×

ชัยชนะสมัยที่ 5 ของปูติน กับอนาคตสงครามรัสเซีย-ยูเครน…หรือ ‘จุดเปลี่ยน’ ใกล้จะมาถึง?

19.03.2024
  • LOADING...
ปูติน

วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซียชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 5 ได้ครองอำนาจนำในเกมการเมืองรัสเซียต่อไปอีกอย่างน้อย 6 ปี จนถึงปี 2030 หลังผลการเลือกตั้งชี้ว่าปูตินได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนไปมากกว่า 87% ชนะผู้สมัครคนอื่นๆ แบบขาดลอย 

 

นัยสำคัญหลังเลือกตั้ง 

 

การเลือกตั้งผู้นำรัสเซียในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา เป็นการเลือกตั้งที่ไม่ได้น่าลุ้นผลอะไร แต่มักจะเป็น ‘เครื่องมือในการสร้างความชอบธรรม’ ให้กับตัวผู้นำ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าประธานาธิบดีรัสเซียเป็นตัวแทนของประชาชนชาวรัสเซีย และความคิดเห็นของพวกเขามีความสำคัญตามหลักประชาธิปไตย

 

การเลือกตั้งครั้งนี้ ปูตินไม่เพียงแต่ต้องชนะเท่านั้น เขายังต้องการเห็นชาวรัสเซียออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง และต้องการเสียงสนับสนุนปูตินมากกว่าการเลือกตั้งผู้นำครั้งก่อนๆ เพราะตัวเลขสถิติเหล่านี้จะบ่งชี้ว่าตัวเขาได้รับแรงสนับสนุนมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะในช่วงที่รัสเซียอยู่ในภาวะสงครามกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างยูเครนมานานกว่า 2 ปีแล้ว

 

ผลการเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปในแนวทางที่รัฐบาลรัสเซียอยากเห็น โดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งราว 114 ล้านคนทั่วรัสเซีย รวมถึงดินแดนไครเมียและบางส่วนของดอนบาสที่ยึดครองมาจากยูเครน ออกมาใช้สิทธิมากกว่า 77% ซึ่งสูงกว่าการเลือกตั้งเมื่อ 6 ปีก่อนที่มีผู้ออกมาใช้สิทธิเพียง 67% เท่านั้น 

 

ขณะที่เสียงสนับสนุนปูตินก็เพิ่มสูงขึ้นกว่า 10% เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งปี 2018 แม้มีแนวโน้มว่าปูตินจะชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ตั้งแต่ยังไม่ได้เลือกก็ตาม 

 

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข ผู้เชี่ยวชาญด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ยุทธศาสตร์ทหาร และความมั่นคง มองว่าการเลือกตั้งรัสเซียรอบนี้เป็นการกระชับอำนาจที่แข็งแรงที่สุดครั้งหนึ่งของปูติน ทั้งยังสะท้อนถึง ‘กระแสชาตินิยมรัสเซีย’ ซึ่งยึดมั่นในความเป็นจักรวรรดินิยมรัสเซีย และต่อต้านตะวันตกแบบสุดโต่ง กระแสนี้ช่วยอุ้มชูปูตินและพาเขาชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง

 

การเลือกตั้งครั้งนี้ถูกตอกย้ำด้วยเงื่อนไขของสงคราม เป็นการยืนยันว่ารัสเซียยังต้องทำสงครามต่อไป เพราะถ้าปูตินไม่ชนะเลือกตั้งเท่ากับว่านโยบายทำสงครามกับยูเครนคือ ‘ความผิดพลาด’

 

ปูตินกุมความได้เปรียบในเกมการเลือกตั้งรัสเซียเสมอมา ทั้งควบคุมกลไกการเลือกตั้งและกล่องบัตรเลือกตั้ง กลั่นแกล้งผู้ออกเสียงที่ปฏิเสธแนวทางของปูติน จับกุมและสังหารผู้นำฝ่ายตรงข้าม ตลอดจนควบคุมกลไกรัฐและสื่อ รวมถึงมีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มทุนใหญ่ในรัสเซีย ความได้เปรียบเหล่านี้ทำให้โอกาสที่ผู้สมัครคนอื่นจะชนะการเลือกตั้งเป็นไปไม่ได้เลย

 

สอดคล้องกับ พงศ์พล ชื่นเจริญ นักเรียนทุนรัฐบาลรัสเซีย ที่เผยว่า บัตรเลือกตั้งรัสเซียครั้งนี้ไม่มีช่อง ‘ไม่ประสงค์ลงคะแนน’ มีแค่ต้องลงคะแนนกับทำบัตรเสียเท่านั้น 

 

อนาคตสงครามรัสเซีย-ยูเครน

 

ขอบเขตความเสียหายจากสงครามยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ต่างฝ่ายต่างพยายามหากำลังสนับสนุนเพิ่มเติม โดยเฉพาะทางอาวุธยุทโธปกรณ์ในการรบที่ร่อยหรอลงอย่างมากตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา 

 

BBC News รัสเซียคาดการณ์ล่าสุดว่า มีกองกำลังทหารรัสเซียเสียชีวิตในสงครามครั้งนี้แล้วราว 115,000 คน และบาดเจ็บอีกราว 214,000 คน ขณะที่ตัวเลขประเมินโดยกระทรวงกลาโหมรัสเซียระบุว่า กองกำลังยูเครนเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บรวมกว่า 444,000 คน

 

ดร.สุรชาติเชื่อว่า ขณะนี้ปูตินไม่สามารถที่จะถอยออกจากปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนได้ ขึ้นอยู่ที่ว่าปูตินจะนิยาม ‘ชัยชนะ’ ของสงครามครั้งนี้อย่างไร หากยูเครนยังคงได้รับการช่วยเหลือจากพันธมิตรยุโรปและสหรัฐอเมริกาต่อไป ความหวังที่จะยึดครองยูเครนทั้งหมด ‘อาจไม่เป็นจริง’

 

ชัยชนะในการเลือกตั้งรอบนี้จึงเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับนโยบายทำสงครามในยูเครน ส่วนสงครามจะขยายตัวหรือพลิกโฉมไปอย่างไรในช่วงการดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีรัสเซียสมัยที่ 5 ของปูติน ก็ยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตามดู

 

ขณะที่พงศ์พลมองว่า การที่ปูตินยังคงกุมอำนาจนำในเกมการเมืองรัสเซียต่อไป แนวโน้มของสงครามครั้งนี้จะยังไม่ยุติลงในเร็ววัน ตราบใดที่ยูเครนยังไม่ยอมรับเงื่อนไขของรัสเซีย สงครามก็จะยังคงดำเนินต่อไป

 

ชัยชนะของทรัมป์กับ ‘จุดเปลี่ยน’ ของสงคราม

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเลือกตั้งสหรัฐฯ มีความสำคัญอย่างมากต่อทิศทางการเมืองโลก ผลโพลหลายสำนักคาดการณ์ว่า โดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกันมีโอกาสสูงมากที่จะกลับมาคว้าชัยในการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐฯ อีกครั้งในช่วงปลายปีนี้ 

 

ดร.สุรชาติชี้ว่า ทรัมป์มีแนวโน้มที่จะกลับมาชนะการเลือกตั้ง ขณะที่ วิกเตอร์ ออร์บาน ผู้นำฮังการีก็เผยว่า ทรัมป์จะไม่ให้เงินช่วยเหลือแก่ยูเครนสักเพนนีเดียว ยิ่งทำให้หลายฝ่ายกังวลเกี่ยวกับอนาคตของสงครามยูเครนที่อาจต้องสิ้นสุดลงด้วยความพ่ายแพ้ของยูเครน 

 

แต่ในขณะเดียวกัน สหภาพยุโรปก็กำลังเริ่มพูดคุยเกี่ยวกับนโยบายด้านความมั่นคงที่เป็นอิสระและไม่ขึ้นอยู่กับสหรัฐฯ มากยิ่งขึ้น แนวโน้มที่ทรัมป์จะชนะการเลือกตั้งและอาจโดดเดี่ยวตัวเองจากสงครามและความขัดแย้งในประชาคมโลก เป็น ‘ตัวกระตุ้น’ ให้ยุโรปเริ่มวางแผนด้านการทหารอย่างจริงจัง เพื่อปกป้องบรรดาพันธมิตรในยุโรปและรับมือกับสงครามยูเครนที่ใช้ทรัพยากรด้านการรบจำนวนมหาศาล

 

ถ้าทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ช่วงปลายปีนี้ และยังคงเดินหน้าตามแนวทาง ‘Make America Great Again’ พงศ์พลเชื่อว่าสหรัฐฯ จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับสงครามและความขัดแย้งนอกประเทศน้อยลง สอดคล้องกับเสียงมหาชนจำนวนไม่น้อยที่ตั้งคำถามว่า สหรัฐฯ จะนำเงินภาษีของคนอเมริกันไปให้คนอื่นรบกันทำไม ซึ่งจุดนี้มีส่วนทำให้ไบเดนคะแนนนิยมลดลงอย่างมากก่อนการเลือกตั้งใหญ่จะมาถึง

 

พงศ์พลยังคาดการณ์อีกว่า ถ้าสงครามดำเนินไปถึงจุดที่ทรัมป์ยุติการช่วยเหลือ พันธมิตรยุโรปรวมถึง NATO ไม่ฟังก์ชัน จนไม่สามารถช่วยให้ยูเครนอยู่รอดปลอดภัยได้แล้ว ท้ายที่สุดยูเครนก็มีแนวโน้มที่จะต้องยอมรับเงื่อนไขที่ตนเองเสียเปรียบเพื่อยุติสงคราม

 

รัสเซีย-จีน พันธมิตรต้านตะวันตก

 

เคยมีคนกล่าวว่า “การชนะเลือกตั้งและนั่งเก้าอี้ประธานาธิบดีรัสเซียต่อไปอีกอย่างน้อย 6 ปีของปูติน อาจทำให้หลายประเทศเป็นกังวล แต่ไม่ใช่กับจีน” เพราะปูตินและสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และต่างยกย่องกันในฐานะ ‘มิตรแท้’ แม้จีนจะเผชิญแรงกดดันจากประชาคมโลกให้รักษาระยะห่างกับรัสเซียก็ตาม

 

ดร.สุรชาติวิเคราะห์ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียและจีนวางอยู่บน 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ บทบาทสหรัฐฯ ในเวทีโลก ปัญหาไต้หวันและปัญหายูเครน ซึ่งปัจจัยทั้งหมดนี้ยังผูกโยงไปถึงการขยายอิทธิของทั้งรัสเซียและจีนในแอฟริกา รวมถึงโจทย์ที่ใหญ่ที่สุดอย่าง ‘การแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์’ หรือ ‘โจทย์สงครามเย็นในยุคปัจจุบัน’

 

ชัยชนะของปูตินครั้งนี้อาจทำให้ผู้นำจีนรวมถึงเกาหลีเหนือและอิหร่าน (ซึ่ง ดร.สุรชาติเรียกกลุ่มนี้ว่า The Quad) มั่นใจว่าฟากฝั่งที่พวกเขายืนอยู่ในมิติของการต่อต้านตะวันตกจะยังคงเข้มแข็งต่อไป โดยประชาคมโลกจะได้เห็นบทบาทของกลุ่มนี้มากยิ่งขึ้น

 

ตลอด 24 ปีที่ผ่านมา ปูตินมีอำนาจนำทางการเมือง มีบารมีและมีอิทธิพลต่อระบอบการปกครอง สิ่งเหล่านี้ล้วนเอื้อให้เกิด ‘ลัทธิบูชาตัวผู้นำ’ อย่างที่เคยเกิดขึ้นกับ เบนิโต มุสโสลินี ผู้นำเผด็จการอิตาลี หรือ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้นำนาซีเยอรมนี รวมถึงผู้นำจีนในปัจจุบัน

 

สุดท้ายแล้วสงครามยูเครนจะกลายเป็นเครื่องมือเพื่อสร้างลัทธิชาตินิยมรัสเซีย และปูตินจะอาศัยจุดนี้ในการระดมการสนับสนุนเพื่อพิสูจน์ว่าแนวทางของตนนั้นถูกต้อง เพราะสงครามเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดชิ้นหนึ่งสำหรับ ‘รัฐเผด็จการ’ 

 

ส่วนสิ่งที่น่ากังวลในปี 2025 คือ สมการของทรัมป์จะอยู่ตรงไหน ทรัมป์จะเข้ามาเป็นจุดเปลี่ยนหรือไม่ อนาคตของสงครามและความขัดแย้งในจุดร้อนต่างๆ จะเป็นอย่างไร จะเกิดอะไรขึ้นหากทรัมป์นำพาสหรัฐฯ กลับไปสู่ภาวะโดดเดี่ยว ทิศทางคำตอบของคำถามเหล่านี้อาจชัดเจนขึ้น หลังพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนมกราคม 2025

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X