×

‘ปตท.สผ.’ เผยกำไร 4Q65 ดีกว่าคาดที่ 1.56 หมื่นล้านบาท พร้อมเสนอจ่ายปันผลครึ่งหลังอีก 5 บาทต่อหุ้น

30.01.2023
  • LOADING...

บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP รายงานกำไรสุทธิไตรมาส 4 จำนวน 15,610 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 47% จากปีก่อน แต่ลดลง 35% จากไตรมาสก่อน โดยมีปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ย 468,130 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 12% ส่วนใหญ่มาจากโครงการต่างประเทศ พร้อมทั้งอนุมัติเสนอจ่ายเงินปันผลที่ 9.25 บาทต่อหุ้น 

 

กำไรของบริษัทในไตรมาส 4 ออกมาดีกว่าที่นักวิเคราะห์หลายรายประเมินไว้ว่าน่าจะทำได้ราว 10,000-13,000 ล้านบาท โดยราคาขายเฉลี่ยตลอดทั้งปี 2565 อยู่ที่ 53.39 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เทียบกับปีก่อนที่ 43.49 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยราคาน้ำมันดิบและ Condensate เฉลี่ยอยู่ที่ 94.89 ดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 66.70 ดอลลาร์ ส่วนราคาก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยอยู่ที่ 6.27 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 5.69 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู 

 

ส่วนแผนงานหลักในปี 2566 บริษัทจะเร่งเพิ่มอัตราการผลิตก๊าซธรรมชาติในโครงการจี 1/61 เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อต้นทุนทางพลังงานให้กับประชาชน นอกจากนี้ บริษัทยังสามารถลดก๊าซเรือนกระจกสะสมได้กว่า 3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า 

 

มนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร PTTEP เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของบริษัทในปีนี้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยสามารถรักษาระดับต้นทุนต่อหน่วย (Unit Cost) ที่ 28.36 ดอลลาร์ และมีปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ย 468,130 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 12% จาก 416,141 บาร์เรลต่อวัน เมื่อปี 2564 หนุนจากโครงการต่างประเทศ เช่น โอมาน แปลง 61 และโครงการมาเลเซีย-แปลงเอช รวมทั้งโครงการในประเทศ ได้แก่ โครงการจี 1/61 ด้วย 

 

ขณะที่ราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยในปี 2565 ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ส่งผลให้ในปี 2565 บริษัทมีรายได้รวม 9,660 ล้านดอลลาร์ หรือ 339,902 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% จากปี 2564 และมีกำไรสุทธิ 1,999 ล้านดอลลาร์ หรือ 70,901 ล้านบาท 

 

จากผลประกอบการดังกล่าว คณะกรรมการบริษัทอนุมัติเสนอจ่ายเงินปันผลสำหรับปี 2565 ที่ 9.25 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้ บริษัทจ่ายสำหรับงวด 6 เดือนแรก ในอัตรา 4.25 บาทต่อหุ้น เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2565 ส่วนที่เหลืออีก 5 บาทต่อหุ้น จะกำหนดวันให้สิทธิผู้ถือหุ้น (Record Date) เพื่อรับสิทธิในการรับเงินปันผลวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2566 และจะจ่ายในวันที่ 24 เมษายน 2566 ภายหลังได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี 2566 

 

สำหรับปี 2566 บริษัทได้ตั้งงบประมาณการลงทุน จำนวน 5,481 ล้านดอลลาร์ หรือ 191,818 ล้านบาท เพื่อรองรับแผนการดำเนินงานต่างๆ ได้แก่ 

 

  1. การเพิ่มปริมาณการผลิตปิโตรเลียมจากโครงการผลิตหลักที่สำคัญ ได้แก่ โครงการจี 1/61 โครงการจี 2/61 โครงการอาทิตย์ โครงการคอนแทร็ค 4 โครงการเอส 1 และโครงการผลิตในประเทศมาเลเซีย 

 

  1. การเร่งผลักดันโครงการหลักที่อยู่ในระหว่างการพัฒนา ได้แก่ แหล่งลัง เลอบาห์ ในโครงการมาเลเซีย เอสเค 410 บี และโครงการโมซัมบิก แอเรีย 1 รวมถึงการเร่งการสำรวจในโครงการต่างๆ ในประเทศไทย มาเลเซีย และโอมาน 

 

นอกจากนี้ บริษัทได้สำรองงบประมาณ จำนวน 4,800 ล้านดอลลาร์ หรือ 166,052 ล้านบาท สำหรับช่วง 5 ปี (2566-2570) เพื่อขยายการลงทุนในธุรกิจใหม่ รองรับการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน โดยขณะนี้ บริษัทอยู่ในระหว่างการศึกษาและพัฒนาธุรกิจใหม่ต่างๆ เช่น ธุรกิจไฟฟ้า ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ธุรกิจ CCS ธุรกิจการดักจับคาร์บอนและการใช้ประโยชน์ (Carbon Capture and Utilization หรือ CCU) ธุรกิจไฮโดรเจนสะอาด รวมทั้งการต่อยอดเทคโนโลยีที่บริษัทกำลังพัฒนาอยู่ไปสู่ธุรกิจเชิงพาณิชย์

 

บริษัทกำลังเร่งเพิ่มปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติในโครงการจี 1/61 ซึ่งในปีที่ผ่านมา ได้เสร็จสิ้นการติดตั้งแท่นหลุมผลิต (Wellhead Platform) จำนวน 8 แท่น เป็นที่เรียบร้อย และในปีนี้จะติดตั้งแท่นหลุมผลิตเพิ่มอีก 4 แท่น วางท่อใต้ทะเล และเตรียมแท่นขุดเจาะ (Rig) 6 แท่น เพื่อเร่งเจาะหลุมผลิตเพิ่มเติมอีก 273 หลุม ซึ่งคาดว่าจะสามารถผลิตก๊าซฯ เพิ่มขึ้นเป็น 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงกลางปีนี้ และเพิ่มเป็น 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในช่วงปลายปี โดยคาดว่าในเดือนเมษายน 2567 อัตราการผลิตก๊าซฯ จะขึ้นมาอยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในขณะเดียวกัน ปตท.สผ. ได้เพิ่มอัตราการผลิตก๊าซฯ จากทุกโครงการของ ปตท.สผ. ในอ่าวไทย ได้แก่ โครงการบงกช โครงการจี 2/61 โครงการอาทิตย์ และโครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย เพื่อช่วยบรรเทาผลกระทบต่อต้นทุนทางพลังงานให้กับประชาชน

 

ขณะเดียวกัน บริษัทกำลังมองหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจใหม่ รองรับการเปลี่ยนผ่านของธุรกิจพลังงานเพื่อสร้างการเติบโตในอนาคต ควบคู่ไปกับการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อเป้าหมายการเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ เช่น การลงทุนในธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน พลังงานรูปแบบใหม่ และนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยได้จัดตั้งบริษัทย่อยต่างๆ เพื่อรองรับการลงทุนดังกล่าว เช่น บริษัท เอ็กซ์พลอร์ เวนเจอร์ส (Xplor Ventures) ในรูปแบบ Corporate Venture Capital (CVC) เพื่อลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นต้น

 

สำหรับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 (Net Zero Greenhouse Gas Emissions by 2050) เพื่อก้าวสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำ ตลอดทั้งปี 2565 บริษัทสามารถลดก๊าซเรือนกระจกสะสมได้กว่า 3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าจากปีฐาน 2555 และอยู่ระหว่างพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage หรือ CCS) ที่โครงการอาทิตย์ คาดว่าจะตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้ายได้ปลายปี 2566 

 

บริษัทมีแผนจะเริ่มใช้เทคโนโลยี CCS เป็นครั้งแรกในประเทศไทยได้ในปี 2569 ซึ่งจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 700,000-1,000,000 ล้านตันต่อปี


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X