×

ปตท. พลิกขาดทุน 1,554 ล้าน จากที่เคยได้กำไรเกือบ 3 หมื่นล้าน ผลจากการขาดทุนสต๊อกน้ำมัน

11.05.2020
  • LOADING...

วันนี้ (11 พฤษภาคม) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานผลประกอบการไตรมาส 1 ประจำปี 2563 ต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยไตรมาสนี้มียอดขายทั้งสิ้น 483,567 ล้านบาท ลดลง 12.2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2562 ซึ่งมีรายได้ 550,874 ล้านบาท และมี EBITDA ลดลง 48,138 ล้านบาท หรือ 59.8%

 

สาเหตุหลักจากกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่นที่มีการขาดทุนจากสต๊อกน้ำมันในไตรมาสนี้ตามราคาน้ำมันดิบที่ปรับลดลงอย่างมาก โดยกำไรขั้นต้นจากการกลั่นซึ่งไม่รวมผลกระทบจากสต๊อกน้ำมัน Market GRM ปรับลดลงตามส่วนต่างราคาน้ำมันอากาศยาน น้ำมันดีเซล และน้ำมันเตาที่มีกำมะถันสูงกับน้ำมันดิบที่ลดลง 

 

อีกทั้งส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีทั้งสายโอเลฟินส์และอะโรเมติกส์ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง นอกจากนี้กลุ่มธุรกิจก๊าซธรรมชาติมีผลการดำนินงานลดลง โดยหลักจากธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ เนื่องจากราคาขายและปริมาณขายที่ลดลง และธุรกิจจัดหาและจัดจำหน่ายก๊าซฯ เนื่องจากราคาขายอ้างอิงราคาน้ำมันเตาที่ลดลง 

 

สำหรับกลุ่มธุรกิจน้ำมันมีผลการดำเนินงานลดลงจากการขาดทุนสต๊อกน้ำมันที่เพิ่มขึ้นและปริมาณขายที่ลดลงจากผลกระทบของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานของกลุ่มเทคโนโลยีและวิศวกรรมปรับตัวดีขึ้นจากการเข้าซื้อ บมจ.โกลว์ พลังงาน (GLOW) ของ บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ในเดือนมีนาคม 2562 

 

ในขณะเดียวกัน ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมมีผลการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากรายได้ขายที่เพิ่มขึ้น โดยหลักจากโครงการมาเลเซียและกลุ่มพาร์เท็กซ์ (Partex) นอกจากนี้มีผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนจากเงินกู้สกุลต่างประเทศและค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ที่เพิ่มขึ้นตามค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่ามีกำไรจากตราสารอนุพันธ์เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ ปตท. และบริษัทย่อยมีขาดทุนสุทธิ 1,554 ล้านบาท ซึ่งในไตรมาส 1 ปี 2562 มีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 29,312 ล้านบาท

 

ปตท. ระบุว่าด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 และสงครามราคาน้ำมัน ได้ส่งผลกระทบต่อทุกภาคอุตสาหกรรม รวมถึงอุตสาหกรรมพลังงานและผลการดำเนินงานของกลุ่ม ปตท. เช่นกัน อย่างไรก็ตาม กลุ่ม ปตท. ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และมีการบริหารจัดการและออกมาตรการต่างๆ โดยการจัดตั้ง PTT Group Vital Center เพื่อวางแผนทั้งระยะสั้นและระยะยาว 

 

โดยมีมาตรการระยะสั้น ได้แก่ การบริหารจัดการค่าใช้จ่ายผ่านนโยบาย ‘ลด-ละ-เลื่อน’ ซึ่งในไตรมาสแรก กลุ่ม ปตท. สามารถลดค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในส่วนนี้จากไตรมาส 4 ปี 2562 ประมาณ 3,600 ล้านบาท ความร่วมมือในการทำ PTT Group Optimization เพื่อบริหารอุปสงค์ อุปทาน และปริมาณสินค้าคงคลังให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งการบริหารสภาพคล่องและรักษาความแข็งแกร่งทางด้านการเงินของกลุ่ม ปตท.

 

ห้ามพลาด! ฟอรัมที่เจาะลึก New Normal ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทยจากวิทยากรระดับประเทศ 40 คน ซื้อบัตรงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM ที่ https://www.eventpop.me/e/8705-economic-forum

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X