×

เริ่มเดินเครื่องหัวเจาะอุโมงค์รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ พร้อมให้บริการปี 2571

โดย THE STANDARD TEAM
26.04.2024
  • LOADING...
รถไฟฟ้าสายสีม่วง อุโมงค์

วันนี้ (26 เมษายน) ที่จุดก่อสร้างอุโมงค์ Cut & Cover กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดพิธีเดินเครื่องหัวเจาะอุโมงค์ โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) สัญญาที่ 1 ช่วงเตาปูน-หอสมุดแห่งชาติ และสัญญาที่ 2 ช่วงหอสมุดแห่งชาติ-ผ่านฟ้า  

 

สุริยะกล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) เป็นการขยายเส้นทางและพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพ โดยจะเป็นระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนที่เชื่อมโยงพื้นที่และรองรับการเดินทางเชื่อมต่อของประชาชนในแนวเหนือ-ใต้ จากพื้นที่กรุงเทพมหานครชั้นในไปยังพื้นที่จังหวัดนนทบุรีและสมุทรปราการ 

 

ช่วยเติมเต็มโครงข่ายการเดินทางด้วยระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น สร้างโอกาสอันดีในการพัฒนาพื้นที่ทางเศรษฐกิจให้แก่ชุมชนโดยรอบแนวสายทางโครงการฯ ให้เกิดขึ้นในอนาคต 

 

ปัจจุบันมีความคืบหน้าการก่อสร้างงานโยธากว่า 30% เร็วกว่าแผนร้อยละ 0.06% ซึ่งในวันนี้เป็นการเริ่มเดินเครื่องหัวเจาะอุโมงค์ Cut & Cover ของโครงการฯ สัญญาที่ 1 ช่วงเตาปูน-หอสมุดแห่งชาติ ซึ่งเป็นงานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งรถไฟฟ้า ระยะทางประมาณ 4.8 กิโลเมตร อุโมงค์คู่ลึก 16-35 เมตร มีสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน จำนวน 3 สถานี และสัญญาที่ 2 ช่วงหอสมุดแห่งชาติ-ผ่านฟ้า งานออกแบบและก่อสร้างอุโมงค์ทางวิ่งรถไฟฟ้า ระยะทางประมาณ 2.4 กิโลเมตร อุโมงค์คู่ลึก 23-46 เมตร มีสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน จำนวน 3 สถานี 

 

ทั้งนี้ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) โดยมีระยะทางรวมทั้งสิ้น 23.63 กิโลเมตร จำนวน 17 สถานี เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดิน 14.29 กิโลเมตร สถานีใต้ดิน 10 สถานี และโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ 9.34 กิโลเมตร สถานียกระดับ 7 สถานี มีแนวเส้นทางเริ่มต้นจากสถานีเตาปูน ซึ่งเป็นสถานีร่วมกับรถไฟฟ้ามหานคร สายฉลองรัชธรรม (MRT สายสีม่วง) และรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (MRT สายสีน้ำเงิน) คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2571 

 

สุริยะกล่าวต่อว่า รฟม. ได้คำนึงถึงอัตลักษณ์ของพื้นที่ โดยให้โครงการดำเนินการออกแบบสถาปัตยกรรมสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินให้มีความกลมกลืนกับพื้นที่มรดกทางวัฒนธรรมของชาติ เช่น สถานีรัฐสภา สถานีศรีย่าน สถานีวชิรพยาบาล สถานีหอสมุดแห่งชาติ สถานีบางขุนพรหม สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ฯลฯ เพื่อให้เป็นแลนด์มาร์กที่โดดเด่นและเป็นที่ประทับใจแก่ผู้ใช้บริการต่อไป

 

กระทรวงคมนาคมขับเคลื่อนนโยบายส่งเสริมระบบการขนส่งมวลชนระบบรางของประเทศ โดยให้ความสำคัญต่อเรื่องมาตรฐานการก่อสร้างที่มีความปลอดภัย มีการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมที่ดี โดยเน้นย้ำ รฟม. และผู้รับจ้างในเรื่องการจัดการจราจรระหว่างการก่อสร้างให้เหมาะสม หากมีการปิดเบี่ยงจราจรจะต้องส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้เส้นทางน้อยที่สุด เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางให้แก่ผู้ใช้รถใช้ถนน และต้องดำเนินการตามมาตรการด้านความปลอดภัยในการก่อสร้างอย่างสูงสุด ควบคู่กับการดำเนินงานตามมาตรการลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและฝุ่นละออง PM2.5 ในระหว่างการก่อสร้างอย่างเคร่งครัดต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและความมั่นใจแก่ประชาชนในทุกด้าน

 

 


 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising