รางวัลพูลิตเซอร์ (Pulitzer Prizes) ถือเป็นรางวัลเกียรติยศแก่คนทำงานในวงการสื่อสิ่งพิมพ์ ภาพถ่าย วรรณกรรม และบทประพันธ์เพลงที่มีชื่อเสียงมากที่สุดรางวัลหนึ่งของโลก บริหารจัดการโดยมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในมหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เริ่มมอบรางวัลครั้งแรกในปี 1917 และจัดพิธีมอบรางวัลขึ้นเป็นประจำทุกปี
รางวัลภาพข่าวเล่าเรื่องและภาพข่าวด่วนยอดเยี่ยม เป็น 2 รางวัลจากทั้งหมด 21 รางวัลที่มักจะได้รับความสนใจจากผู้คนทั่วโลก โดยในปีนี้ ‘รางวัลพูลิตเซอร์ สาขาภาพข่าวเล่าเรื่องยอดเยี่ยม’ (Feature Photography) ตกเป็นของทีมช่างภาพของสำนักข่าว Reuters จากภาพถ่ายวิกฤตผู้อพยพชาวโรฮีนจา อันเกิดจากเหตุการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรงที่สุดในรอบปีที่ผ่านมาในเมียนมา
ในขณะที่ ‘รางวัลพูลิตเซอร์ สาขาภาพข่าวด่วนยอดเยี่ยม’ (Breaking News Photography) ได้แก่ ภาพรถยนต์กำลังพุ่งเข้าชนกลุ่มผู้เห็นต่างในเหตุการณ์นรกบนดินที่เมืองชาร์ลอตส์วิลล์ ในรัฐเวอร์จิเนีย เหตุการณ์ความรุนแรงที่สะท้อนถึงปัญหาการเหยียดและต่อต้าน ‘ความเป็นอื่น’ ที่ฝังรากลึกในสังคมอเมริกัน ผลงานของ ไรอัน เคลลี จากสำนักข่าว The Daily Progress
ชมภาพถ่ายที่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ ประจำปี 2018 ทั้งหมดได้ที่นี่ www.pulitzer.org/winners/photography-staff-reuters-0
หญิงอพยพชาวโรฮีนจาคนหนึ่งกำลังหมดแรง หลังเดินทางโดยเรืออพยพข้ามอ่าวเบงกอลนานหลายวัน และขึ้นฝั่งที่เมืองชาปูราดิพในบังกลาเทศได้สำเร็จ
Photo: REUTERS/Danish Siddiqui
ชายชาวโรฮีนจากำลังช่วยกันเร่งฝีพายให้แพที่ทำขึ้นจากถังแกลลอนเคลื่อนเข้าใกล้ชายฝั่งบังกลาเทศเร็วขึ้น หลังจากหนีการกวาดล้างอย่างหนักของกองทัพเมียนมาเมื่อช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา
Photo: REUTERS/Mohammad Ponir Hossain
ภาพสะท้อนในผิวน้ำเหนือนาข้าวของชาวโรฮีนจา ขณะเดินเท้าเข้าสู่เมืองปาลัง คาลี ใกล้กับเมืองค็อกส์บาซาร์ของบังกลาเทศ เพื่อไปรวมตัวกับผู้อพยพชาวโรฮีนจาคนอื่นๆ ที่เดินทางมาถึงก่อนหน้านี้แล้ว
Photo: REUTERS/Hannah McKay
เจ้าหน้าที่รักษาความมั่นคงของบังกลาเทศกำลังเหวี่ยงท่อนไม้เพื่อพยายามควบคุมสถานการณ์ หลังมีชาวโรฮีนจาจำนวนมากเริ่มส่งเสียงดังขณะรอรับการช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ
Photo: REUTERS/Cathal McNaughton
โมฮัมเหม็ด ชาอิบ เด็กชายชาวโรฮีนจา วัย 7 ขวบ ถูกยิงเข้าที่บริเวณหน้าอก ขณะกำลังพยายามข้ามพรมแดนหลบหนีการกวาดล้างของกองทัพเมียนมาเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ภาพนี้ถูกถ่ายขึ้นขณะที่เขาและพ่ออยู่นอกศูนย์พยาบาลใกล้กับเมืองค็อกส์บาซาร์ของบังกลาเทศ
Photo: REUTERS/Adnan Abidi
ร่างของ อับดุล อาซิส หนูน้อยวัยเพียง 11 เดือนที่ถูกห่อหุ้มด้วยผ้าผืนใหญ่ พร้อมถูกปิดบังใบหน้าด้วยใบพลู หลังเสียชีวิตลงด้วยไข้หวัดใหญ่และมีอาการไออย่างรุนแรงภายในค่ายพักพิงผู้อพยพบาลูคาลีของบังกลาเทศ
Photo: REUTERS/Damir Sagolj
การประดิษฐ์ว่าว เป็นเพียงไม่กี่กิจกรรมที่เด็กชาวโรฮีนจาในค่ายผู้อพยพกูตูปาลอมักจะนิยมทำในระหว่างที่รอคอยความช่วยเหลือด้านสิทธิมนุษยชน
Photo: REUTERS/Damir Sagolj
ภาพเหตุความรุนแรงของการเกลียดชังความเป็นอื่นที่เกิดขึ้นในเมืองชาร์ลอตส์วิลล์เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สะท้อนความสุดโต่งของคนผิวขาวที่มีต่อความแตกต่างหลากหลายและฝังรากลึกในประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็น ‘ดินแดนแห่งเสรีภาพ’
Photo: The Daily Progress/Ryan Kelly