ในด้านนโยบายเศรษฐกิจ ปูตินตั้งเป้าส่งเสริมการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมภายในประเทศ โดยเรียกร้องให้ธนาคารกลางรัสเซียกำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำลงเพื่อสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจของเขาในระยะยาว นอกจากนี้เขายังส่งสัญญาณที่จะผลักดันการปฏิรูประบบภาษี เพื่อแก้ปัญหาคนหลบเลี่ยงภาษี พร้อมผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรกับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดย่อม

 

ขณะเดียวกันเขายังมุ่งส่งเสริมการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเพื่อลดสัดส่วนการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจโดยภาครัฐอย่างค่อยเป็นค่อยไป และให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้นแทน เพื่อสนับสนุนการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

 

ในด้านการเมือง ปูตินประกาศชัดเจนในระหว่างกล่าวปราศรัยต่อรัฐสภาสหพันธรัฐรัสเซียครั้งล่าสุดว่า นโยบายของเขาจะเน้นหนักไปที่มิติด้านภูมิรัฐศาสตร์ เพื่อฟื้นฟูสถานภาพความเป็นชาติมหาอำนาจของรัสเซียกลับมาอีกครั้ง แต่ท่าทีดังกล่าวทำให้เกิดกระแสวิตกว่าจะนำไปสู่การกระทบกระทั่งกันมากขึ้นระหว่างรัสเซียกับประเทศตะวันตก โดยเฉพาะชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (NATO)

 

โจทย์ท้าทายหากปูตินนั่งเก้าอี้ประมุขเครมลินสมัย 4

หากปูตินชนะการเลือกตั้งได้เป็นประธานาธิบดีรัสเซียสมัยที่ 4 ภาระหนักอึ้งที่รออยู่ตรงหน้าเขาคือ การทำตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชนในช่วงหาเสียง ทั้งการปรับขึ้นฐานค่าแรงขั้นต่ำ และเพิ่มสวัสดิการสังคมต่างๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น แต่ก็มีคนเคลือบแคลงว่าเขาจะทำได้จริงหรือไม่ เพราะนโยบายหลักของเขาจะโฟกัสไปที่นโยบายต่างประเทศมากกว่า

 

นอกจากนี้ปูตินยังต้องปวดหัวกับการจัดสรรงบประมาณที่มีค่อนข้างจำกัดในการสนับสนุนระบบสาธารณสุขและการศึกษาในประเทศเพิ่มเติม ส่วนในด้านเศรษฐกิจนั้น ปูตินให้คำมั่นว่าจะผลักดันนโยบายที่ช่วยส่งเสริมตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศต่อหัว (GDP per capita) ให้ขยายตัว 1.5% ภายในปี 2025 แต่การจะไปถึงเป้าหมายดังกล่าวได้ รัสเซียจะต้องรักษาอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่ระดับ 7% ต่อปี ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ในขณะที่มีการคาดการณ์ว่า GDP ของรัสเซียจะขยายตัวเพียง 3.3% ในปี 2018

 

ส่วนจุดยืนทางภูมิรัฐศาสตร์ของรัสเซียที่มีต่อประเด็นปัญหาขัดแย้งระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการแทรกแซงสงครามกลางเมืองในซีเรีย การหนุนหลังอิหร่าน ตลอดจนท่าทีที่แข็งกร้าวในการผนวกดินแดนไครเมียจากยูเครน จะยิ่งทำให้รัสเซียโดดเดี่ยวมากขึ้นบนเวทีโลก ขณะเดียวกันความเสี่ยงที่จะถูกนานาชาติคว่ำบาตรก็มีเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของรัสเซียอย่างหลีกหนีไม่พ้น ดังนั้นจึงเป็นอีกโจทย์ใหญ่ที่ปูตินจะต้องตามแก้ต่อไป

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X