พีทีที โกลบอล เคมิคอล คาดว่ารายได้ปีนี้โตจากปีก่อน จากปริมาณขายที่ขยายตัว 15% หลังไม่มีการปิดซ่อมโรงกลั่น บวกกับผลงาน Allnex ดีขึ้น พร้อมประเมินสถานการณ์ธุรกิจดีขึ้นรับอานิสงส์จีนเปิดประเทศ เดินหน้าลงทุน 1 หมื่นล้านบาท เน้นโครงการต่อเนื่องให้แล้วเสร็จ รับ ‘ระมัดระวังการลงทุน’ เตรียมแผนรับมือ Recession
คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือ PTTGC เปิดเผยว่า แนวโน้มรายได้ของบริษัทในปีนี้มีโอกาสเติบโตขึ้นตามปริมาณการขายที่เพิ่ม โดยในปี 2566 บริษัทตั้งเป้าปริมาณการขายเพิ่มขึ้น 15% เนื่องจากธุรกิจโรงกลั่นในปีนี้จะสามารถเดินเครื่องได้เต็มกำลังการผลิต โดยไม่มีการปิดซ่อมบำรุง หลังจากได้มีการปิดซ่อมบำรุงไปเมื่อปี 2565
อีกทั้งในปีนี้บริษัทจะรับรู้ผลการดำเนินงานของบริษัท Allnex Holding GmbH (Allnex) ซึ่งทำธุรกิจกลุ่มผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (High Value Business) เป็นผู้ผลิต Coating Resins และ Crosslinkers ที่ปิดดีลซื้อกิจการมาในช่วงปลายปี 2564 โดยเชื่อว่าผลการดำเนินงาน Allnex ปีนี้จะดีกว่าปีก่อน รวมถึงรับรู้ส่วนแบ่งกำไรของ บมจ.วีนิไทย (VNT) เข้ามาต่อเนื่องด้วยหลังจาก PTTGC ถือหุ้นราว 35%
นอกจากนี้คาดการณ์ว่า ราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีในปีนี้ เช่น กลุ่มอะโรเมติกส์, โพลิเมอร์ มีแนวโน้มที่จะดีกว่าปีก่อน หลังจากจีนเริ่มกลับมาเปิดประเทศ ทำให้มีความต้องการใช้เพิ่มสูงขึ้น โดยความต้องการจากจีนจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้อัตรากำไร (มาร์จิ้น) ในแต่ละผลิตภัณฑ์ปรับตัวดีขึ้นตามไปด้วย
สอดคล้องกับทิศทางอุตสาหกรรมปลายทางที่จะมีความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ฟื้นตัวดีขึ้น ทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์, สิ่งทอ, บรรจุภัณฑ์ และก่อสร้าง เป็นต้น
คงกระพันกล่าวว่า ลงทุนปีนี้จัดสรรไว้ 300 ล้านดอลลาร์ หรือราว 10,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่จะใช้ขยายการลงทุนตามแผนในโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างให้แล้วเสร็จ รวมถึงงบในการซ่อมบำรุงและปรับปรุงประสิทธิภาพ โดยบริษัทมีโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ดังนี้
- โครงการปรับปรุงโรงโอเลฟินส์หน่วยที่ 2 (Olefins 2 Modification Project) ซึ่งจะทำให้โรงโอเลฟินส์หน่วยที่ 2 สามารถใช้โพรเพนเป็นวัตถุดิบในการผลิตได้เพิ่มขึ้น โครงการดังกล่าวสอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ของ GC ในการเพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้วัตถุดิบและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว คาดว่าเริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 1/66
- โครงการขยายกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกโพลิโพรพิลีนสายการผลิตที่ 4 (HMC PP Line 4) ของบริษัท HMC Polymers กำลังการผลิต 250,000 ตันต่อปี เดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์เมื่อเดือนธันวาคม 2565
- โครงการก่อสร้างโรงงานไบโอพลาสติก PLA แห่งที่ 2 กำลังการผลิต 75,000 ตันต่อปีของบริษัท NatureWorks ที่จังหวัดนครสวรรค์ คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ในปี 2567
- โครงการผลิตพลาสติกวิศวกรรมชั้นสูงของบริษัท Kuraray GC Advanced Material (KGC) ที่ GC ร่วมทุนกับบริษัท Kuraray และบริษัท Sumitomo ของประเทศญี่ปุ่น เริ่มดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในไตรมาส 1/66 เพื่อผลิต High Heat Resistant Polyamide-9T (PA-9T) จำนวน 13,000 ตันต่อปี และ Hydrogenated Styrenic Block Copolymer (HSBC) จำนวน 16,000 ตันต่อปี นับเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เพื่อรองรับเมกะเทรนด์โลก
ทั้งนี้ งบลงทุนดังกล่าวยังไม่รวมกับงบที่บริษัทจะใช้ในการเข้าซื้อหรือควบรวมกิจการ (M&A) หากมีโอกาสเข้ามา และไม่รวมงบลงทุนของ Allnex
ปัจจุบันบริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาลงทุนในโครงการเม็ดพลาสติกรีไซเคิลในสหรัฐฯ และโครงการท่าเรือขนส่งก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ โดยพิจารณาทั้งในรูปแบบการซื้อกิจการ (M&A) หรือลงทุนสร้างโรงงานใหม่ ซึ่งเป็นรูปแบบของโครงการที่ให้ผลตอบแทนการลงทุนที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากรัฐบาลของสหรัฐฯ มีการให้สิทธิประโยชน์จูงใจให้เกิดการลงทุน ทั้งนี้ คาดว่าจะได้ข้อสรุปความชัดเจนของรูปแบบการลงทุนในโครงการดังกล่าวได้ภายในปีนี้
“บริษัทไม่ประมาท ยังต้องมีความระมัดระวังในการทำธุรกิจ ในปีที่แล้วเรามีแผน Frame Book เป็นวิธีการทำงานรับมือภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ Recession ไว้ล่วงหน้าในสถานการณ์เศรษฐกิจที่มีความผันผวน ซึ่งก็ได้มีการนำมาใช้เร็วกว่าที่คิดไว้ ทั้งแผนการลดค่าใช้จ่ายและลดต้นทุนต่างๆ รวมถึงการมีเงินสดเก็บไว้เป็นเรื่องที่ดี ส่วนปีนี้ก็จะยังใช้แผน Frame Book ต่อเนื่อง แม้ภาพรวมดูดีขึ้นหลังจีนเริ่มเปิดประเทศ ส่วนในประเทศเราคงไม่มีการลงทุนโรงกลั่นหรือโรงโอเลฟินส์ใหญ่ๆ แต่จะเน้นลงทุนในธุรกิจที่เข้าไปให้บริการใกล้กับลูกค้าที่มีการแข่งขันต่ำ ส่วนการลงทุนในต่างประเทศก็จะดูโอกาสการลงทุนในธุรกิจรีไซเคิลพลาสติก” คงกระพันกล่าว
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบริษัทมีการทำ M&A แล้วมีธุรกิจอื่นที่ติดมาด้วย ซึ่งธุรกิจใดไม่ใช่ Core Business ของบริษัท จะมีการปรับพอร์ตทั้งการขายออกและลดสัดส่วนการถือหุ้นลงด้วย แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ เพื่อจะได้หันไปโฟกัสได้ในธุรกิจที่ดีเป็น Core Business
PTTGC ยังตั้งเป้าหมายกำไรก่อนภาษี ค่าเสื่อม และดอกเบี้ยจ่าย (EBITDA) ระหว่างปี 2566-2573 จะเติบโตเฉลี่ยต่อปี 4% จากแผนที่มีการขยายการลงทุนอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งเดินหน้าปรับสัดส่วนพอร์ตธุรกิจ โดยจะมุ่งสู่ธุรกิจที่มีการปล่อยคาร์บอนต่ำผ่านการลงทุนในธุรกิจกลุ่ม High Value Business (HVB) และธุรกิจที่สอดคล้องกับหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน พร้อมแสวงหาโอกาสในการสร้าง Synergy (Leverage Synergy) ให้เกิดมูลค่าสูงสุดจากธุรกิจ ตลาด และเทคโนโลยี เช่น Allnex ที่ PTTGC ได้เข้าซื้อกิจการ ซึ่งมีความสามารถในการทำกำไรระดับสูง และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคภายใต้เมกะเทรนด์
โดยมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่ม หรือ HVP เพิ่มเป็น 56% ในปี 2573 จากปีก่อน 36%, ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพและผลิตภัณฑ์เพื่อความยั่งยืน ตั้งเป้าเพิ่มเป็น 1 ล้านตัน และกำลังการผลิต Recycling เป็น 75,000 ตันในปี 2568 ส่วนผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ชนิดพิเศษตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วน Performance Chemical เป็น 35% ของ EBITDA รวมภายในปี 2573 จากปัจจุบันอยู่ที่ 22%
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- หุ้นอิเล็กทรอนิกส์ นำตลาดผันผวน หลัง IMF มองว่าความเสี่ยง Recession น้อยลง
- ตลท. ขยายกรอบ ‘Ceiling & Floor’ ใหม่ให้สอดคล้องกับตลาดหุ้นนอก พร้อมประกาศเพิ่มเครื่องหมาย P เตือนหุ้นที่ซื้อขายผิดปกติ เริ่มมีผลใช้ใน 1Q66
- ย้อนรอย ‘ออลล์ อินสไปร์’ ก่อนเบี้ยวดอกเบี้ยหุ้นกู้ ฟากผู้บริหารชิงขายหุ้น ก่อนราคาดิ่ง 90% จากจุดสูงสุด